×

การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของฮ่องกง เมื่อสถานะ ‘ศูนย์กลางการเงิน’ อาจไม่เพียงพอสำหรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

28.06.2024
  • LOADING...
ฮ่องกง ศูนย์กลางการเงิน

หลายสิบปีที่ผ่านมา เครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่เป็นภาพจำของเกาะฮ่องกงก็คงหนีไม่พ้น ‘ศูนย์กลางการเงิน’ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกเปลี่ยน ฮ่องกงเองก็จำต้องปรับตัวและเป็นให้มากกว่าแค่สถานะเดิม สถานะที่เคยทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ประสบความสำเร็จมาในอดีต

 

รายงานล่าสุดของ Global Financial Centres Index ฉบับที่ 35 เผยว่า ฮ่องกงอยู่อันดับที่ 4 ของดัชนี โดยในเอเชียนั้นถือว่าฮ่องกงยังตามหลังสิงคโปร์ที่ตอนนี้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคมาระยะหนึ่งแล้ว

 

หนึ่งในสาเหตุที่นักลงทุนบางกลุ่มเลือกที่จะให้ความสำคัญกับสิงคโปร์มากขึ้นนั้นมาจากความกังวลในส่วนของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมากขึ้น และวลีที่ว่า ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ นั้นก็ทำให้บริษัทข้ามชาติบางกลุ่มเกิดคำถามกับประเด็นความเชื่อมั่นของเกาะฮ่องกง และตัดสินใจกระจายการลงทุนภาคการเงินไปยังหัวเมืองประเทศอื่นมากขึ้น

 

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ฮ่องกงจึงต้องปรับตัว และเป็นการปรับตัวที่ไม่เพียงแต่สะท้อนเทรนด์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล แต่ยังเป็นการปรับตัวเพื่อใช้จุดแข็งของตัวเองในฐานะจุดเชื่อมต่อด้านธุรกิจระหว่างจีนและคู่ค้าในประเทศต่างๆ โดยในตอนนี้ฮ่องกงเบนเข็มไปเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยการให้ผลประโยชน์ทางภาษีและเงินทุนสำหรับทำธุรกิจเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของเกาะเดินหน้าต่อได้

 

THE STANDARD WEALTH ได้คุยกับ Simon Chan ประธานกรรมการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Cyberport) ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลฮ่องกงถึงแผนการผลักดันฮ่องกงให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจยุคดิจิทัลของภูมิภาค

 

 

เป้าหมายต่อไปของฮ่องกงคือการรีแบรนด์ภาพลักษณ์ตัวเองในเวทีโลกให้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดย Cyberport มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมกำลังจากทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน รวมถึงภาควิชาการ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน

 

Simon เล่าว่า “รัฐบาลฮ่องกงเดินหน้าสนับสนุนเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ โดยจัดตั้งโครงการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ด้วยเงินกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งยังพัฒนาความต้องการในตลาดให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทั้งฝ่ายผู้ขายกับผู้ซื้อมีจุดที่สมดุลกัน”

 

นอกจากนี้ ในปี 2022 ทาง Cyberport ยังเปิดตัวโครงการพัฒนาบุคคลตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาให้มีการเรียนการสอนที่เน้นทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์ (STEAM) โดยสตาร์ทอัพในเครือข่าย Cyberport จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อนำไปต่อยอดในชั้นเรียนได้

 

แต่ฝันที่ทะเยอทะยานของฮ่องกงนั้นจะไม่ได้มีเพียงแค่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ที่ทำทุกอย่างแค่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และหัวเมืองบริเวณอ่าวกวางตุ้งอีก 9 แห่ง หรือเรียกรวมๆ ว่า Greater Bay Area (GBA) ซึ่งจะถูกใช้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีฮ่องกงเป็นประตูเชื่อมจีนสู่โลก

 

“สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนในสองปีที่ผ่านมา คือการเข้ามาทำธุรกิจในฮ่องกงจากบริษัทต่างชาติและบริษัทจีนที่ต้องการจะขยายธุรกิจออกนอกประเทศ ซึ่งทั้งหมดมีประมาณ 90 รายที่มาตั้งสำนักงาน ณ Cyberport นี่ถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจในการสร้างเครือข่ายการค้าของจีนกับโลกโดยมีฮ่องกงเป็นตัวเชื่อมต่อ” Simon กล่าว

 

แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนรวมทั้งธุรกิจบางกลุ่มเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศอื่น แต่โครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจของฮ่องกงก็ยังคงเปิดรับการลงทุนจากบริษัททั่วโลกด้วย ซึ่งมีอิสระกว่าในจีน มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลเป็นของตัวเอง และมีระบบภาษีที่น่าดึงดูดสำหรับการทำธุรกิจ

 

สำหรับเทคโนโลยีที่ฮ่องกงเน้นพัฒนานั้นก็ไม่ได้หนีไปจากเทรนด์โลก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, หรือ Internet of Things (IoT) ที่จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญกับสมาร์ทซิตี้ แต่พวกเขาเองก็ยังไม่ได้ทิ้งอุตสาหกรรมเดิมที่เคยพาฮ่องกงประสบความสำเร็จ เพียงแค่ปรับเสริมด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาต่อยอดเพื่อปลดล็อกนวัตกรรมใหม่ และนั่นก็คือ FinTech

 

การตัดสินใจพลิกโฉมประเทศครั้งนี้ของฮ่องกงเป็นสิ่งที่ Simon มองว่าเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก เพราะแม้ว่าจะเสี่ยงแต่การยึดติดความสำเร็จเดิมก็อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป หากฮ่องกงยังต้องการที่จะรักษาสถานะความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจทั้งในอาเซียน เอเชีย และเวทีโลก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X