วันนี้ (7 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย จาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า การจัดทำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ เป็นข้อเสนอในเชิงภาพรวม เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นเฉพาะเรื่องหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า
อย่างไรก็ตาม กรณีความรุนแรงล่าสุดนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ และประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ กังวลในความปลอดภัยและทรัพย์สิน ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศก็มีความกังวลว่า ความไม่สงบหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตจะกลับมาหรือลุกลามบานปลาย
โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการหารือกัน เพื่อแสดงความคิดเห็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดการตั้งสติ เพื่อให้สังคมไทยช่วยกันคิดหาทางออกจากปัญหา และคุ้มครองให้ความปลอดภัยต่อประชาชน รวมถึงมีการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุด และสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ตลอดจนกระบวนการซึ่งพยายามทำให้เกิดความร่วมมือกับทุกฝ่ายทุกภาคส่วนเพื่อพูดคุยสันติภาพ และทราบว่าฝ่ายรัฐบาลขณะนี้ มีความคิดนโยบายที่จะดำเนินการพูดคุยด้วย
จาตุรนต์ย้ำว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการเริ่มอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปี 2556 และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน เพียงการมีการหยุดชะงักในการตั้งคณะพูดคุย เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง ต้องมีการตั้งคณะตามระเบียบบริหารราชการของรัฐบาลใหม่
ดังนั้น เราอยากให้สังคมเกิดความเข้าใจว่า ปัญหาความขัดแย้ง ความไม่สงบในชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน สะสมมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งหลายฝ่ายกำลังพูดถึงการทบทวนว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เป็นเพราะเหตุใด ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เราจะจัดทำรายงานเพื่อนำข้อเสนอเข้าสู่สภา และส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป
ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการฯ ต่อความรุนแรงระลอกล่าสุดในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมีการสังหารพลเรือน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงพระสงฆ์ในศาสนาพุทธและครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งได้สร้างความสะเทือนใจประชาชนในวงกว้างและทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้อยู่ในภาวะเปราะบางอย่างยิ่ง ประชาชนในพื้นที่ต้องอยู่ในภาวะหวาดระแวง วิตกกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในสภาวะเช่นนี้ การใช้สติและเหตุผลในการเผชิญเหตุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อยุติความรุนแรงและแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธี
คณะกรรมาธิการฯ ขอแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ ดังนี้
- คณะกรรมาธิการฯ ขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกความสูญเสีย เราขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันที เพราะการใช้ความรุนแรงไม่เพียงขัดต่อหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน หลักการทาง มนุษยธรรม แต่ยังบ่อนทำลายกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างรุนแรง
- คณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ต้องมีการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว
ที่สุด และดำเนินการตามหลักนิติธรรมและความโปร่งใส การให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกสู่การคลี่คลายสถานการณ์ ลดความหวาดวิตก ไม่ไว้วางใจกันในพื้นที่
- คณะกรรมาธิการฯ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
- คณะกรรมาธิการฯ ขอสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย
สันติภาพ เพื่อยุติความรุนแรงและสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกันอย่างสันติภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
- คณะกรรมาธิการฯ ตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีความซับซ้อนและต้องการแนวทางการสร้างสันติภาพในหลากหลายมิติ รวมทั้งต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน คณะกรรมาธิการฯ กำลังเร่งจัดทำรายงานที่ครอบคลุมข้อเสนอทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นระบบ เพื่อการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้อย่างยั่งยืน