×

หลัง 13 ตุลาคม 2559: ภาพจำในหลวง ร.9 ในเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคต

12.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read

ภาพความทรงจำภาพสุดท้ายของในหลวง ร.9 สำหรับปวงชนชาวไทยคือภาพใดบ้าง

 

เหตุที่ถามเช่นนี้ เพราะตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ก่อให้เกิดภาพจำมากมาย เปลี่ยนไปตามบริบทและช่วงเวลา นัยทางสังคม การเมือง ปวงพสกนิกรต่างมีภาพจำต่อพระราชาของแผ่นดิน บ้างเหมือนกัน บ้างไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการรับรู้ และพระมหากรุณาธิคุณที่ตนได้มีโอกาสได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส

 

อีกวิธีหนึ่งที่จะมองหาภาพจำภาพสุดท้ายของพระองค์คือ การศึกษา ‘เพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคต’

 

ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน บุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยต่างพร้อมใจกันประพันธ์เพลงถวายมากกว่า 400 บทเพลง นี่เป็นตัวเลขเฉพาะที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลไว้ได้ ยังมีจำนวนมากกว่านี้ รอรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

 

ขณะที่หนังสือรวบรวมบทเพลงที่จัดทำโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในชื่อ ‘บทเพลงจากดวงใจแด่ในหลวง ร.9’ ก็ ‘เลือก’ รวบรวมบทเพลงไว้เพียงร้อยกว่าเพลงเท่านั้น

 

บทความชิ้นนี้พิจารณายอดการเข้าชมของบทเพลงทั้งหมด และจัดลำดับใหม่เป็น 10 บทเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคตที่ถูกเปิดฟังบ่อยที่สุด

 

หลังจากนั้นหยิบมาศึกษา โดยการมองหาภาพจำภาพสุดท้ายของในหลวง ร.9 ด้วยเชื่อว่า บทเพลงที่ถูกเปิดฟังบ่อยที่สุดเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นภาพจำ อารมณ์ความรู้สึก และคำสัญญาของปวงพสกนิกรชาวไทยหลังการสูญเสียที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย  

 

 

เพลงเฉลิมพระเกียรติเพลงหนึ่งได้รับความนิยมด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งศิลปินชื่อดัง ค่ายที่ผลิต ท่วงทำนองที่ติดหูได้ง่าย การเข้าถึงในช่องทางต่างๆ แต่หนึ่งในปัจจัยที่ควรแก่การหยิบมาสนทนาคือ ‘วิธีการเล่าเรื่อง’ ของแต่ละบทเพลง ซึ่งไม่เหมือนกัน และนำเสนอภาพจำที่แตกต่างกัน

 

จากการศึกษาบทเพลงเฉลิมพระเกียรติทั้ง 10 เพลง ทำให้พบว่า 3 ภาพจำของในหลวง ร.9 ที่ได้รับการจดจำและสะท้อนผ่านบทเพลงมากที่สุดคือ

  1. ภาพจำของพ่อที่ทำงานหนัก พ่อที่ไม่เคยละทิ้งประชาชน และพ่อที่รักลูก
  2. ภาพจำในฐานะแบบอย่างของความดี คำสอนเรื่องความสามัคคี
  3. ภาพจำในฐานะพระราชาที่ไม่เหมือนในนิทาน

 

ภาพจำ: พ่อของคนไทย

พ่อภูมิพล

 

 

 

ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่ผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติมากที่สุดในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยเป็นจำนวนกว่า 18 เพลงในเวลาร่วม 20 ปี หลังการสวรรคตเพียง 4 วัน แอ๊ดประพันธ์เพลง พ่อภูมิพล นำเสนอภาพจำหลักในฐานะพ่อของแผ่นดิน ซึ่งเป็นทั้งนักเดินทางเพื่อไปแก้ไขปัญหาของประชาชน ผู้นำทางความคิด และความหวังของคนไทย ทั้งยังยกย่องเป็นจอมกษัตริย์นักปราชญ์ ผู้หยาดเหงื่อหลั่งรดโลมดิน

 

พ่อท่องไปใกล้ไกลทุกถิ่น เหยียบพื้นดินทุกตารางนิ้ว

จากยอดดอยยอดภูสูงลิ่ว ถึงชายเลนชายป่าโกงกาง

นำแนวทางที่คิดไว้ก่อน เข้าไปสอนไปบอกไปสร้าง

แก้ปัญหาให้อย่างถูกทาง นำความหวังสู่สังคมไทย

– พ่อภูมิพล

 

 

พ่อที่ทำงานหนัก ย่ำอยู่กลางป่าเขา

 

 

 

บทเพลง ฟ้าร้องไห้ เขียนเนื้อร้องโดยศิลปินแห่งชาติ ชลธี ธารทอง บทเพลงนี้โดดเด่นในการบรรยายถึงความทุกข์ในหัวใจคนไทย ‘ขาดพ่อเหมือนเรือถ่อหัก เราจงรักสามัคคีกันไว้’ นำเสนอภาพจำในฐานะพ่อที่ทำงานหนักเพื่อประชาชน

 

พ่อเหนื่อยมานานนัก

งานหนักไม่ค่อยได้พักผ่อน

พันยอดดอยร้อยทุ่งนาป่าดอน

พ่อห่วงหาอาทร พสกนิกรของพ่อ

– ฟ้าร้องไห้

 

 

 

สอดคล้องกับบทเพลง รักพ่อไม่มีวันพอเพียง ที่นำเสนอภาพจำในฐานะพระราชาที่ย่ำอยู่กลางป่าเขา ทำงานหนัก และหากยังทรงพระชนม์อยู่ ก็คงจะไม่หยุดทำงานเพื่อประชาชน

 

พระราชาที่ย่ำอยู่กลางป่าเขา

คล้องกล้องถ่ายรูปอันเก่า ในมือพ่อถือแผนที่

สี่พันโครงการพ่อทำมานานกว่าเจ็ดสิบปี

หากยังอยู่วันนี้ พ่อคงยังทำงานต่อ

– รักพ่อไม่มีวันพอเพียง

 

พ่อไม่เคยทิ้งประชาชน

 

 

 

บทเพลง เหตุผลของพ่อ ประพันธ์ขึ้นในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งจนถึงวันนี้ ธงไชยได้มีโอกาสขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติในโอกาสสำคัญต่างๆ ร่วม 12 เพลง เสียงร้องของธงไชยถ่ายทอดจิตวิญญาณของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี แทบทุกเพลงซึมลึกในสำนึกแห่งความภักดีของคนไทยโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่ ต้นไม้ของพ่อ, ของขวัญจากก้อนดิน, รูปที่มีทุกบ้าน, ตามรอยพระราชา, ในหลวงในดวงใจ, คือสายใย, ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์, สายใยแผ่นดิน, รักที่ยิ่งกว่ารัก, รัตนราชกุมารี จนมาถึง เหตุผลของพ่อ

 

เหตุผลของพ่อ เผยแพร่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2561 หรือเพียง 2 วันก่อนการสวรรคต นับเป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติเพลงสุดท้ายที่ถูกประพันธ์ถวายในแผ่นดินเก่า เนื้อเพลงเล่าถึงระยะเวลา 70 ที่ทรงครองราชย์ว่าเป็น

 

70 ปี พ่อไม่เคยทิ้งประชาชน

70 ปี ที่พ่อทำงานมานานหนักหนา

70 ปี ที่ลูกสำนึกตลอดมา

เป็นบุญหนักหนาที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย

– เหตุผลของพ่อ

 

นอกจากนำเสนอภาพจำในฐานะพ่อที่ไม่เคยละทิ้งประชาชน ยังนำเสนอภาพจำในฐานะพ่อที่รับฟังเสียงของประชาชนอยู่เสมอ เหมือนเนื้อเพลงที่ว่า ‘เสียงเล็กๆ ของประชาชน สำหรับใครหลายคนคงไม่มีความหมาย แต่ใครกันที่ได้ยิน แต่ใครกันที่เข้าใจ คิดถึงพ่อทีไรก็ตื้นตันใจทุกที

 

พ่อที่รักลูก

 

 

 

ภาพจำของพ่อที่รักลูกและห่วงในประชาชนอยู่ทุกลมหายใจ ปรากฏใน 2 บทเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางคือบทเพลง ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 ขับร้องโดย เสก โลโซ นักร้องเพลงร็อกชื่อดัง และ เรื่องเล่าของพ่อ ขับร้องโดย ไหมไทย หัวใจศิลป์ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ทั้ง 2 เพลงอยู่ในลำดับที่ 8 และ 10 ในจำนวนบทเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคตที่ถูกเปิดฟังบ่อยที่สุด

 

ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9

ฉันเกิดบนพื้นแผ่นดินไทย

อยู่ใต้ร่มพระโพธิสมภาร

มีพ่อหลวงยึดเหนี่ยวหัวใจ

ท่านทรงรักและห่วงใยประชาชน

– ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9

 

 

 

จะเก็บตำนานชั่วกัปชั่วกัลป์ ไว้เป็นเรื่องราว

ลูกเกิดแผ่นดิน ร.9 พ่อของเราชื่อภูมิพล

ทุกคำพ่อสอน ให้รู้ค่ารู้ประมาณตน

พ่อรักลูกๆ ทุกคน พ่อคงอยากเห็นคนไทยรักกัน

– เรื่องเล่าของพ่อ

 

ทั้งสองเพลงยังมีการแทรกคำขวัญ ‘ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9’ และ ‘ลูกเกิดในแผ่นดิน ร.9’ ลงในบทเพลง ความสำคัญของวลีนี้เห็นได้จาก ถือเป็นวลีที่ผลิตซ้ำอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะผ่านเสื้อ ป้ายประกาศ สติกเกอร์ติดรถ ฯลฯ

 

 

ในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทย นอกจากปรากฏคำขวัญนี้ในฐานะชื่อเพลง เนื้อเพลงก็ยังปรากฏเป็นชื่อและธีมของละครโทรทัศน์ เช่น เราเกิดในรัชกาลที่ 9 เดอะซีรีส์ ที่ผลิตโดยช่อง One ซึ่งถือเป็นละครเฉลิมพระเกียรติขนาดยาวเรื่องแรกที่ผลิตขึ้นหลังการสวรรคต โดยใช้เวลาในการผลิตไม่นาน เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการสวรรคตอย่างกว้างขวาง โดยระดมบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยเข้ามาร่วมแสดง และมีส่วนร่วมในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก ละครเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ เจ้าของผลงาน สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล และในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ถกลเกียรติยังร่วมรำลึกถึงการเสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยละครเวทีเรื่องใหม่ Still On My Mind The Musical ที่จะเปิดทำการแสดงที่เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์อีกด้วย

 

 

ภาพจำ: แบบอย่างของความดี-คำสอนเรื่องความสามัคคี

 

 

 

บทเพลงที่ถูกเปิดฟังบ่อยที่สุดคือ เล่าสู่หลานฟัง ประพันธ์โดยนักแต่งเพลงลูกทุ่งชั้นครู สลา คุณวุฒิ ยอดรวมการเข้าชมของเพลงนี้ เฉพาะเวอร์ชันที่ขับร้องโดย ต่าย อรทัย, สลา คุณวุฒิ, รวมศิลปินหญิง (ศิริพร, ต่าย อรทัย, หญิงลี, ตั๊กแตน ชลดา, รัชนก, เปาวลี) รวมกันคือมากกว่า 40 ล้านวิว

 

เล่าสู่หลานฟัง ดำเนินเรื่องด้วยภาษาอีสานธรรมดาทั่วไป เล่าเรื่องแบบชาวบ้าน สื่อแทนความรู้สึกชาวบ้านทั่วไปได้จับใจ นำเสนอภาพในหลวง ร.9 ในฐานะแบบอย่างของความดี-คำสอนเรื่องความสามัคคี หากคนไทยเดินตามคำสอนเหล่านี้ก็จะผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้อยู่เสมอ

สิบอกฮักจังใด๋ บอกรักอย่างไร ให้พ่อได้ยิน

เสียงร้องไห้ของคนบนดิน ได้ยินถึงฟ้าหรือไม่

สิทำความดี รักสามัคคี ที่พ่อสอนไว้

เป็นวิธีบอกรักส่งไปถวายบุญใหญ่ให้พ่อบนสวรรค์

– เล่าสู่หลานฟัง

 

 

 

บทเพลง ลูกขอสัญญา ขับร้องโดยวงดนตรีเพลงร็อกที่โด่งดังที่สุดของไทยอย่าง Big Ass, ตูน บอดี้สแลม, เมธี Labanoon, Vietrio เพลงนี้เป็นเพลงไทย-สากลไม่กี่เพลงที่บรรยายถึงความเศร้าของคนไทยได้ลึกซึ้ง ด้วยประโยค ‘กล้ำกลืนสุดเกินบรรยาย’ ‘แผ่นดินที่เคยสดใสก็พลันกลับกลายเป็นมืดมน ที่ได้เคยเตรียมใจเอาไว้ แท้จริงโหดร้ายจนเกินจะทน น้ำตาหลั่งรินไหลลง หัวใจสลาย’ หรือ ‘ในค่ำคืนที่ดาวอับแสง เชื่อว่าพ่อนั้นยังมองกลับมา สองมือจะปาดน้ำตา จะลุกเดินต่อไป’ ซึ่งโดยปกติเพลงลูกทุ่งจะบรรยายถึงความเศร้าได้ลึกซึ้งกว่า เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่นำเสนอภาพจำในหลวง ร.9 ในฐานะแบบอย่างของความดี

 

พวกเราจะทำความดีให้มากกว่านี้

พวกเราจะรักและสามัคคีกันไปจนวันสุดท้าย

และเราจะเดินเคียงกัน ข้ามคืนและวันที่โหดร้าย

เพียงหวังให้พ่อสบายใจ วันนี้ลูกขอสัญญา

– ลูกขอสัญญา

 

 

 

อีกเพลงที่นำเสนอภาพจำในหลวง ร.9 ในฐานะศูนย์รวมความสามัคคีของคนไทย ก็คือเพลง ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ ประพันธ์โดยครูสลา คุณวุฒิ ผู้ประพันธ์คนเดียวกับเพลง เล่าสู่หลานฟัง

 

โอ้น้อ คนไทยเอย กลั้นใจกลืนความเศร้า

หลอมใจเฮาเว้ากันใหม่ เอาพ่อคืนบ่ได้

เฮาต้องอยู่ให้ได้ แข็งใจต้านผ่านระทม

หลอมใจเคยติดหล่ม ผสมไทยให้หมั่นแก่น

เติมความฮักทดแทน พาแผ่นดินหย่างก้าว

ได้ยินบ่ เพื่อพ่อเฮา เพื่อพ่อเฮา

– ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ

 

ภาพจำ: พระราชาที่ไม่เหมือนในนิทาน

 

 

 

ภาพจำของในหลวง ร.9 ที่ปรากฏในเพลง พระราชาในนิทาน ถูกเล่าขนานระหว่าง ภาพจำของพระราชาในนิทานกับภาพจำของในหลวง ร.9 ในประเทศไทย ตั้งแต่ ‘เขาบอกพระราชา ที่อยู่ในนิทาน จะใส่มงกุฎอันแสนสวยงาม แต่ว่าราชาของฉัน เวลาออกไปทำงาน มีเพียงหมวกเล็กๆ แค่หนึ่งใบ’ พระราชาในนิทานจะรายล้อมด้วยคนรับใช้ นั่งอยู่บนบัลลังก์ ใส่เสื้อคลุมหนัง บนยอดปราสาทเสียดฟ้า ‘แต่ว่าราชาของฉัน ทรงเดินอยู่บนผืนหญ้า เก้าอี้ของพระราชาคือพื้นดิน

 

บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ รูปที่มีทุกบ้าน ที่ประพันธ์โดย นิติพงษ์ ห่อนาค นักประพันธ์เพลงเฉลิมพระเกียรติคนสำคัญของไทย เคยเปรียบเทียบในหลวง ร.9 เป็น ‘เทวดาที่มีลมหายใจ’ ในเพลงนี้เปรียบเทียบเป็น ‘เทวดาเดินดิน’  

 

เขาบอกพระราชามาจากบนสวรรค์

ได้ฟังอย่างนั้น ฉันรู้มันคือความจริง

เพราะว่าราชาของฉันคือเทวดาเดินดิน

ไม่เหมือนที่เคยได้ยินจากนิทาน

– พระราชาในนิทาน

 

 

บทสรุป: ‘คำสัญญา’ ในเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคต

 

https://www.youtube.com/watch?v=d8hwdGJYXFw

 

งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอ ‘ภาพจำ’ ของในหลวง ร.9 ในบทเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคตว่ามีอยู่ 3 ภาพสำคัญคือ ภาพจำของพ่อ ภาพจำในฐานะแบบอย่างของความดี และภาพจำในฐานะพระราชาที่ไม่เหมือนในนิทาน  

 

ซึ่งสอดคล้องกับ ‘คำสัญญา’ ที่ปรากฏในเพลงซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ  

  1. ทำดี: ‘ตามรอยความดี’ ‘ลูกจะทำแต่ความดี เหมือนที่พ่อเคยสอนมา เพื่อให้พระราชาหลับสบาย’ ‘จะเป็นคนดีของพ่อและประเทศไทย’  
  2. สามัคคี: ‘พวกเราจะรักและสามัคคีกันไปจนวันสุดท้าย’
  3. พอเพียง: ‘ลูกขอก้าวตามดั่งคำสอนพอเพียง’
  4. ตามรอย: ‘ตามรอยพระยุคลบาท’ ‘ฉันจะเป็นพลังของไทยตลอดกาล’

 

นอกจากนี้ หลังการสวรรคตของในหลวง ร.9 ยังทำให้บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ ในหลวงพระองค์ใหม่จำนวนหนึ่ง เน้นประพันธ์โดยการเชื่อมโยงสองรัชกาลเข้าด้วยกัน ชี้ให้เห็นความต่อเนื่อง ความเป็นปึกแผ่น ความเป็นเนื้อเดียวกันของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โครงการพัฒนาต่างๆ จะได้รับการสานต่อในรัชกาลใหม่ และสายสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่และพสกนิกรก็จะมั่นคงดังเดิม  

 

เช่นในเพลง รัชกาลที่ 10 ราชาทรงพระเจริญ ที่มีคำร้องว่า ‘แผ่นดินนี้รัชกาลที่ 10 ให้สัญญาพ่อภูมิพล ไม่ทิ้งประชาชนของพระองค์ราชันย์’ หรือเพลง เทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระบรม ที่มีคำร้องว่า ‘ต่อยอดจากจอมราชา’ ‘สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระราชบิดา’ และ ‘รู้กันทั่วหล้า พระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรไทยต่างจากราชาในเทพนิยาย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X