×

หนี้ครัวเรือนไทย ปี 2563 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มปีนี้ส่อแตะ 91% ต่อ GDP

01.04.2021
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือนไทย ปี 2563 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มปีนี้ส่อแตะ 91% ต่อ GDP

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นปี 2563 พบว่ามีมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 14.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ​ที่ 89.3% 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดบ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมาด้วยภาพของระดับหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของ ธปท. 

 

โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับ GDP ในปี 2563 อย่างไรก็ดี หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี สะท้อนว่าทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโควิด-19

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันระหว่างผู้กู้สองกลุ่ม 

 

โดยกลุ่มแรกเป็นการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากสถานการณ์โควิด-19

 

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะหนี้สินและเงินออมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ภาระหนี้สินและเงินออมของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจและผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ถดถอยลงมากจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 โดย ‘ภาระหนี้’ หรือ Debt Service Ratio (DSR) ของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ 44.1% ของรายได้ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 

 

ส่วน DSR ของผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้อยู่ที่ 43.8% ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจรอบนี้ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ของรายได้ต่อเดือน ขณะที่ข้อมูลในฝั่งการออมของภาคครัวเรือนก็สะท้อนว่า ระดับการออมของครัวเรือนทุกกลุ่มลดต่ำลงจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

 

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อ GDP ในปี 2564 เทียบกับระดับ 89.3% ต่อ GDP ในปี 2563  ซึ่งตอกย้ำว่าทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยอาจกลับมาสานต่อมาตรการดูแลให้การก่อหนี้ของครัวเรือนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability) 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X