วานนี้ (19 มีนาคม) สภานิติบัญญัติของฮ่องกงมีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เรียกว่า ‘มาตรา 23 (Article 23)’ กำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อความมั่นคง เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อกบฏ และจำคุกสูงสุด 20 ปีฐานขโมยความลับของรัฐ
การผ่านกฎหมายฉบับนี้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่กัดกร่อนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง โดยสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรปเตือนว่าอาจเป็นการบั่นทอนเสรีภาพในฮ่องกง
รัฐบาลฮ่องกงยืนยันว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ มีความจำเป็นต่อเสถียรภาพของฮ่องกง
ขณะที่ ติงเสวี่ยเซียง (Ding Xuexiang) รองนายกรัฐมนตรีของจีน ชี้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะปกป้อง ‘ผลประโยชน์หลักของชาติ’ และช่วยให้ฮ่องกงสามารถมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มตัว
จอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ยกย่องการผ่านกฎหมายดังกล่าวว่าเป็น “ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ประชาชนฮ่องกงรอคอยมากว่า 26 ปี” โดยเขาเตรียมลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่นี้ในวันที่ 23 มีนาคม
ด้าน ฟอลเคอร์ เติร์ก (Volker Turk) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามการผ่านกฎหมายมาตรา 23 แบบเร่งรีบ โดยวิจารณ์ว่ากฎหมายที่ทำให้การปกป้องสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง ‘ก้าวถอยหลัง’
รู้จักกฎหมาย ‘มาตรา 23’
สำหรับกฎหมายมาตรา 23 นั้นเป็นกฎหมายที่ขยายจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเดิม (Hong Kong National Security Law) ที่บังคับใช้โดยรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งมีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย ก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติในฮ่องกง
โดยเนื้อหาสำคัญของกฎหมายมาตรา 23 คือบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดหลายสิบรายการครอบคลุมใน 5 หมวดหมู่ ได้แก่
- การก่อกบฏ
- การก่อจลาจล
- การขโมยความลับของรัฐและการจารกรรม
- การก่อวินาศกรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
- การแทรกแซงจากภายนอก
ลียืนยันว่า กฎหมายมาตรา 23 มีความจำเป็นเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรมและการปลุกกระแสคลื่นใต้น้ำเพื่อพยายามสร้างปัญหา โดยเฉพาะจากแนวคิด ‘การเป็นเอกราชของฮ่องกง’
ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงมีความพยายามนำกฎหมายมาตรา 23 มาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 2003 แต่ต้องยกเลิกไปหลังชาวฮ่องกงหลายแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงใหญ่ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้
ภาพ: Joyce Zhou / REUTERS
อ้างอิง: