×

ร้อนจัด หนาวจัด เพราะอากาศจึงทำอารยธรรมล่มสลายเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว

11.06.2021
  • LOADING...
ร้อนจัด หนาวจัด เพราะอากาศจึงทำอารยธรรมล่มสลายเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • โลกของเรามีช่วงเวลาของการเกิดภูมิอากาศแห้งแล้งมาแล้วหลายหน ใกล้ๆ เราหน่อยก็คงเมื่อ 800 ปีมาแล้ว ที่นำไปสู่การเสื่อมถอยอำนาจลงของอาณาจักรเขมรโบราณ เพราะระบบชลประทานที่มีได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้ และในเวลาเดียวกันนี้พบว่าอารยธรรมอนาซาซีในทวีปอเมริกาก็เสื่อมถอยเช่นกัน
  • สาเหตุที่ชาวอะคีอันส์ยกทัพมารบกับกรุงทรอยนั้น ไม่ใช่เพราะแค่การแย่งชิงเฮเลนกลับไปเท่านั้น แต่เป็นผลมาจากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ทำให้ต้องแย่งชิงทรัพยากรกัน การแย่งชิงเฮเลนก็คือสัญลักษณ์ของการแย่งชิงความอุดมสมบูรณ์บางอย่าง
  • การอพยพเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรมหม้อสามขาลงมาทางใต้ในเขตไทย ที่บางคนเชื่อมโยงกับการอพยพของกลุ่มคนจากจีนตอนใต้ อาจเป็นคนพูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร หรือไท-ไตระลอกแรกๆ นั้น อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด ร้อน และแห้งแล้ง เต็มไปด้วยอุทกภัย 

หน้าฝน แต่อากาศร้อนจัด เป็นอะไรที่วิปริตมาก เมื่อย้อนกลับไปในสมัยผมยังเด็กที่ฝนตกสม่ำเสมอ อยู่บ้านไม้ ไม่ต้องติดแอร์กันเลย เรื่องนี้บางคนอาจโทษมลภาวะจากมนุษย์ที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ความจริงแล้วสภาวะแห้งแล้งจนมนุษย์อยู่ไม่ได้ ถึงขั้นอารยธรรมล่มสลายนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอีก

 

เมื่อราว 4,200 ปีมาแล้ว เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอันสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษย์ เพราะได้เกิดความแห้งแล้งครั้งใหญ่ขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการล่มสลายลงของอารยธรรมทั่วโลก เช่น อาณาจักรเก่าของอียิปต์ จักรวรรดิอักคาเดียนในเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ วัฒนธรรมเหลียงจูในจีน และยังส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของพวกอินโดยูโรเปียน (อารยัน) เข้าสู่อินเดียอีกด้วย 

 

และในความจริงแล้ว โลกของเรามีช่วงเวลาของการเกิดภูมิอากาศแห้งแล้งมาแล้วหลายหน ใกล้ๆ เราหน่อยก็คงเมื่อ 800 ปีมาแล้ว ที่นำไปสู่การเสื่อมถอยอำนาจลงของอาณาจักรเขมรโบราณ เพราะระบบชลประทานที่มีได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้ ในเวลาเดียวกันนี้พบว่าอารยธรรมอนาซาซีในทวีปอเมริกาก็เสื่อมถอยเช่นกัน 

 

แต่การศึกษาภูมิอากาศโบราณแล้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยด้วยนั้น ยังไม่ได้มีการศึกษากันสักเท่าไร แต่เอาเป็นว่าลองมาสำรวจในแหล่งอารยธรรมอื่นๆ ในบทความนี้แล้วกันครับ 

 

อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุไม่ได้ล่มสลายเพราะชาวอารยัน

เมื่อสักปีก่อน ผมได้มีโอกาสไปยังเมืองฮารัปปา ประเทศปากีสถาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งอารยธรรมแรกเริ่มของโลก ช่วงเจริญสูงสุดของเมืองนี้เกิดขึ้นระหว่าง 2,900-1,900 ปีก่อนคริสต์ศักราช สภาพพื้นที่ในปัจจุบันคล้ายกับทะเลทราย แห้งแล้ง อากาศร้อนชนิดที่กล้องถ่ายรูปของผมถึงกับช็อก ถ่ายภาพออกมาขาวโพลนเลยทีเดียว ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมอารยธรรมสำคัญของโลกจึงได้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

 

เมืองโมเฮนโจดาโร เมืองสำคัญของอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ 

(อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Harappan_architecture#/media/File:Mohenjo-daro.jpg)

 

ความรู้เดิมมักอธิบายกันว่า อารยธรรมในลุ่มน้ำสินธุ หรือบางครั้งเรียกกันว่า อารยธรรมฮารัปปา ประกอบด้วยเมืองใหญ่ๆ อยู่ 2 เมืองคือ เมืองฮารับปา และเมืองโมเฮนโจดาโร ล่มสลายลงเพราะการรุกรานของชาวอารยัน ทำให้พวกดราวิเดียน (ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ผิวคล้ำ) ต้องพ่ายแพ้ แต่งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของ ดร.นิชานต์ มาลิก (Nishant Malik) แห่งสถาบันโรเชสเตอร์เทคโนโลยี นิวยอร์ก ได้มีข้อเสนอว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแนวลมมรสุม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นอย่างหนัก จนส่งผลทำให้ระบบชลประทานใช้งานไม่ได้ และไม่ได้ผลผลิตมากพอที่จะเลี้ยงประชากรได้

 

ดร.นิชานต์ ได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า อารยธรรมนี้เจริญขึ้นในช่วง 4,500-3,900 ปีก่อน อันเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่ชุ่มชื้นจากอิทธิพลของลมมรสุม ทำให้เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ดี อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบชลประทานและน้ำประปาที่กระจายไปยังบ้านต่างๆ ซึ่งก้าวหน้าล้ำหน้าก่อนที่ลอนดอนจะมีระบบน้ำประปาตามบ้านให้กับประชาชนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 เสียอีก 

 

กรุงทรอยถูกทำลายเพราะความแห้งแล้ง

อย่างไรก็ตาม ความแห้งแล้งไม่อาจเอาชนะมนุษย์ได้ หากมีระบบการจัดการน้ำและอาหารที่ดี มัลคลอม เฮช. ไวเนอร์ (Malcolm H. Wiener) ได้ศึกษาอารยธรรมโบราณหลายแห่งในเขตอนาโตเลีย และในเขตตะวันออก-ภาคกลางของเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยการใช้วิธีการหลายอย่าง นับตั้งแต่การศึกษาภูมิอากาศโบราณจากวงปีต้นไม้ การกำหนดอายุด้วยคาร์บอน-14 ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปฐพีศาสตร์ และเอกสารทางประวัติศาสตร์ 

 

เขาได้กล่าวว่า ภูมิอากาศอันเลวร้ายมีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์อย่างมาก ตัวอย่างเช่น การอพยพครั้งใหญ่ของชาวฮั่นไปยังจักรวรรดิโรมันตะวันตกเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4-5 ก็เป็นผลมาจากความแห้งแล้งอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตทุ่งหญ้าสเตปป์ หรือในกรณีของครีตที่เกิดความแห้งแล้งระหว่าง ค.ศ. 1590-1690 ในเขตตะวันออก และเมดิเตอร์เรเนียนก็เช่นกันที่พบว่า ในช่วง 4,200 ปีมาแล้ว ได้เกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก ทั้งนี้เพราะน้ำแข็งในขั้วโลกได้ก่อชั้นหนาขึ้น ทำให้ความชื้นลดลง ถึงขั้นที่พืชพันธุ์บางชนิดหายไป 

 

กำแพงเมืองทรอย ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ในเขตประเทศตุรกี 

(อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Troy#/media/File:Walls_of_Troy_(2).jpg)

 

ในเขตตะวันออกใกล้พบว่า จักรวรรดิอักคาเดียนได้ล่มสลายลงเมื่อราว 2,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช เช่นเดียวกันกับอารยธรรมสุเมเรียนที่ปรากฏหลักฐานการเสื่อมลงที่เมืองอูร์ชัดเจนในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี ในเวลาเดียวกันกลับพบว่าปริมาณน้ำฝนในเขตชายฝั่งกลับยังค่อนข้างคงที่ ส่วนพื้นที่ตอนในของแผ่นดินนั้นกลับแห้งแล้งอย่างหนัก สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมายังพื้นที่ใกล้กับตลิ่งของแม่น้ำสายหลักมากขึ้น หรือใกล้กับปากแม่น้ำ แต่ด้วยความแร้นแค้นที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เองที่ทำให้จักรวรรดิ เช่น อักคาเดียน ต้องทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร 

 

ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน กรุงทรอยอันเลื่องชื่อก็ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งอย่างหนักเช่นกัน ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ชาวทรอยมีการล่าสัตว์หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะกวาง ในขณะที่ปริมาณของสัตว์เลี้ยงแทบจะไม่มีเลย ซึ่งอธิบายได้ว่าเป็นผลมาจากความแห้งแล้งอย่างหนัก ที่ส่งผลทำให้สัตว์เลี้ยงพวกวัวและแกะตายเป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับในช่วงปี ค.ศ. 2006-2009 ที่ผ่านมา ที่เกิดความแห้งแล้งขึ้นในเขตดังกล่าว จนทำให้ปศุสัตว์ล้มตายลงมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ามันมีความเป็นไปได้ที่คนในยุคนั้นจะประสบปัญหาแบบเดียวกัน 

 

ตามข้อมูลข้างต้น ผมขอคิดต่อว่า สาเหตุที่ชาวอะคีอันส์ยกทัพมารบกับกรุงทรอยนั้นไม่ใช่เพราะแค่การแย่งชิงเฮเลนกลับไปเท่านั้น แต่เป็นผลมาจากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ทำให้ต้องแย่งชิงทรัพยากรกัน การแย่งชิงเฮเลนก็คือสัญลักษณ์ของการแย่งชิงความอุดมสมบูรณ์บางอย่าง

 

จากหวงเหอสู่แยงซี วัฒนธรรมหม้อสามขาในจีน

ในช่วง 4,000-4,200 ปีที่แล้ว วัฒนธรรมโบราณหลายแห่งก็ได้รับผลกระทบจากภัยความแห้งแล้งและอากาศหนาวเย็นในจีนเช่นกัน จำนวนของประชากรและชุมชนเกิดการลดลงอย่างกะทันหัน บางส่วนมีร่องรอยหลักฐานว่ามีการอพยพลงมาทางใต้จากแม่น้ำหวงเหอสู่แม่น้ำแยงซี และอาจเลยลงมาถึงเขตไทย 

วัฒนธรรมเหลียงจู (Liangzhu) ในเขตลุ่มน้ำแยงซี เป็นวัฒนธรรมที่เน้นการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในช่วง 7,000-4,200 ปีที่แล้ว มีความเหมาะสม เนื่องจากระดับน้ำทะเลลดลง ทำให้เกิดพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา และชายฝั่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรและทะเลจำนวนมาก ความอุดมสมบูรณ์นี้ทำให้วัฒนธรรมเหลียงจูกลายเป็นสังคมที่มีชนชั้น นิยมใช้หยก ผ้าไหม งาช้าง และเครื่องรักเครื่องเขิน ซึ่งพบมากมายในหลุมฝังศพ เพื่อสร้างความแตกต่างทางชนชั้นนั่นเอง 

 

ภาพจำลองเมืองเหลียงจู เมื่อ 4,000 ปีก่อน 

(อ้างอิง: https://www.viewofchina.com/liangzhu-culture/)

 

แต่แล้วในราว 4,200 ปีมาแล้ว ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรงคือ แทนที่จะแห้งแล้งเหมือนที่อื่น กลับเกิดน้ำท่วมขึ้นหลายครั้งและรุนแรงจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และแดดแรงจัดผนวกกับความแห้งแล้งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้ระบบเศรษฐกิจของวัฒนธรรมนี้ที่พึ่งพิงการเพาะปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิตอีก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ วัฒนธรรมเหลียงจูได้อพยพเคลื่อนย้ายไปทางตะวันออกติดชายฝั่งมากขึ้น และเกิดการปรับตัวทางวัฒนธรรมด้วยการเป็นสังคมล่าสัตว์กึ่งเกษตรกรรม มีชื่อว่าวัฒนธรรมใหม่ว่า หม่าเฉียว (Maqiao) ซึ่งนักโบราณคดีรู้ได้จากการที่พบกระดูกสัตว์ประเภทกวาง เนื้อทราย และเก้งแทนเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับกระดูกหมูที่พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่าการเลี้ยงหมูแบบวัฒนธรรมเหลียงจูนั้นลดลง 

 

การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเหลียงจูในประเทศจีน 

(อ้างอิง: https://www.viewofchina.com/liangzhu-culture/)

 

จินชางหลี (Jinchang Li) และคณะ ได้วิจัยวัฒนธรรมหลงซาน (Longshan) พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและแห้งแล้งขึ้นเมื่อ 4,000 ปีที่แล้วนั้น ได้ส่งผลทำให้จำนวนประชากรและแหล่งโบราณคดีในเขตมณฑลซานซีลดลง มัลคลอมได้เสนอว่า เมื่อ 4,200 ปีมาแล้วพบว่า วัฒนธรรมจากเขตลุ่มน้ำเหลือง (หวงเหอ) ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรลงไปยังเขตแม่น้ำแยงซี

 

หม้อสามขาในวัฒนธรรมหลงซาน 

(อ้างอิง: https://www.pinterest.co.uk/pin/418482990360620517/)

 

วัฒนธรรมหลงซาน (บางคนเรียก ลุงชาน) นี้สำคัญกับคนไทย เพราะเป็นวัฒนธรรมที่มีการผลิตการใช้หม้อสามขา ซึ่งในไทยเราก็พบวัฒนธรรมการใช้หม้อสามขาเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า วัฒนธรรมบ้านเก่า พบกระจายตัวในเขตภาคตะวันตก-ใต้ เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชุมพร เป็นต้น มีอายุราว 4,000 กว่าปีมาแล้วเช่นกัน วัฒนธรรมหลงซานเป็นวัฒนธรรมที่ทำการเกษตรและล่าสัตว์ควบคู่กัน และพัฒนาชุมชนขึ้นเป็นสังคมแบบนครรัฐยุคแรกเริ่ม 

 

จากข้อมูลข้างต้น ผมขอเสนอเป็นไอเดียว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรมหม้อสามขาลงมาทางใต้ในเขตไทย ที่บางคนเชื่อมโยงกับการอพยพของกลุ่มคนจากจีนตอนใต้ อาจเป็นคนพูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร หรือไท-ไตระลอกแรกๆ นั้น อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัด ร้อน และแห้งแล้ง เต็มไปด้วยอุทกภัย ปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันนี้ผมว่าไม่ได้แตกต่างจากประวัติศาสตร์ในสมัยหลังของจีน ที่กลุ่มชาวจีนอพยพมายังสยามด้วยภาวะความแห้งแล้งและอดอยากเช่นเดียวกัน 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X