×

Haka คืออะไร รู้จักท่าเต้นของชนเผ่าเมารีที่ นิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ และ ชัยนาท ฮอร์นบิล ใช้ก่อนลงสนาม

13.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ชัยนาท ฮอร์นบิล ได้ทำฮากา ท่าเต้นของชนเผ่าเมารี นิวซีแลนด์ ก่อนลงสนาม และเสมอกับ สุพรรณบุรี เอฟซี ในศึกโตโยต้า ไทยลีก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
  • อนุรุทธิ์ นาคาศัย รองประธานสโมสร ชัยนาท ฮอร์นบิล ได้แจ้งที่มาว่า Hornbill Haka คือการสร้างความฮึกเหิมให้กับนักเตะ รวมถึงการทำฮากามีความคล้ายกับโขนของไทย จึงตั้งชื่อให้ว่า หนุมานออกศึก
  • ฮากา คือท่าเต้นในยามออกศึกของชนเผ่าเมารี ในประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งถูกนำมาใช้ในกีฬารักบี้ เมื่อปี 1888 โดยทีม New Zealand Native football team ก่อนจะต่อยอดมาสู่ทีมออลแบล็กส์ รักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ในปี 1905 จนถึงปัจจุบัน

ในศึกฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก นัดที่ ชัยนาท ฮอร์นบิล เสมอกับ สุพรรณบุรี เอฟซี 0-0 แต่สิ่งที่หลายคนพูดถึงในเกมนี้ คือการที่ทีมชัยนาทจัด Hornbill Haka หรือท่าทางที่คล้ายกับการเต้นฮากาของทีมชาตินิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ หนึ่งในทีมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกกีฬารักบี้

 

Photo: Goal Thailand

 

โดยทาง Goal Thailand ได้รายงานว่า อนุรุทธิ์ นาคาศัย รองประธานสโมสร ชัยนาท ฮอร์นบิล แจงที่มาการทำ Hornbill Haka ก่อนลงสนามว่า คือการสร้างความฮึกเหิมให้กับนักเตะให้กับลูกทีม รวมถึงการทำฮากานั้นมีส่วนคล้ายกับโขนของไทย จึงได้ตั้งชื่อว่า หนุมานออกศึก

 

“เรามองว่าคล้ายกับโขนของไทยเราในบางมุมมอง เราจึงตั้งชื่อภาษาไทยว่า ‘หนุมานออกศึก’ เราต้องการสร้างสีสันให้กับฟุตบอลไทยลีก แม้จะเป็นการเลียนแบบจากทีมรักบี้ออลแบล็กส์ ทีมชาตินิวซีแลนด์ก็ตาม แต่เราหวังว่าจะสร้างความฮึกเหิม ความเป็นหนึ่งเดียว ให้กับลูกทีมของเราได้เป็นอย่างดี”

 

แต่การทำฮากาแท้จริงแล้วสำหรับนิวซีแลนด์มีความหมายว่าอะไร และมีกี่รูปแบบ วันนี้ THE STANDARD จะพาคุณไปหาคำตอบกัน

 

ฮากา วัฒนธรรมการเต้นบูชาพระเจ้าของชนเผ่าเมารี

 

 

กลุ่มควันลอยขึ้นจากกลุ่มนักกีฬาที่มุ่งมั่นจะข่มขู่คู่แข่งก่อนเสียงนกหวีดจะเริ่มขึ้น พวกเขามองคู่ต่อสู้ด้วยความดุดัน ทั้งที่บางคนอาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

 

Ka Mate เสียงของผู้นำเริ่มต้นขึ้น นักกีฬาทั้งทีมในชุดสีดำเริ่มทำท่าตาม โดยเริ่มต้นตีแขนใส่ขาตามคำของผู้นำ และการเต้นฮากาของออลแบล็กส์ รักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ได้เริ่มต้นขึ้น

 

Ka Mate Ka Mate Ka ora Ka ora

พวกเราจะตาย พวกเราจะมีชีวิต

 

Tenei te tangata puhuru huru

คนคนนี้คือคนที่ขนดกมาก

 

Nana nei I tiki mai

คนที่คว้าพระอาทิตย์มาได้

 

Whakawhiti te ra

และทำให้พระอาทิตย์ส่องสว่างได้อีกครั้ง

 

A upa…ne! ka upa…ne!

ก้าวออกมา ก้าวออกมา และพระอาทิตย์จะส่องแสงอีกครั้ง

 

Ka Mate นับเป็นฮากาของนิวซีแลนด์ออลแบล็กส์ที่โด่งดังที่สุด เนื่องจากนี่คือฮากาที่ทีมจะทำทุกครั้งก่อนลงแข่งขัน โดยฮากาแบบ Ka Mate นั้นได้ถูกนำมาใช้กับกีฬาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1888

 

ท่าเต้นในยามสงครามของชนเผ่าเมารีที่ถูกนำมาปรับใช้กับกีฬารักบี้ โดยทีม New Zealand Native football team ซึ่งเป็นทีมรักบี้ชุดที่ผสมระหว่างคนขาว และชนเผ่าเมารี เพื่อเดินทางไปแข่งขันรักบี้ที่ประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และ ออสเตรเลีย ก่อนจะถูกนำมาใช้ต่อในทีมออลแบล็กส์ รักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์เมื่อปี 1905 จนถึงปัจจุบัน

 

 

ภาพทีม New Zealand Native football team ที่ประเทศอังกฤษ ช่วงระหว่างปี 1888-1889

 

โดยมีความเชื่ออยู่สองเหตุผลที่ต้องทำการเต้นฮากาก่อนเข้าสู่การสู้รบว่า หนึ่งเพื่อข่มขู่ศัตรู ด้วยหน้าตาท่าทางที่น่ากลัว ตั้งแต่ทำตาโตและแลบลิ้นใส่พร้อมกับเสียงคำราม รวมถึงกระแทกอาวุธเข้าหากัน

 

เหตุผลที่สองเพื่อกำลังใจ เพราะพวกเขาเชื่อว่ากำลังร้องขอพรจากพระเจ้าให้ลงมาช่วยให้คว้าชัยชนะในการต่อสู้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเต้นฮากาก็ได้มีความหมายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

 

นอกจากการใช้ในยามสงครามฮากายังหมายถึงความแข็งแกร่งของแต่ละชุมชน ในประเทศนิวซีแลนด์ เราจะได้พบว่ามีการแสดงฮากาในพิธีการสำคัญต่างๆ นอกสนามรักบี้ เช่น งานแต่งงาน งานศพ และงานท้องถิ่นต่างๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการแสดงฮากา ทุกคนจำเป็นต้องมีความจริงจังและให้ความเคารพ

 

Ka Mate Haka ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

 

 

สำหรับในโลกกีฬาแล้ว ฮากาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Ka Mate ซึ่งก็คือฮากาเดียวกับที่ทีมชัยนาท ฮอร์นบิล ทำเมื่อคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

Ka Mate เป็นฮากาที่ทีมออลแบล็กส์ทำทุกครั้งก่อนลงแข่งขัน ฮากานี้ถูกเขียนขึ้นโดย Te Rauparaha หัวหน้าเผ่า Ngāti Toa หลังจากที่เขาหลุดรอดจากการตามล่าของชนเผ่าศัตรู Ngāti Maniapoto โดยหนีไปหลบซ่อนอยู่ในที่เก็บอาหาร

 

ซึ่งหลังออกมาจากที่หลบซ่อนเขาได้พบกับแสงสว่างและชนเผ่าที่เป็นมิตร ก่อนจะทักทายกันด้วยคำว่า Ka Mate, Ka Mate! Ka Ora Ka Ora ที่แปลว่า “ผมอาจจะตาย ผมอาจจะตาย ผมอาจจะมีชีวิตอยู่ต่อ ผมอาจจะมีชีวิตอยู่ต่อ”

 

และประโยคสุดท้ายคือ “Ā, upane, ka upane, whiti te ra! Hi!” ซึ่งแปลว่า “ก้าวออกมา และพระอาทิตย์จะส่องแสง”

 

Kapa O Pango Haka สำหรับเกมพิเศษ

 

 

ฮากามีหลากหลายรูปแบบสำหรับทีมชาตินิวซีแลนด์แต่ละชุด แต่สำหรับทีมชาตินิวซีแลนด์รักบี้ชุดใหญ่หรือออลแบล็กส์มีอยู่สองแบบ แบบแรกคือ Ka Mate ที่จะใช้ในเกมปกติทั่วไปทุกเกม แต่เมื่อถึงรอบชิงชนะเลิศ หรือแมตช์ที่มีความสำคัญ เราจะเห็นฮากาที่มีชื่อว่า Kapa O Pango ซึ่งถูกเขียนขึ้นครั้งแรกในปี 2006 โดย Derek Lardelli นักเขียนฮากา

 

 

Kapa O Pango kia whakawhenua au I ahau!

Hi aue ii!

Ko Aotearoa e ngunguru nei!

Au, au aue ha!

Ko Kapa O Pango e ngunguru nei!

Au, au, aue ha!

I ahaha!

Ka tu te ihiihi

Ka tu te wanawana

Ki runga ki te rangi e tu iho nei, tu iho nei ihi!

Ponga ra!

Kapa O Pango, aue hi!

Ponga ra!

 

ซึ่งความหมายของ Kapa O Pango คือ

ออลแบล็กส์ เราจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดิน

นี่คือแผ่นดินที่กำลังสั่นสะเทือน

นี่คือเวลาของพวกเรา

นี่คือสิ่งที่บอกว่าเราคือ ออลแบล็กส์

นี่คือเวลาของพวกเรา

ความเหนือกว่าของพวกเราจะคว้าชัยชนะมาได้

และทุกอย่างจะถูกแสดงออกมา และอยู่สูงขึ้นไป

Silver Fern (ต้นไม้ท้องถิ่นนิวซีแลนด์ที่เป็นสัญลักษณ์ของออลแบล็กส์)

All Blacks

Silver Fern

All Blacks

 

เมื่อฮากาแบบ Kapa O Pango ได้ถูกแสดงครั้งแรกต่อหน้าทีมชาติออสเตรเลีย คู่แข่งสำคัญในโลกรักบี้ John Connolly โค้ชทีมชาติออสเตรเลียได้เรียกร้องให้แบนฮาการูปแบบนี้ เนื่องจากมีการทำท่าปาดคอ

 

นอกจากนี้มุมมองของแต่ละทีมที่มีต่อฮากาต่างแบ่งออกเป็นสองฝั่ง โดยฝั่งที่สนับสนุนมองว่านี่เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้คนหันมาสนใจรักบี้และเป็นเอกลักษณ์ของทีมชาตินิวซีแลนด์ที่ต้องรักษาไว้

 

ขณะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการทำฮากาเป็นการสร้างความได้เปรียบทางด้านจิตวิทยา เนื่องจากนักกีฬาอีกฝั่งจะรู้สึกว่าถูกข่มขู่ก่อนลงสนาม แต่อย่างไรก็ตาม ทีมชาตินิวซีแลนด์ก็ยังสามารถทำฮากาได้ต่อเนื่อง โดยยังไม่มีการเรียกร้องอย่างเป็นทางการในการยกเลิกการทำฮากา

 

 

สำหรับชาวนิวซีแลนด์แล้ว ฮากาคือความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของประเทศ และทุกครั้งที่มีการทำฮากา ไม่ว่าจะเนื่องในโอกาสพิเศษใดก็ตาม ทุกคนจะทำอย่างพร้อมเพรียงกันด้วยความภาคภูมิใจ

 

เนื่องจากฮากาเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความน่าเกรงขาม และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าความหมายของชัยชนะจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ความมุ่งมั่นที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านี้ จะยังคงอยู่คู่กับชนเผ่าเมารี และชาวนิวซีแลนด์ตลอดไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X