วันนี้ (18 ก.ย.) ที่รัฐสภาเกียกกาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรณีเปิดอภิปรายทั่วไปในประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ และการไม่ระบุที่มารายได้ในการจัดทำนโยบาย
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงประเด็นการชี้แจงแหล่งที่มาของการจัดทำนโยบายของรัฐบาล โดยขอให้สมาชิกไปศึกษากฎหมายอีก 2 ฉบับนอกจากรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ 2561 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น เช่น การยกเว้นลดภาษีต้องคำนึงถึงประมาณการรายได้ที่ลดลงซึ่งรัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่อง, สัดส่วนงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น 2-3.5% ของงบประมาณ, สัดส่วนงบลงทุนไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งรัฐบาลทำได้ตามนั้นแต่ก่อนหน้านี้ทำได้ไม่ถึง รวมถึงสัดส่วนงบประมาณชำระเงินกู้ สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพัน การบริหารหนี้สาธารณะต้องน้อยกว่า 60% ของ GDP
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้คือควบคุมการตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่ให้เกินความจำเป็น ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองก่อหนี้ผูกพัน
ส่วนประเด็นที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายซึ่งแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคมนั้น ได้แถลงนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน โดยระบุไว้ในคำแถลงนโยบายหน้า 33-34 แล้วว่า รัฐบาลได้กำหนดแหล่งที่มารายได้ในการดำเนินนโยบาย ได้แก่ งบประมาณรายจ่ายประจำปี, เงินนอกงบประมาณการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือ PPP รวมถึงเครื่องมือการเงินสมัยใหม่ หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม การแถลงนโยบายในวันดังกล่าวรัฐบาลไม่อาจจะระบุได้ว่าจะนำรายได้ประเภทใดหรือภาษีประเภทใดไปใช้กับนโยบายเรื่องใดเป็นการเฉพาะได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากระบบเงินคงคลังตามกฎหมายซึ่งกำหนดให้รายรับของรัฐบาลทั้งหมดจะต้องถูกส่งเข้าเงินคงคลังแผ่นดินก่อนจะจัดงบประมาณเพื่อทำตามนโยบายต่างๆ
สำหรับนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ถึงแม้จะมีการหาเสียงอย่างไร แต่เมื่อเป็นรัฐบาลต้องดูรายละเอียดว่าเป็นไปได้อย่างไร ตนให้ทุกพรรคไปรวบรวมมาเป็นกรอบในวงเงิน พบว่าถ้าใช้งบประมาณตามที่หาเสียงมา ต้องใช้เงินกว่า 6 ล้านล้านบาท ตนจึงจัดรวมงบนโยบายของทุกพรรคทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมาจัดใส่กล่อง 12 นโยบายพื้นฐาน และ 12 นโยบายเร่งด่วน ส่วนรายละเอียดว่างบประมาณส่วนใดจะไปตรงไหนจะอยู่ใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
“รัฐบาลก่อนหน้านี้กำหนดไว้อันเดียวผมดูมาหมดแล้ว มีอันเดียวคือนโยบายจำนำข้าว 15,000 บาท แล้วเป็นอย่างไรครับ ระบุไปแล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง ท่านอย่าลืมตรงนี้นะครับ ผมไม่ไปกล่าวว่าใครทั้งนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เหมือนปี 2540 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูงขอให้ไปดูในรายละเอียดว่าเป็นประเภทไหน แต่ก่อนไม่มีหนี้ครัวเรือนเพราะกู้เงินไปทำธุรกิจ เพราะหนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำคือ 6.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยวันนี้อยากให้เชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศบ้าง ถ้าท่านไม่เชื่อมั่นกันเองแล้วใครจะเชื่อ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า