ล่าสุดกับฤดูร้อนประจำปี 2019 ที่แบรนด์สตรีทสุดฮิปอย่าง MSGM และ Calvin Klein 205W39NYC ไลน์ระดับบนของ Calvin Klein ได้ทำให้สัตว์ดุตัวนี้กลับมามีกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะกับรายหลังที่ทำเก๋ โดยการนำเอาโปสเตอร์สุดคลาสสิกของเรื่อง Jaws ปี 1975 มารวมกับตัวอักษรย่อที่เป็นโลโก้ขวัญใจวัยรุ่นยุค 90s อย่าง ‘CK’
เมื่อช่วงวันหยุดยาวปลายปีที่ผ่านมา ผมใช้เวลาอันมีค่าช่วงนี้เพื่อเก็บตกซีรีส์และภาพยนตร์ดีๆ ที่พลาดไป โดยในบรรดาทั้งหมดทั้งมวลนั้นส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์แนว Horror/Thriller ที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ซึ่งความชอบเนื้อหาล่า ลุ้น ระทึก สยองขวัญ สั่นประสาท บนแผ่นฟิล์มเช่นนี้เป็นสิ่งติดตัวที่มีมานาน และยังคงส่งผลต่อรสนิยมในการเลือกเสพผลงานศิลปะทุกแขนงรวมไปถึงแฟชั่น งานออกแบบในโลก ‘พาณิชยศิลป์’ ที่ตัวดีไซเนอร์มักดึงเรื่องราวจากโลกภาพยนตร์ที่ชอบมาหลอมรวมไว้ในการออกแบบผลงาน จึงไม่แปลกอะไรถ้าปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปีนี้ จะมีตัวอย่างการเชื่อมโยงของสองโลก โดยที่ยกให้ ‘ฉลาม’ นักล่าแห่งท้องทะเลได้กลายเป็นสัตว์ดุแสนเก๋ไปเป็นที่เรียบร้อย
นี่คือผลพวงจากกระแสในโลกภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะกับทางด้านรายได้ ทั้งฉลามตัวใหญ่ยักษ์เหนือจินตนาการจากใต้ทะเลลึกในเรื่อง The Meg เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดกับในช่วงซัมเมอร์ปี 2019 นี้ที่เราจะได้ชมภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง 47 Meters Down: Uncaged สานตำนานความสำเร็จจากภาคแรก ซึ่งจะว่าไป จริงๆ แล้วผมไม่แปลกใจเลยที่ทั้ง 2 เรื่องได้ผลตอบรับที่ดี เพราะไม่ว่าจะมีหนังฉลามออกมากี่เรื่อง จะเป็นหนังฉลามเกรด A B C D… ก็มีคนแห่ไปดูกัน
ภาพยนตร์เรื่อง The Meg ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
ซึ่งสูตรความสำเร็จที่ทำให้เจ้าฉลามสามารถนำมาสร้างเป็นหนังทำกำไรให้ทางค่ายได้ทุกยุคสมัยนั้นคงต้องยกความดีความชอบให้แก่ผู้เริ่มอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก จากอดีตผู้กำกับหน้าใหม่ สู่งานมาสเตอร์พีซระดับตำนานในยุค 70s เรื่อง Jaws เรื่องราวของฉลามกินคนที่สร้างผลกระทบทำให้ไม่มีใครกล้าลงเล่นน้ำเป็นเดือนๆ และได้เปลี่ยนให้เขากลายเป็น ‘พ่อมดแห่งโลกภาพยนตร์’
และนับแต่นั้นเองที่ ‘ฉลาม’ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความน่ากลัวในโลกภาพยนตร์ กระทั่งสร้างความประทับใจให้นักออกแบบแฟชั่นจนนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานนับครั้งไม่ถ้วน
โดยหากไม่ต้องย้อนกลับไปให้ไกลมากนัก เอาแค่ในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ มีลายฉลามในรูปแบบต่างๆ ที่อยู่ต่อเนื่องคู่โลกแฟชั่นมายาวนานเกือบ 20 ปี มีการถ่ายเทกระแสความนิยมไปยังแบรนด์ต่างๆ มากมาย เช่น ลายพิมพ์ที่เชื่อมโยงระหว่างความดุดันของฉลามและวงเฮฟวีเมทัลของ ราฟ ซิมงส์ ในคอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2003
ลายพิมพ์รูปฉลามจากหนึ่งในภาพถ่ายชิ้นโบแดงของ แบรนดอน โคล บนเสื้อยืดและเชิ้ตสำหรับคุณสุภาพบุรุษของ Alexander McQueen คอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2008
ลายพิมพ์ฉลามที่สร้างกระแสสุดพีกเอาไว้ตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาของกูตูร์เฮาส์เก่าแก่ที่เริ่มจับกลุ่มลูกค้าสายสตรีทอย่าง Givenchy, ลายพิมพ์ฉลามที่ถูกนำมาจับคู่กับลวดลายสไตล์ Barocco เอกลักษณ์ของ Versace ได้อย่างลงตัว
ภาพยนตร์เรื่อง Jaws (1975) หนังขึ้นหิ้งของพ่อมดแห่งโลกภาพยนตร์ สตีเวน สปีลเบิร์ก
ล่าสุดกับฤดูร้อนประจำปี 2019 ที่ทั้งแบรนด์สตรีทสุดฮิปอย่าง MSGM และ Calvin Klein 205W39NYC ไลน์ระดับบนของ Calvin Klein ได้ทำให้สัตว์ดุตัวนี้กลับมามีกระแสอีกครั้ง โดยเฉพาะกับรายหลังที่ทำเก๋ด้วยการนำเอาโปสเตอร์สุดคลาสสิกของเรื่อง Jaws ปี 1975 มารวมกับตัวอักษรย่อที่เป็นโลโก้ขวัญใจวัยรุ่นยุค 90s อย่าง ‘CK’ ซึ่งการที่ ราฟ ซิมงส์ อดีตเชฟครีเอทีฟออฟฟิศเซอร์ของ Calvin Klein นำเรื่องราวของ Jaws กลับมานำเสนอใหม่อีกครั้งนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของ ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ในการสร้างสรรค์คอลเล็กชัน Menswear Spring/Summer ประจำปี 2008 ซึ่งเจ้าตัวได้แรงบันดาลใจมาจากรูปถ่ายในต้นทศวรรษที่ 60s ของ LeRoy Grannis ด้วยภาพชายหนุ่มที่สร้างลุคให้เป็นผู้ใหญ่ด้วยการใส่สูทเฉกเช่นคุณสุภาพบุรุษกำลังเล่นเซิร์ฟบอร์ดที่ Hermosa Beach ที่แม้ว่าจะดูขัดแย้ง แต่ก็น่าสนใจ เพราะเราสามารถตีความและนำไปเชื่อมโยงกับ Pop Culture และวัฒนธรรมเยาวชน เช่นที่เห็นได้ในวัฒนธรรมสมัยนิยมของชาวอเมริกัน ซึ่งมีภาพยนตร์สยองขวัญเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนกระแสนั้น ทั้งยังเป็นการนิยามถึง ‘ความกลัวและความเสี่ยง’ ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของวัยรุ่นอเมริกันซึ่งพยายามจะก้าวข้ามวัยใสไปสู้ชีวิตในแบบผู้ใหญ่ โดยหารู้ไม่ว่าชีวิตหลังจบการศึกษานั้นคุณจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเมื่อกระโจนลงสู่ ‘ทะเลชีวิต’ แบบเต็มตัวแล้วจะเป็นเช่นไร
ไม่ต่างกับการกระโดดลงไปในทะเลลึกที่สุ่มเสี่ยงจะเจอภัย เช่นเดียวกับในภาพยนตร์เรื่องดัง เพราะจะต้องเจอกับความสยองขวัญในรูปแบบต่างๆ เป็นความน่ากลัวที่ซ่อนอยู่ภายใต้ท้องทะเลผืนงามที่ยั่วยวนและหลอกล่อให้ลงไปสัมผัส อีกทั้งเราไม่สามารถระวังตั้งตัวได้จนกระทั่งความน่ากลัวเหล่านั้นมาถึง
โปสเตอร์สุดคลาสสิกของภาพยนตร์เรื่อง Jaws ที่กลายมาเป็นลายพิมพ์คู่กับโลโก้ CK ในคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ของไลน์ 205W39NYC
ซึ่งความกลัวที่ว่านี้ ทั้งคู่เลือกใช้ ‘ฉลาม’ เป็นสัญลักษณ์ แต่ในกรณีของ 205W39NYC ยังมีการนำภาพยนตร์เรื่อง Jaws ไปเทียบเคียงกับสิ่งที่ Calvin Klein ได้สร้างไว้ให้โลกแฟชั่น นั่นคือเรื่องของแนวคิดสมัยใหม่ เพราะ สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้พลิกโฉมการทำการตลาดหนังสำหรับฉายในช่วงหน้าร้อน (Summer Blockbuster) ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นช่วงโลว์ซีซันของวงการภาพยนตร์ ด้วยการโปรโมตกันแบบโต้งๆ ว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงฉลามกินคน ใช้ความกลัวมาเป็นจุดขาย
ถ้าหากคุณก้าวเข้าไปในโรงเพื่อชมแล้วจะได้พบกับเลือดสาดกระเซ็นกระเด็นเต็มหน้าจออย่างที่หนังเกรด B นิยมโปรโมตกัน หนังฉลาดเรื่องดังทำการโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องเพื่อกระจายการรับรู้ข่าวสารเป็นวงกว้าง มีการจำกัดโรงฉายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเล่าแบบปากต่อปาก นอกจากทำให้คนอยากดูมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วและได้ผลในยุคที่ยังไม่มีการแชร์เรื่องราวต่างๆ บนโลกโซเชียลมีเดียเช่นทุกวันนี้
ทั้งหมดที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก ทำนั้นไม่ต่างอะไรกับการที่ Calvin Klein เคยทำไว้ ทั้งโฆษณาชุดทางโทรทัศน์ที่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากการคัดเลือกนักแสดงหนังโป๊ การขึ้น AD Campaign โชว์ส่วนสัดความเป็นชาย-หญิงอย่างชัดเจนบนป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ในแลนด์มาร์กสำคัญ การโชว์หน้าอกนางแบบคนดังบนรันเวย์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งหมดก็เพื่อเรียกร้องความสนใจในแบบฉบับเดียวกับที่โลกฮอลลีวูดสร้างไว้ และได้กลายเป็นสูตรสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
‘ฉลาม’ หนึ่งในลายพิมพ์หลักประจำคอลเล็กชันฤดูร้อนปี 2008 ของแบรนด์ Alexander McQueen
หากคุณผู้อ่านท่านใดอ่านจนถึงตรงนี้แล้วพบว่าตัวเองเป็นผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวสุดระทึก เขย่าขวัญ สั่นประสาทเช่นเดียวกับผม รวมทั้งบรรดานักออกแบบคนเก่งของโลกแฟชั่นอีกหลายท่าน เช่น ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน, ราฟ ซิมงส์, ริค โอเวนส์, แกเร็ธ พิว, ริคคาร์โด ทิสซี ผมขอบอกให้อุ่นใจกันไว้เลยว่า คุณไม่ใช่คนดาร์กหรือติดอยู่กับมุมมืดแต่อย่างใด เพราะมีผลงานวิจัยชี้ชัดว่า คุณคือ ‘กลุ่มคนในสังคมที่สามารถรับมือและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งเอาชีวิตรอดได้’
เรื่องนี้ตรงกับแนวคิดพื้นฐานที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อและนำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ได้กล่าวไว้ว่า “ความกลัวจะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าหากเราไม่รับรู้ว่าสิ่งนั้นน่ากลัว อีกทั้งความกลัวยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการอยู่รอด ซึ่งความกลัวเหล่านั้นเป็นสัญชาตญาณที่ถ่ายทอดต่อกันมา”
ที่สำคัญคือ ความกลัวต่อสิ่งต่างๆ เป็นกลไกในการช่วยชีวิต กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจว่า ‘จะสู้หรือหนี’ เป็นวิถีธรรมชาติในการป้องกันตัวเองของมนุษย์และสัตว์ สอดคล้องกับที่ วิสลาวา ซิมบอร์สกา นักเขียนคนสำคัญชาวโปแลนด์อธิบายถึงความน่ากลัวในนิทานสำหรับเยาวชนไว้ว่า จริงๆ แล้วเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบการเสพความกลัวจากนิทาน เพราะมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความต้องการในการเผชิญหน้าและรับมือกับเรื่องต่างๆ นิทานเหล่านี้มีทั้งความงดงามที่เกิดขึ้นจากการผจญภัย และความมืดมนคละเคล้ากันไป เป็นการสร้างความตื่นเต้นและเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่ ‘วัยผ้าขาว’ ที่ยังไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ มาก่อน
อีกทั้งนักจิตบำบัดชื่อดังอย่าง John Kuziel ยังอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า อารมณ์กลัวที่เกิดขึ้นระหว่างชมภาพยนตร์จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสร้างความตื่นเต้น ‘อะดรีนาลิน’ และฮอร์โมนแห่งความเครียด ‘คอร์ติซอล’ เพิ่มขึ้น ซึ่งระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ แถมยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้อวัยวะของร่างกายทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
‘ความกลัว’ ยังส่งผลลามไปถึงเรื่องความสุขทางเพศ เมื่อมีผลการทดลองโดยให้ชายหนุ่มเดินข้ามสะพานสูงนับร้อยเมตร มีทั้งแบบเดินบนสะพานที่มั่นคงและแบบสั่นไหว โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นหญิงสาวแสนสวยที่รออยู่ ผลปรากฏว่าผู้ชาย 9 คน จากจำนวน 33 คนบนสะพานโคลงเคลงนั้นโทรหาผู้ช่วยสาว ในขณะที่อีกฝั่งมีเพียงแค่ 2 คนที่โทรหาเธอ
เมื่อรวมกับการศึกษาพฤติกรรมในด้านอื่นๆ แล้วจึงพอสรุปได้ว่า ‘ความกลัว’ มีส่วนในการกระตุ้นพฤติกรรมเรื่องเพศ ดังนั้นคุณผู้อ่านจึงอย่าแปลกใจว่าทำไมคู่รักหลายรายจึงมักจูงมือกันไปดูภาพยนตร์ระทึกขวัญไม่แพ้หนังรักโรแมนติก เพราะนอกจากจะสามารถฉวยโอกาสแนบชิดสนิทยามเมื่อหนังสร้างเซอร์ไพรส์ทำให้ตกใจได้แล้ว ความรู้สึกอยากเป็นที่พึ่งพาและหาที่พักใจก็จะเกิดควบคู่กันไป
ลายพิมพ์ฉลามของ ราฟ ซิมงส์ คอลเล็กชัน Spring/Summer 2003 และ Givenchy ที่มีมาตั้งแต่ปี 2012
การนำเรื่องราวของนักล่าแห่งท้องทะเลมาเชื่อมโยงกับความเซ็กซี่ ในนิตยสาร Harper’s Bazaar ปี 2015
ความโรแมนติกหรือความสวยหวานที่เกิดขึ้นโดยมีต้นเหตุจากความกลัวเหล่านี้นี่แหละครับ คือสิ่งที่โลกภาพยนตร์แนวระทึกขวัญและโลกแฟชั่นนำมาเชื่อมโยงเข้าหากัน โดยมีจุดสังเกตที่น่าสนใจว่า ความน่ากลัวเหล่านั้นจะถูกหยิบมาใช้ในโลกแฟชั่นยามเมื่อทางแบรนด์ต้องการแสวงหากำไรและได้ผลทุกครั้งไป อาจเป็นเพราะความโรแมนติกสวยหวานคงเหมือนน้ำตาลที่เมื่อทานมากไปแล้วอาจทำให้รู้สึกเลี่ยน แต่ความงดงามที่แฝงไว้ในมุมมืดกลับกลายเป็นเสน่ห์ที่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถค้นพบและถ่ายทอดออกมาให้น่าสนใจได้
ดังนั้นนักออกแบบคนเก่งหลายรายจึงพยายามสร้างสรรค์คอลเล็กชันที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวเหล่านี้ โดยพยายามหามุมมองใหม่ๆ และนำเสนอในแบบเฉพาะตัวที่ฉีกแหวกแนวออกไป คอลเล็กชันเหล่านี้นอกจากดูไม่ดาษดื่นชนิดที่ใครก็ทำได้แล้ว ยังสร้างความตื่นเต้นให้ผู้เสพพบกับประสบการณ์ใหม่ๆ จนทำให้คอแฟชั่นเกิดความรู้สึก ‘อยากเสี่ยง’ ที่จะลุกขึ้นมาแต่งตัวเท่ๆ ด้วยผลงานเหล่านี้ก่อนที่จะค้นพบว่าแท้จริงแล้วคือแนวทางที่ใช่ก็เป็นได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการที่คนคนหนึ่งจะทราบว่าตัวเองกล้าชมหรือชอบภาพยนตร์แนวระทึกขวัญสั่นประสาทหรือไม่ก็ต่อเมื่อได้ลองชม และอย่างน้อยๆ ถ้าภาพยนตร์แนวนี้ช่วยสร้างสีสันให้กับวงการภาพยนตร์ได้เช่นไร ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความตื่นเต้นและเร้าใจให้กับวงการแฟชั่นได้ไม่น้อยไปกว่ากัน
ซัมเมอร์ปีนี้เราจะได้ชม 47 Meters Down: Uncaged ภาพยนตร์ภาคต่อที่ภาคแรกเข้าฉายในปี 2017
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า