×

‘ธุรกิจโรงแรม’ ยังโคม่า ต้องการวัคซีนจากรัฐเข้ามาช่วยเหลือด่วน ประเมินอาจมี 30% ปิดตัวถาวร พัทยาคาดมีไปต่อแค่ 10% เท่านั้น

18.01.2021
  • LOADING...
ธุรกิจโรงแรม

เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ ‘อุตสาหกรรมโรงแรมไทย’ ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ในขณะอาการโคม่าของการระบาดรอบแรกยังไม่ทันได้ฟื้นตัว การระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาประมาณ 1 เดือนแล้วมาซ้ำเติมบาดแผลให้กลัดหนองมากขึ้นไปอีก และยังรอวัคซีนจากภาครัฐมาฉีดเพื่อพยุงอาการ

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association: THA) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักคือกลุ่มโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะในโซนภาคใต้ ภูเก็ต สมุย กระบี่ เขาหลัก โรงแรมแถวนั้นไม่ได้เปิดมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว มีเพียง 20-30% เท่านั้นที่ยังสามารถเปิดบริการได้อยู่ 

 

มีการประเมินว่าวันนี้โรงแรมที่ยังสามารถเปิดดำเนินการได้อยู่ประมาณ 60% ของโรงแรมทั้งหมดที่มีในประเทศ จากข้อมูลพบว่ามีโรงแรมที่อยู่ในระบบประมาณ 1.6 หมื่นแห่ง ห้องพัก 7.8 แสนห้อง ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบอีกไม่รู้เท่าไร มีการประเมินว่ารวมๆ แล้วอาจมีกว่า 4 หมื่นแห่งด้วยกัน

 

ที่ผ่านมาแม้รัฐจะพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศจากคนไทย ซึ่งปกติแล้วคิดเป็นรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทำรายได้ให้กับประเทศ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งวันนี้ส่วนนี้หายไปหมดเลย ถึงกระนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 50% ด้วยกัน

 

แม้ภาครัฐจะทำโครงการเราเที่ยวด้วยกันออกมาช่วย ซึ่งจากการคำนวณแล้วโครงการเราเที่ยวด้วยกันมี 6 ล้านสิทธิ์ มีโรงแรมที่ลงทะเบียน 8 พันกว่าแห่ง เฉลี่ยแล้วได้วันละ 1.9 ห้อง เดือนละประมาณ 58 ห้อง ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้โรงแรมนั้นอยู่ได้ แม้หลายแห่งจะปรับลดขนาดลง ปรับตัวกับการท่องเที่ยวแบบใหม่ ซึ่ง Volume จะไม่ได้เยอะเหมือนปี 2562 จนกว่าอีก 2-3 ปีจะกลับมา 

 

ทว่าไม่ใช่โรงแรมทุกแห่งที่จะมีสายป่านยาวที่จะประคองตัวให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ จึงประเมินว่าอาจมีราวโรงแรม 30% ที่ต้องปิดตัวอย่างถาวร ขณะที่โรงแรมบางแห่งตัดสินใจขาย ซึ่งมีนักลงทุนที่พร้อมซื้ออยู่เช่นกันทั้งทุนไทยและต่างชาติ 

 

โดยทุนต่างชาติยืนยันด้วยคำพูดของ ภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ที่ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH เช่นกันว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนจากสิงคโปร์สนใจซื้อกิจการโรงแรมในไทยมูลค่าดีลนี้กว่า 1 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพูดคุย และยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะเป็นทำเลไหน 

 

“จริงๆ เราไม่อยากให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทยคือความหลากหลายของซัพพลาย โดยเฉพาะโรงแรมบางแห่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเพราะมีเจ้าของเป็นคนในพื้นที่เอง แต่กลุ่มนักลงทุนนั้นจะมองคนละแบบกัน” นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าว พร้อมกับเสริมว่า “ตอนนี้รัฐบาลก็พูดแล้ว ในอนาคตอยากให้พึ่งนักท่องเที่ยวคนไทยเป็นหลัก แต่ส่วนตัวมองว่าในอนาคตอันใกล้ไม่อยากให้การอยู่รอดของการท่องเที่ยวให้คนไทยมาช่วย ด้วยอาจจะไม่ใช่ระยะเวลาที่ถูก เพราะว่าเศรษฐกิจถดถอย คนตกงาน คนถูกลดเงินเดือนเยอะแยะ กำลังที่จะไปเที่ยวจึงน้อยลง” 

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association: THA)

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

มาริสาประเมินว่า สถานการณ์ในปีนี้จะหนักกว่าปีที่แล้ว อย่างในปี 2563 ช่วงต้นปียังมีนักท่องเที่ยวอัตตราการเข้าพักอยู่ราว 50% แต่ตอนนี้เหลือ 0 ดังนั้นย่อมหนักกว่าแน่นอน สำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โรงแรมหลายแห่งมีการประมาณว่าการท่องเที่ยวอาจจะกลับมาในช่วงเมษายนซึ่งเป็นช่วงสงกรานต์ โดยตอนนี้นั้นการท่องเที่ยวเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงจากข่าวของวัคซีนที่จะเริ่มมีการฉีดให้กับคนไทยแล้ว

 

อย่างไรก็ตามมาริสาย้ำว่า อุตสาหกรรมโรงแรมยังต้องการความช่วยเหลืออยู่อีกมาก สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือการพยุงการจ้างงาน ซึ่งอย่างให้ภาครัฐเข้ามาช่วยอุดหนุน 50% ของฐานเงินเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมยังสามารถรักษาพนักงานเอาไว้ได้ 

 

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องมองต่อคือ เราอาจจะต้องเตรียมมาตรการรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสำหรับเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะการตรวจโรค เพราะถ้าต้องมากักตัว 14 วัน เชื่อว่าคนไม่มีใครอยากมาแน่นอน

 

ด้าน สรัสนันท์ อัศวชัยโสภณ กรรมการฝ่ายตลาด สมาคมโรงแรมภาคตะวันออก ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในวันนี้คือการพยุงการจ้างงานของพนักงาน

 

เพราะในรอบแรกกลุ่มโรงแรมยังสามารถพยุงตัวเองได้อยู่จากเงินทุนที่สะสมมาในช่วงไฮซีซันที่กินเวลาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม ดังนั้นการระบาดรอบแรกจึงยังรักษาพนักงานไว้ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความช่วยเหลือจากประกันสังคมที่จ่าย 62% ของเงินเดือน 

 

แต่รอบนี้ไม่ใช่ เพราะนอกจากจะไม่สามารถเก็บเงินทุนได้จากฤดูไฮซีซัน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้คึกคักเหมือนเดิม การระบาดรอบนี้ยังไม่มีคำสั่งปิดอย่างเป็นทางการออกมา ทำให้โรงแรมเองไม่สามารถไปยื่นเรื่องขอชดเชยรายได้ 

 

โดยอยากให้รัฐช่วย 50% ของฐานเงินเดือนในระยะเวลา 200 วันต่อจากนี้ รวมไปถึงอยากให้การไฟฟ้าพิจารณาคิดค่าไฟตามจริง รวมไปถึงอยากให้ธนาคารพิจารณาเรื่องสินเชื่อรวมไปถึงการยืดผ่อนจ่ายหนี้ออกไปอีก 1 เดือน

 

“อีกเรื่องที่เรากังวลคือการระจายตัวของเชื้อ เราอยากให้รัฐมีคำสั่งปิดอย่างเป็นทางการเพื่อระงับเชื้ออย่างจริงจัง เพราะถ้าไม่ปิดทุกคนจะเจ็บตัวเหมือนกันหมด วันนี้ยังเปิดอยู่ก็จริงแต่ไม่มีลูกค้าเข้าพักเลย ตัวพนักงานเองก็กังวลเรื่องโรคเช่นเดียวกัน”

 

อย่างไรก็ตามสรัสนันท์ย้ำว่า หากไม่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐเข้ามา ที่สุดแล้วอาจมีโรงแรมในพัทยาเพียง 10% เท่านั้นที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมามีโรงแรมเพียง 40% เท่านั้นที่ยังเปิดได้อยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะมีแขกเข้าพัก ส่วนใหญ่จะคึกคักเพียงวันเสาร์วันเดียว ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย 

 

“ถ้าความช่วยเหลือไม่มาภายในเดือนนี้ เดือนหน้าธุรกิจโรงแรมไม่รอดแน่ๆ” สรัสนันท์กล่าวทิ้งท้าย 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X