×

แต่งชุดไหนเข้าสภาฯ ทำไมต้องกลายเป็นประเด็น ย้อนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายถูกระเบียบและที่ถูกทำให้เป็นอื่นในสังคมไทย

10.07.2019
  • LOADING...
แต่งตัวเข้าสภาฯ

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะกลุ่มคนไทย จีน มลายู ลาว โยน ญวน ไต รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งกะเหรี่ยง อาข่า มูเซอ ม้ง อิวเมี่ยน ปะหล่อง และอีกมากมาย 

 

อัตลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งที่สะท้อนถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในสังคมไทยมีหลายอย่าง ไม่ว่าเรื่องภาษา วัฒนธรรม การกิน การอยู่ แต่สิ่งที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุดอย่างหนึ่ง และสามารถสะท้อนตัวตนของความหลากหลายเหล่านี้ได้คือ เรื่องอัตลักษณ์การแต่งกาย ไม่ว่าจะเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับตกแต่งร่างกายต่างๆ 

 

แต่คำถามคือ ทำไมสังคมไทยในปัจจุบันถึงไม่นิยมแต่งกายด้วยชุดไทยหรือชุดชาติพันธุ์ต่างๆ การแต่งกายที่สะท้อนความหลากหลายในลักษณะเช่นนี้ได้รับการยอมรับอย่างไร ด้วยเงื่อนไขใด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

สยามหรือไทยเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมาช้านาน แต่ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดของชนชั้นนำไทยเป็นอย่างมากคือ การเข้ามาของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ 4 

 

การเข้ามาของอิทธิพลตะวันตกไม่ได้มาเพียงแต่เรื่องของต้องการยึดครองดินแดนล่าอาณานิคมเท่านั้น ชาวตะวันตกยังได้พกวิธีคิดทางวัฒนธรรมและแนวคิดเรื่องรัฐสมัยใหม่เข้ามาในพื้นที่ดินแดนอุษาคเนย์ด้วย และสยามก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าว

 

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น วิธีคิดทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวตะวันตกนำเข้ามาในดินแดนแถบอุษาคเนย์ด้วยคือ เรื่องของความศิวิไลซ์และความเถื่อน ชาวตะวันตกมองประเทศในดินแดนแถบนี้และสยามว่าเป็นดินแดนคนเถื่อน ไร้อารยะ และไม่มีความศิวิไลซ์ ไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม ทั้งสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ระบบราชการ การกิน การอยู่ ความสะอาด และสุขอนามัย ฯลฯ

 

แน่นอน เมื่อถูกมองด้วยมุมมองเช่นนี้จากชาวตะวันตก จึงกลายเป็นปัญหาของกลุ่มชนชั้นนำของสยามที่ไม่ยอมถูกมองว่าเป็นพวกคนเถื่อนหรือไร้อารยะเช่นที่ฝรั่งตะวันตกมอง ชนชั้นนำสยามจึงจำเป็นต้องพยายามแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความศิวิไลซ์’ 

 

เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ในหลายๆ ด้านให้กับภาพลักษณ์ของตนเองและชาติ ไม่ว่าจะในแง่ของการปฏิรูปศาสนาจากที่ถูกชาวตะวันตกมองว่างมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จนเกิดธรรมยุตินิกายขึ้นมา มีการใช้ความรู้ดาราศาสตร์ในการคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคา มีการสร้างประวัติศาสตร์ชุดใหม่โดยการใช้หลักแบบวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เพื่อบอกกับฝรั่งว่า ชาติของฉันนั้นเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และมีอารยะมานานตั้งแต่ยุคสุโขทัย มีการพยายามให้ชนชั้นนำสยามเรียนรู้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะตัวรัชกาลที่ 4 เอง ก็ทรงเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นพระภิกษุ มีการว่าจ้างแหม่มชาวตะวันตก แอนนา ลีโอโนเวนส์ ให้มาสอนภาษาอังกฤษกับคนในราชสำนัก 

 

นอกจากการแสวงหาความศิวิไลซ์ในแง่ที่กล่าวมาแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องการแต่งกาย รัชกาลที่ 4 ก็มีการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการเข้าเฝ้าใหม่ โดยกำหนดให้ข้าราชบริพารที่จะเข้าเฝ้าต้องสวมเสื้อในการเข้าเฝ้า

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำเนียบเรื่องการแต่งกายของชนชั้นนำสยามมีการปรับเปลี่ยนอยู่ไม่น้อย รัชกาลที่ 5 ทรงรับอิทธิพลของตะวันตกมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับการแต่งกายของตนเองและกลุ่มชนชั้นนำสยาม 

 

รัชกาลที่ 5 น่าจะถือว่าเป็นกษัตริย์กรุงสยามคนแรกๆ ที่ทรงแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตกบ่อยครั้งที่สุด รวมถึงกำหนดให้สตรีในราชสำนักเปลี่ยนจากการตัดผมสั้นมาไว้ผมยาว แม้ตอนนั้นธรรมเนียมดังกล่าวจะยังเป็นที่ขัดใจกลุ่มสตรีในราชสำนักก็ตาม แต่บุคคลแรกที่ถือว่าเป็นผู้ปรับเปลี่ยนทรงผมดังพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 คือ เจ้าจอมมารดาแพ หรือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ชนชั้นนำสตรีสยามยังมีการรับอิทธิพลการสวมเสื้อตะวันตกมาด้วยเช่นกัน คือเสื้อที่เรียกว่า ‘เสื้อแขนหมูแฮม’ โดยเป็นการคัดสรรองค์ประกอบและวัตถุดิบนำเข้าจากตะวันตกมาปรับประยุกต์กับการแต่งกายแบบไทย จนกลายเป็นรสนิยมของชนชั้นสูงในเวลานั้น คือต้องสวมเสื้อแขนหมูแฮมร่วมกับการนุ่งโจงกระเบน อันเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ได้รับอิทธิพลจากราชสำนักเขมร 

 

นอกจากเรื่องวัฒนธรรมและรสนิยมการแต่งกายของสตรีชนชั้นนำสยามที่รับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นกระแสนิยมของชนชั้นนำสตรีสยามอย่างมากก็คือ การอ่านหนังสือแฟชั่นของชาวตะวันตก กล่าวได้เลยว่าในยุคนั้นหากใครไม่ได้อ่านหนังสือแฟชั่นตะวันตกจะถือว่าเชยมาก ไม่ตามแฟนชั่นสมัยนิยม

 

นอกจากเรื่องของแฟชั่นการแต่งกายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรับเอาแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่เข้ามา และแนวคิดเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัชกาลที่ 6 ทรงรับมาจากประเทศอังกฤษ หลังจากทรงได้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษอยู่หลายปี 

 

การรับแนวคิดดังกล่าวนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสยามที่พยายามจะขีดเส้นเขตแดน และเกิดสิ่งที่เรียกว่า แผนที่สมัยใหม่ของสยามเกิดขึ้น ในแง่ของอำนาจ เมื่อสำนึกเรื่องชาติเกิดขึ้น ชนชั้นนำสยามจึงพยายามจะควบคุมอำนาจท้องถิ่นในพื้นที่ที่อยู่ภายในเส้นเขตแดนของสยามเข้าสู่ศูนย์กลาง พยายามผลักดันแนวคิดเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้กลายเป็นสำนึกหลังของคนในพื้นที่ห่างจากศูนย์กลางออกไป และแนวคิดนี้เองจึงเป็นส่วนหนึ่งสำคัญในการพยายามสลายความเป็นอื่น และปฏิเสธความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม โดยพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมไทย’ ขึ้นมา 

 

และแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ก็ยังคงสืบต่อมาจนถึงหลังสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังนั้นวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เป็นของกลุ่มคนอื่นๆ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในสังคมไทยจะต้องมีศูนย์กลางอยู่ที่ความเป็นไทยเท่านั้น ดังนั้นการแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม รวมถึงการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้มีศูนย์กลางอยู่ที่ความเป็นไทยแทบทั้งสิ้น เช่น ไทยใหญ่ ไทยภูเขา ไทยอีสาน ไทยมลายู เป็นต้น กล่าวได้ว่าความหลากหลายเหล่านี้จะถูกยอมรับได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้ความเป็นไทยเท่านั้น

 

ดังที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐไทยกับการสร้างความเป็นชาติ สิ่งสำคัญหนึ่งคือ การแสวงหาสภาวะที่เรียกว่า ‘ความศิวิไลซ์’ และความศิวิไลซ์ในวิธีคิดของชนชั้นนำสยามก็มีศูนย์กลางอยู่ที่การหยิบยืมวัฒนธรรมของชาติตะวันตกมานั่นเอง เพื่อสร้างความเป็นอารยะให้กับตนเองและนำเสนอตัวตนต่อสายตาชาวโลก 

 

เสื้อผ้าหน้าผมและการแต่งกายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อแสดงความเป็นอารยะของชาติ ยิ่งเมื่อเกิดแนวคิดเรื่องชาตินิยมขึ้น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมถูกลดทอนและถูกปฏิเสธไป เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ความเป็นไทย 

 

แม้ในปัจจุบันกระแสความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ความหลากหลายดังกล่าวเหล่านั้นจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อ เป็นความหลากหลายที่อยู่ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นไทยเท่านั้น

 

แน่นอนว่าเรือนร่าง การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม อันเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นรูปธรรม จึงถูกบ่งบอกถึงการถูกกำหนดขึ้น เพื่อตอบสนองแนวคิดดังกล่าว จนกลายเป็นสำนึกความเป็นวัฒนธรรมของชาติและความเป็นไทย (แบบฝรั่ง) เบียดขับความหลากหลายอีกจำนวนมากให้กลายเป็นอื่น ดังนั้นความเป็นอารยะ กาละ และเทศะ รวมถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการแต่งกาย จึงอยู่ภายใต้วิธีคิดของคนชั้นนำส่วนใหญ่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกและ วัฒนธรรมของชาติเป็นสำคัญ 

 

ดังนั้นการแต่งกายแบบไทย แบบกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแบบวัฒนธรรมอื่นๆ จึงถือเป็นเรื่องที่จะได้รับการยอมรับเพียงในพื้นที่ที่รัฐและชนชั้นนำอนุญาตเท่านั้น 

 

นอกเหนือจากนั้น แม้จะเรียบร้อย สง่างาม ก็ไม่ถูกมองว่าเป็นความเหมาะสม เพราะรัฐและวิธีคิดที่ได้รับการปลูกฝังมา ไม่อนุญาตให้สิ่งเหล่านั้นเป็นความเหมาะสม ดังนั้นสูท กระโปรง หรือเนกไท จึงมีความเหมาะสมมากกว่าการแต่งผ้าไทย ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าในวัฒนธรรมอื่นๆ ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดด้วยอำนาจของชนชั้นนำ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • ธงชัย วินิจกุล, คนไทย/คนอื่น ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย, กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2560.
  • Papassara Nutsatabhorn, เสื้อแขนหมูแฮมมาจากไหน, คอลัมน์ Fashion, VogueThailand ที่มา www.vogue.co.th/fashion/article/wheregigotsleevecomes 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X