×

วิษณุ แจงปมถวายสัตย์ปฏิญาณแทนนายกฯ ยืนยันทำตามธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนนายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีต

18.09.2019
  • LOADING...

18 กันยายน ที่อาคารรัฐสภาใหม่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวชี้แจงการอภิปรายว่า ญัตติที่มีการอภิปรายวันนี้ เป็นหลักการใหม่ที่เพิ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มีการอภิปรายโดยไม่ลงมติเป็นครั้งแรก ซึ่งมีเจตนารมณ์ต้องการให้ ส.ส. สอบถามและเสนอแนะในเชิงปรึกษาหารือกันมากกว่าการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งประเด็นหลักในวันนี้ที่มีการอภิปรายกันเป็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 36 คน และก็จำเป็นต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่บัญญัติไว้ว่าต้องมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยกระทำต่อหน้าพระพักตร์ ข้าราชการราชสำนักชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สื่อข่าวสายพระราชสำนัก

 

วิษณุอธิบายว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนด้วยการหยิบบัตรแข็งออกมาจากกระเป๋าเสื้อ เป็นเช่นเดียวกับที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมให้นายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีตไม่มีการสลับสับเปลี่ยน ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวแต่ละท่อน คณะรัฐมนตรีทุกคนก็จะกล่าวตามไปทีละท่อนจนจบ แต่ยืนยันว่าไม่ทราบสาเหตุที่มีการอ่านไปเพียงเท่านั้นว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่หากจะขยายความคือการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ และเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ระบุว่า มาตรา 161 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการยืนยันต่อองค์ผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณนั้น สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่า “ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์”

 

ส่วนการกล่าวไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ วิษณุกล่าวว่า การที่พูดคุยกันวันนี้เป็นประเด็นเรื่องการ ‘ถวายสัตย์ปฏิญาณ’ ซึ่งต่างไปจากการ ‘ปฏิญาณตน’ โดยการปฏิญาณตน ส.ส. ส.ว. หรือผู้สำเร็จราชการต้องทำในที่ประชุมสภา แต่การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นการกระทำต่อหน้าพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีผู้ถวายสัตย์และมีผู้รับการถวายสัตย์คือพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำโดยบุคคล 4 ประเภทเท่านั้นคือ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ

 

วิษณุบอกว่า กระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เป็นไปโดยเปิดเผยไม่ได้เป็นความลับและในเวลาต่อมาก็มีการพระราชทานพระราชดํารัสเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า “ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจแก่ท่าน ให้ท่านมีความมั่นใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ และขอให้เข้าทำหน้าที่ รับหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความว่ารัฐบาลได้เข้าทำหน้าที่แล้ว เหมือนกับทุกรัฐบาลที่เข้าปฏิบัติหน้าที่และบริหารราชการแผ่นดิน

 

จากนั้น นิยม เวชกามา ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง ย้ำคำถามในญัตติถึงสาเหตุว่าทำไมจึงกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ โดยวิษณุก็ชี้แจงว่าจะไม่เกิดข้อกังวลและปัญหาใดๆ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลที่ไม่รับคำร้องโดยชี้ว่าเป็นเรื่องในทางการเมือง และอ้างอิงว่าคณะรัฐมนตรีได้รับพระราชทานราชหัตถ์ ศาลรัฐธรรมนูญจึงบอกว่ากรณีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

 

ส่วนปัญหาเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม วิษณุบอกว่า หากมีการละเมิดก็เป็นเรื่องที่ตรวจสอบกันได้ สามารถส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดย ป.ป.ช. จะไปร้องต่อศาลฎีกา หากชี้มูลว่าละเมิดต่อมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้หนักใจเรื่องนี้ และทุกอย่างก็สามารถดำเนินการไปตามปกติได้ รัฐบาลก็จะก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานตามที่ถวายสัตย์ปฏิญาณ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising