จากรายงาน ‘Retail Investor Research 2023’ ของภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกงโพลีเทคนิค เพื่อสำรวจพฤติกรรมการลงทุนของคนฮ่องกง เผยว่า นักลงทุนกว่า 75% ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโตเคอร์เรนซีต่างหวังผลตอบแทนกันแค่ในระยะสั้น ไม่ก็แค่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทรนด์นี้เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์แล้วพลาดโอกาสแบบที่คนอื่นได้กัน หรือที่เรียกว่า ‘FOMO’ (Fear of missing out) ก็เท่านั้น
จากแบบสำรวจดังกล่าวยังพบว่า 74% มองว่า คริปโตเป็นสินทรัพย์ในกระแสที่นักลงทุนต่างมองกันว่ามีโอกาสเติบโตและทำกำไรได้ ในขณะที่ 73% ก็ยังมีความกังวลว่าจะพลาดโอกาสในสินทรัพย์ที่เติบโตแบบคริปโต
โดยในรายงานนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนมากมีรูปแบบความคิดเชิงอคติบางประการต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเรียกว่า ‘Availability’ หรืออคติจากการพึ่งพิงข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะในหน้าสื่อและแหล่งข้อมูลต่างๆ และ ‘Anchoring’ หรืออคติจากการตอกย้ำต่อกันโดยทั่วไปอย่างสม่ำเสมอถึงผลตอบแทนที่คริปโตทำได้ในอดีต
ทั้งนี้ ยังมีอคติอีกหลายประการที่สามารถสังเกตได้ อย่างเช่น อคติแบบ ‘Overconfidence’ ที่เป็นการมีอคติจากการคิดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่นและสามารถเอาชนะตลาดได้ เป็นต้น
โดยในรายงานได้นำอคติเแบบต่างๆ มาจัดเป็นรูปแบบทางความคิด 5 ประการ ได้แก่ การทำตามพฤติกรรมของส่วนรวม ความคิดแบบกลัวงูกัด ความคิดแบบประสบการณ์ส่วนตัว ความคิดโดยอิงสัญชาตญาณ และความคิดแบบหวังว่าตนเองจะโชคดี
แม้ในแบบสำรวจนี้จะประเมินความรู้ด้านการลงทุนของผู้เข้าสำรวจก่อน และพบว่าผู้ทำแบบสำรวจมีความรู้ด้านการเงิน แต่จากการศึกษากลับพบว่าหลายคนยังต้องพัฒนาทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนเพิ่มเติม รวมไปถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อรักษาเงินลงทุนไว้แทนที่จะมุ่งเน้นแต่ผลตอบแทน
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฮ่องกงเพิ่งออกกฎหมายเกี่ยวกับคริปโตที่อนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายคริปโตได้ โดยที่ไม่จำกัดไว้เพียงแค่นักลงทุนสถาบันแต่เพียงอย่างเดียว รวมไปถึงการออกใบอนุญาตให้กับแพลตฟอร์มเทรดคริปโตต่างๆ ในประเทศ
โดยมีแพลตฟอร์มจาก OSL และ HashKey Group เป็นสองบริษัทคริปโตแรกที่ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจากฮ่องกง และได้รับความร่วมมือจากธนาคาร ZA Bank ของฮ่องกงสำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ, ดอลลาร์ฮ่องกง และหยวน) ให้แก่นักลงทุนบนแพลตฟอร์มคริปโตดังกล่าว
อ้างอิง: