×

เมื่อเจ้า ‘ฉลาม’ ว่ายกลับมาเชื่อมโยงโลกภาพยนตร์ระทึกขวัญและแฟชั่นเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้ง

โดย OPOLOP POPPY
16.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ภาพยนตร์แนว Horror/Thriller ส่งผลต่อรสนิยมในการเลือกเสพผลงานศิลปะทุกแขนงรวมไปถึงแฟชั่น งานออกแบบในโลก ‘พาณิชยศิลป์’ ที่ตัวดีไซเนอร์มักดึงเรื่องราวจากโลกภาพยนตร์ที่ชอบมาหลอมรวมไว้ในการออกแบบผลงาน
  • ในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ มีลายฉลามในรูปแบบต่างๆ อยู่คู่โลกแฟชั่นมายาวนานเกือบ 20 ปี มีการถ่ายเทกระแสความนิยมไปยังแบรนด์ต่างๆ มากมาย เช่น ลายพิมพ์ที่เชื่อมโยงระหว่างความดุดันของฉลามและวงเฮฟวีเมทัลของ ราฟ ซิมงส์ ในคอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2003 หรือลายพิมพ์รูปฉลามจากหนึ่งในภาพถ่ายชิ้นโบว์แดงของ แบรนดอน โคล บนเสื้อยืดและเชิ้ตสำหรับคุณสุภาพบุรุษของ Alexander McQueen คอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2008

ล่าสุดกับฤดูร้อนประจำปี 2019 ที่แบรนด์สตรีทสุดฮิปอย่าง MSGM และ Calvin Klein 205W39NYC ไลน์ระดับบนของ Calvin Klein ได้ทำให้สัตว์ดุตัวนี้กลับมามีกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะกับรายหลังที่ทำเก๋ โดยการนำเอาโปสเตอร์สุดคลาสสิกของเรื่อง Jaws ปี 1975 มารวมกับตัวอักษรย่อที่เป็นโลโก้ขวัญใจวัยรุ่นยุค 90s อย่าง ‘CK’

 

เมื่อช่วงวันหยุดยาวปลายปีที่ผ่านมา ผมใช้เวลาอันมีค่าช่วงนี้เพื่อเก็บตกซีรีส์และภาพยนตร์ดีๆ ที่พลาดไป โดยในบรรดาทั้งหมดทั้งมวลนั้นส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์แนว Horror/Thriller ที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ซึ่งความชอบเนื้อหาล่า ลุ้น ระทึก สยองขวัญ สั่นประสาท บนแผ่นฟิล์มเช่นนี้เป็นสิ่งติดตัวที่มีมานาน และยังคงส่งผลต่อรสนิยมในการเลือกเสพผลงานศิลปะทุกแขนงรวมไปถึงแฟชั่น งานออกแบบในโลก ‘พาณิชยศิลป์’ ที่ตัวดีไซเนอร์มักดึงเรื่องราวจากโลกภาพยนตร์ที่ชอบมาหลอมรวมไว้ในการออกแบบผลงาน จึงไม่แปลกอะไรถ้าปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปีนี้ จะมีตัวอย่างการเชื่อมโยงของสองโลก โดยที่ยกให้ ‘ฉลาม’ นักล่าแห่งท้องทะเลได้กลายเป็นสัตว์ดุแสนเก๋ไปเป็นที่เรียบร้อย

 

นี่คือผลพวงจากกระแสในโลกภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะกับทางด้านรายได้ ทั้งฉลามตัวใหญ่ยักษ์เหนือจินตนาการจากใต้ทะเลลึกในเรื่อง The Meg เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดกับในช่วงซัมเมอร์ปี 2019 นี้ที่เราจะได้ชมภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง 47 Meters Down: Uncaged สานตำนานความสำเร็จจากภาคแรก ซึ่งจะว่าไป จริงๆ แล้วผมไม่แปลกใจเลยที่ทั้ง 2 เรื่องได้ผลตอบรับที่ดี เพราะไม่ว่าจะมีหนังฉลามออกมากี่เรื่อง จะเป็นหนังฉลามเกรด A B C D… ก็มีคนแห่ไปดูกัน

 

ภาพยนตร์เรื่อง The Meg ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

 

ซึ่งสูตรความสำเร็จที่ทำให้เจ้าฉลามสามารถนำมาสร้างเป็นหนังทำกำไรให้ทางค่ายได้ทุกยุคสมัยนั้นคงต้องยกความดีความชอบให้แก่ผู้เริ่มอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก จากอดีตผู้กำกับหน้าใหม่ สู่งานมาสเตอร์พีซระดับตำนานในยุค 70s เรื่อง Jaws เรื่องราวของฉลามกินคนที่สร้างผลกระทบทำให้ไม่มีใครกล้าลงเล่นน้ำเป็นเดือนๆ และได้เปลี่ยนให้เขากลายเป็น ‘พ่อมดแห่งโลกภาพยนตร์’

 

และนับแต่นั้นเองที่ ‘ฉลาม’ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความน่ากลัวในโลกภาพยนตร์ กระทั่งสร้างความประทับใจให้นักออกแบบแฟชั่นจนนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานนับครั้งไม่ถ้วน

 

โดยหากไม่ต้องย้อนกลับไปให้ไกลมากนัก เอาแค่ในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ มีลายฉลามในรูปแบบต่างๆ ที่อยู่ต่อเนื่องคู่โลกแฟชั่นมายาวนานเกือบ 20 ปี มีการถ่ายเทกระแสความนิยมไปยังแบรนด์ต่างๆ มากมาย เช่น ลายพิมพ์ที่เชื่อมโยงระหว่างความดุดันของฉลามและวงเฮฟวีเมทัลของ ราฟ ซิมงส์ ในคอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2003

 

ลายพิมพ์รูปฉลามจากหนึ่งในภาพถ่ายชิ้นโบแดงของ แบรนดอน โคล บนเสื้อยืดและเชิ้ตสำหรับคุณสุภาพบุรุษของ Alexander McQueen คอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2008

 

ลายพิมพ์ฉลามที่สร้างกระแสสุดพีกเอาไว้ตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาของกูตูร์เฮาส์เก่าแก่ที่เริ่มจับกลุ่มลูกค้าสายสตรีทอย่าง Givenchy, ลายพิมพ์ฉลามที่ถูกนำมาจับคู่กับลวดลายสไตล์ Barocco เอกลักษณ์ของ Versace ได้อย่างลงตัว

 

ภาพยนตร์เรื่อง Jaws (1975) หนังขึ้นหิ้งของพ่อมดแห่งโลกภาพยนตร์ สตีเวน สปีลเบิร์ก

ล่าสุดกับฤดูร้อนประจำปี 2019 ที่ทั้งแบรนด์สตรีทสุดฮิปอย่าง MSGM และ Calvin Klein 205W39NYC ไลน์ระดับบนของ Calvin Klein ได้ทำให้สัตว์ดุตัวนี้กลับมามีกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะกับรายหลังที่ทำเก๋ด้วยการนำเอาโปสเตอร์สุดคลาสสิกของเรื่อง Jaws ปี 1975 มารวมกับตัวอักษรย่อที่เป็นโลโก้ขวัญใจวัยรุ่นยุค 90s อย่าง ‘CK’ ซึ่งการที่ ราฟ ซิมงส์ อดีตเชฟครีเอทีฟออฟฟิศเซอร์ของ Calvin Klein นำเรื่องราวของ Jaws กลับมานำเสนอใหม่อีกครั้งนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของ ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ในการสร้างสรรค์คอลเล็กชัน Menswear Spring/Summer ประจำปี 2008 ซึ่งเจ้าตัวได้แรงบันดาลใจมาจากรูปถ่ายในต้นทศวรรษที่ 60s ของ LeRoy Grannis ด้วยภาพชายหนุ่มที่สร้างลุคให้เป็นผู้ใหญ่ด้วยการใส่สูทเฉกเช่นคุณสุภาพบุรุษกำลังเล่นเซิร์ฟบอร์ดที่ Hermosa Beach ที่แม้ว่าจะดูขัดแย้ง แต่ก็น่าสนใจ เพราะเราสามารถตีความและนำไปเชื่อมโยงกับ Pop Culture และวัฒนธรรมเยาวชน เช่นที่เห็นได้ในวัฒนธรรมสมัยนิยมของชาวอเมริกัน ซึ่งมีภาพยนตร์สยองขวัญเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนกระแสนั้น ทั้งยังเป็นการนิยามถึง ‘ความกลัวและความเสี่ยง’ ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของวัยรุ่นอเมริกันซึ่งพยายามจะก้าวข้ามวัยใสไปสู้ชีวิตในแบบผู้ใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่าชีวิตหลังจบการศึกษานั้นคุณจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเมื่อกระโจนลงสู่ ‘ทะเลชีวิต’ แบบเต็มตัวแล้วจะเป็นเช่นไร

 

ไม่ต่างกับการกระโดดลงไปในทะเลลึกที่สุ่มเสี่ยงจะเจอภัย เช่นเดียวกับในภาพยนตร์เรื่องดัง เพราะจะต้องเจอกับความสยองขวัญในรูปแบบต่างๆ เป็นความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่ภายใต้ท้องทะเลผืนงามที่ยั่วยวนและหลอกล่อให้ลงไปสัมผัส อีกทั้งเราไม่สามารถระวังตั้งตัวได้จนกระทั่งความน่ากลัวเหล่านั้นมาถึง

 

โปสเตอร์สุดคลาสสิกของภาพยนตร์เรื่อง Jaws ที่กลายมาเป็นลายพิมพ์คู่กับโลโก้ CK ในคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ของไลน์ 205W39NYC

 

ซึ่งความกลัวที่ว่านี้ ทั้งคู่เลือกใช้ ‘ฉลาม’ เป็นสัญลักษณ์ แต่ในกรณีของ 205W39NYC ยังมีการนำภาพยนตร์เรื่อง Jaws ไปเทียบเคียงกับสิ่งที่ Calvin Klein ได้สร้างไว้ให้โลกแฟชั่น นั่นคือเรื่องของแนวคิดสมัยใหม่ เพราะ สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้พลิกโฉมการทำการตลาดหนังสำหรับฉายในช่วงหน้าร้อน (Summer Blockbuster) ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นช่วงโลว์ซีซันของวงการภาพยนตร์ ด้วยการโปรโมตกันแบบโต้งๆ ว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงฉลามกินคน ใช้ความกลัวมาเป็นจุดขาย

 

ถ้าหากคุณก้าวเข้าไปในโรงเพื่อชมแล้วจะได้พบกับเลือดสาดกระเซ็นกระเด็นเต็มหน้าจออย่างที่หนังเกรด B นิยมโปรโมตกัน หนังฉลาดเรื่องดังทำการโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องเพื่อกระจายการรับรู้ข่าวสารเป็นวงกว้าง มีการจำกัดโรงฉายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเล่าแบบปากต่อปาก นอกจากทำให้คนอยากดูมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วและได้ผลในยุคที่ยังไม่มีการแชร์เรื่องราวต่างๆ บนโลกโซเชียลมีเดียเช่นทุกวันนี้

 

ทั้งหมดที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ทำนั้นไม่ต่างอะไรกับการที่ Calvin Klein เคยทำไว้ ทั้งโฆษณาชุดทางโทรทัศน์ที่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากการคัดเลือกนักแสดงหนังโป๊ การขึ้น AD Campaign โชว์ส่วนสัดความเป็นชาย-หญิงอย่างชัดเจนบนป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ในแลนด์มาร์กสำคัญ การโชว์หน้าอกนางแบบคนดังบนรันเวย์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งหมดก็เพื่อเรียกร้องความสนใจในแบบฉบับเดียวกับที่โลกฮอลลีวูดสร้างไว้ และได้กลายเป็นสูตรสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน

 

‘ฉลาม’ หนึ่งในลายพิมพ์หลักประจำคอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2008 ของแบรนด์ Alexander McQueen

 

หากคุณผู้อ่านท่านใดอ่านจนถึงตรงนี้แล้วพบว่าตัวเองเป็นผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวสุดระทึก เขย่าขวัญ สั่นประสาทเช่นเดียวกับผม รวมทั้งบรรดานักออกแบบคนเก่งของโลกแฟชั่นอีกหลายท่าน เช่น ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน, ราฟ ซิมงส์, ริค โอเวนส์, แกเร็ธ พิว, ริคคาร์โด ทิสซี ผมขอบอกให้อุ่นใจกันไว้เลยว่า คุณไม่ใช่คนดาร์กหรือติดอยู่กับมุมมืดแต่อย่างใด เพราะมีผลงานวิจัยชี้ชัดว่า คุณคือ ‘กลุ่มคนในสังคมที่สามารถรับมือและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งเอาชีวิตรอดได้’

 

เรื่องนี้ตรงกับแนวคิดพื้นฐานที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อและนำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ได้กล่าวไว้ว่า “ความกลัวจะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าหากเราไม่รับรู้ว่าสิ่งนั้นน่ากลัว อีกทั้งความกลัวยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอยู่รอด ซึ่งความกลัวเหล่านั้นเป็นสัญชาตญาณที่ถ่ายทอดต่อกันมา”

 

ที่สำคัญคือ ความกลัวต่อสิ่งต่างๆ เป็นกลไกในการช่วยชีวิต กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจว่า ‘จะสู้หรือหนี’ เป็นวิถีธรรมชาติในการป้องกันตัวเองของมนุษย์และสัตว์ สอดคล้องกับที่ วิสลาวา ซิมบอร์สกา นักเขียนคนสำคัญชาวโปแลนด์อธิบายถึงความน่ากลัวในนิทานสำหรับเยาวชนไว้ว่า จริงๆ แล้วเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบการเสพความกลัวจากนิทาน เพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความต้องการในการเผชิญหน้าและรับมือกับเรื่องต่างๆ นิทานเหล่านี้มีทั้งความงดงามที่เกิดขึ้นจากการผจญภัย และความมืดมนคละเคล้ากันไป เป็นการสร้างความตื่นเต้นและเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่ ‘วัยผ้าขาว’ ที่ยังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ มาก่อน

 

อีกทั้งนักจิตบำบัดชื่อดังอย่าง John Kuziel ยังอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า อารมณ์กลัวที่เกิดขึ้นระหว่างชมภาพยนตร์จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสร้างความตื่นเต้น ‘อะดรีนาลิน’ และฮอร์โมนแห่งความเครียด ‘คอร์ติซอล’ เพิ่มขึ้น ซึ่งระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แถมยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้อวัยวะของร่างกายทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 

‘ความกลัว’ ยังส่งผลลามไปถึงเรื่องความสุขทางเพศ เมื่อมีผลการทดลองโดยให้ชายหนุ่มเดินข้ามสะพานสูงนับร้อยเมตร มีทั้งแบบเดินบนสะพานที่มั่นคงและแบบสั่นไหว โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นหญิงสาวแสนสวยที่รออยู่ ผลปรากฏว่าผู้ชาย 9 คน จากจำนวน 33 คนบนสะพานโคลงเคลงนั้นโทรหาผู้ช่วยสาว ในขณะที่อีกฝั่งมีเพียงแค่ 2 คนที่โทรหาเธอ

 

เมื่อรวมกับการศึกษาพฤติกรรมในด้านอื่นๆ แล้วจึงพอสรุปได้ว่า ‘ความกลัว’ มีส่วนในการกระตุ้นพฤติกรรมเรื่องเพศ ดังนั้นคุณผู้อ่านจึงอย่าแปลกใจว่าทำไมคู่รักหลายรายจึงมักจูงมือกันไปดูภาพยนตร์ระทึกขวัญไม่แพ้หนังรักโรแมนติก เพราะนอกจากจะสามารถฉวยโอกาสแนบชิดสนิทยามเมื่อหนังสร้างเซอร์ไพรส์ทำให้ตกใจได้แล้ว ความรู้สึกอยากเป็นที่พึ่งพาและหาที่พักใจก็จะเกิดควบคู่กันไป

 

ลายพิมพ์ฉลามของ ราฟ ซิมงส์ คอลเล็กชัน Spring/Summer 2003 และ Givenchy ที่มีมาตั้งแต่ปี 2012

 

การนำเรื่องราวของนักล่าแห่งท้องทะเลมาเชื่อมโยงกับความเซ็กซี่ ในนิตยสาร Harper’s Bazaar ปี 2015

 

ความโรแมนติกหรือความสวยหวานที่เกิดขึ้นโดยมีต้นเหตุจากความกลัวเหล่านี้นี่แหละครับ คือสิ่งที่โลกภาพยนตร์แนวระทึกขวัญและโลกแฟชั่นนำมาเชื่อมโยงเข้าหากัน โดยมีจุดสังเกตที่น่าสนใจว่า ความน่ากลัวเหล่านั้นจะถูกหยิบมาใช้ในโลกแฟชั่นยามเมื่อทางแบรนด์ต้องการแสวงหากำไรและได้ผลทุกครั้งไป อาจเป็นเพราะความโรแมนติกสวยหวานคงเหมือนน้ำตาลที่เมื่อทานมากไปแล้วอาจทำให้รู้สึกเลี่ยน แต่ความงดงามที่แฝงไว้ในมุมมืดกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถค้นพบและถ่ายทอดออกมาให้น่าสนใจได้

 

ดังนั้นนักออกแบบคนเก่งหลายรายจึงพยายามสร้างสรรค์คอลเล็กชันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวเหล่านี้ โดยพยายามหามุมมองใหม่ๆ และนำเสนอในแบบเฉพาะตัวที่ฉีกแหวกแนวออกไป คอลเล็กชันเหล่านี้นอกจากดูไม่ดาษดื่นชนิดที่ใครก็ทำได้แล้ว ยังสร้างความตื่นเต้นให้ผู้เสพพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ จนทำให้คอแฟชั่นเกิดความรู้สึก ‘อยากเสี่ยง’ ที่จะลุกขึ้นมาแต่งตัวเท่ๆ ด้วยผลงานเหล่านี้ก่อนที่จะค้นพบว่าแท้จริงแล้วคือแนวทางที่ใช่ก็เป็นได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการที่คนคนหนึ่งจะทราบว่าตัวเองกล้าชมหรือชอบภาพยนตร์แนวระทึกขวัญสั่นประสาทหรือไม่ก็ต่อเมื่อได้ลองชม และอย่างน้อยๆ ถ้าภาพยนตร์แนวนี้ช่วยสร้างสีสันให้กับวงการภาพยนตร์ได้เช่นไร ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความตื่นเต้นและเร้าใจให้กับวงการแฟชั่นได้ไม่น้อยไปกว่ากัน

 


ซัมเมอร์ปีนี้เราจะได้ชม 47 Meters Down: Uncaged ภาพยนตร์ภาคต่อที่ภาคแรกเข้าฉายในปี 2017

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising