‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ วลีเด็ดที่เชื่อว่าเราทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อปลุกความสามัคคีหรือรวมพลังกันในมวลหมู่พรรคพวกเพื่อนฝูง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง ‘Honda และ Nissan’ แบรนด์รถยนต์อันดับ 2 และ 3 ของแดนอาทิตย์อุทัย ที่มีกระแสข่าวว่ากำลังอยู่ระหว่างการควบรวมกิจการ (Merging)
อะไรคือต้นเหตุ และแนวโน้มความเป็นไปได้ของความสำเร็จในการควบรวมกิจการครั้งนี้ THE STANDARD WEALTH รวบรวมข้อมูลมาให้พิจารณาและวิเคราะห์กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย วิเคราะห์เบื้องหลังแบรนด์รถญี่ปุ่น Honda Nissan และ Mitsubishi ดิ้นสู้จนเดินมาถึงจุดเปลี่ยนควบรวมกิจการ?
- ยักษ์ใหญ่ยานยนต์ญี่ปุ่น Honda และ Nissan เตรียมเจรจาควบรวมกิจการ เล็งดึง Mitsubishi ร่วมด้วย
- Nissan ดิ้นรนหาผู้ลงทุนหลัก! เหลือเวลา 12-14 เดือนเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตล้มละลาย พร้อมหวังพลิกเกมรุกตลาดด้วย EV
ประเด็นนี้ถูกเปิดเผยโดยสำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่น ที่ระบุว่า Honda กำลังเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการกับ Nissan และอาจมี Mitsubishi เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยให้เหตุผลว่าเป็นการร่วมกันสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์ทั้งคู่ เพื่อต่อสู้ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากับคู่แข่งอย่าง Tesla และแบรนด์รถยนต์จากประเทศจีน
หลังจากนั้นสื่อต่างๆ ทั่วโลกต่างติดตามข่าวดังกล่าวและมีบทความเพิ่มเติมออกมา อ้างอิงแหล่งข่าวของแต่ละสำนักถึงความเป็นไปได้ ซึ่งรายงานข่าวของแต่ละสื่อต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ แหล่งข่าวไม่ปฏิเสธหรือตอบรับเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไร
แต่หากวิเคราะห์ถือว่ามีความเป็นไปได้สูง เนื่องจาก Honda และ Nissan ประกาศความร่วมมือกันในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และ Mitsubishi เข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วยในช่วงเดือนสิงหาคม เรียกว่าเป็นการผนึกกำลัง 3 ประสานเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
Foxconn ชนวนควบรวม?
อย่างไรก็ตาม ชั่วระยะเวลาไม่ทันข้ามคืน กระแสข่าวใหม่เกี่ยวกับการควบรวมระหว่าง Honda และ Nissan มีประเด็นใหม่ที่น่าสนใจตามออกมา กล่าวคือ ‘Foxconn’ บริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ของไต้หวัน ปรากฏชื่อว่าเข้ามาเป็นชนวนเหตุสำคัญของการควบรวมนี้ ด้วยเหตุจากการเข้ามาเจรจาซื้อหุ้นของ Nissan นัยว่าเป็นการซื้อกิจการ (Takeover)
รายงานข่าวดังกล่าวระบุที่มาจากแหล่งข่าวภายในว่า Foxconn ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นของ Nissan แล้ว แต่โดนปฏิเสธ ขณะที่ฟากฝั่งของ Renault พันธมิตรและอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Nissan หลังจากที่ปรับโครงสร้างการถือหุ้นแล้วเสร็จทำให้มีสัดส่วนเหลืออยู่ประมาณ 15% (ตามการรายงานผู้ถือหุ้นล่าสุดของ Nissan) พร้อมเจรจาซื้อ-ขายหุ้นดังกล่าว จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว
เมื่อ Nissan ไร้ผู้สนับสนุนหลักทางการเงิน ประกอบกับผลประกอบการที่ย่ำแย่ ดังรายงานต่อผู้ถือหุ้นที่ระบุว่า กำไรลดลง 93% ในช่วงครึ่งปีแรก และประกาศแผนงานลดพนักงาน 9,000 คน และลดกำลังผลิต 20%
จึงทำให้ Nissan มีความเสี่ยงต่อการล้มละลาย เหตุลักษณะคล้ายกับช่วงก่อนที่ Renault จะเข้ามาเมื่อปี 1999 ฉะนั้นจำเป็นต้องหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยของ Renault
ซึ่งประเด็นนี้ดูแล้วมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะทำให้ Honda และ Nissan ควบรวมกันอย่างเร่งด่วน เพราะ Nissan เคยมีบทเรียนอันแสนเจ็บปวดจาก Renault มาแล้ว
โดยครั้งนั้นถือว่าเป็นบาดแผลใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น หากปล่อยให้ Nissan เดียวดาย แล้ว Nissan กลายเป็นแบรนด์ของกลุ่มทุนจากไต้หวัน เหมือนความภาคภูมิใจในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นถูกตบหน้าอีกครั้ง
ดังนั้นทางออกด้วยการช่วยเหลือจากแบรนด์ชาติเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ดูสวยงามกว่า เหมือนเพื่อนกำลังจะล้มแล้วเรายื่นมือเข้าพยุงไว้ก่อน มิใช่ยืนดูเพื่อนร่วมชาติล้มแล้วรอดูคนอื่นมาช่วย แต่ดันกลายเป็นว่าโดนแร้งลงมาทึ้งแทน ซึ่งหากคิดจะช่วยตอนนั้นคงทำไม่ทันแล้ว
ประเด็นการพยายามเข้ามาซื้อหุ้น Nissan ของ Foxconn แม้จะมีความพยายามในการยืนยันข้อเท็จจริง แต่ยังไม่มีแถลงการณ์จากผู้เกี่ยวข้องรายใดยืนยันข้อมูลดังกล่าวว่า ‘จริงหรือเท็จ’ ประการใด
แน่นอนด้วยเหตุผลทางด้านกฎหมายที่ทุกบริษัทฯ ซึ่งเข้ามาอยู่ในดีลนี้ล้วนเป็นบริษัทฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฉะนั้นการออกมาประกาศใดๆ ล้วนต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ล่าสุดหลังจากที่มีข่าวออกมา ผลกระทบที่ชัดเจนเกิดขึ้นทันที ตลาดหุ้นขานรับ ราคาหุ้น Nissan พุ่งขึ้นกว่า 20% พร้อมหุ้น Mitsubishi ที่พุ่งตามด้วย สวนทางกับราคาหุ้น Honda ที่ร่วงลงกว่า 3%
นอกจากนั้นผลกระทบอื่นๆ ยังคงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากการควบรวมระหว่าง Honda และ Nissan สำเร็จ นั่นคือเรื่องของโรงงานผลิต เพราะทั้ง 2 แบรนด์ต่างมีโรงงานผลิตอยู่ทั่วโลก
โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีนและอเมริกา ซึ่งคงจะต้องปรับกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับยอดขายเพื่อลดต้นทุนอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งนี้ หากการควบรวมดังกล่าวมี Mitsubishi เข้าไปรวมด้วยจริง จะทำให้ทั้ง 3 แบรนด์กลายเป็นกลุ่มผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจาก Toyota และ Volkswagen Group เท่านั้น
เป็นไปได้มากกว่า 50%
ทั้งนี้ หากให้ประเมินความเป็นไปได้ของการควบรวมกิจการระหว่าง Honda และ Nissan เชื่อว่ามีมากกว่า 50% ด้วยเป็นสถานการณ์ที่วิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย
กล่าวคือปัญหาภายในของ Nissan บางทีจำเป็นต้องใช้คนนอกในการเข้ามาจัดการ ซึ่ง Honda มีความเฉียบขาดในจุดนี้ ส่วน Honda ก็จะได้เครือข่ายโรงงานและเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่ Nissan ถือเป็นผู้บุกเบิกมากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ต่อยอดได้ง่ายขึ้น
นั่นหมายความว่าอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจะมีมากขึ้น ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และจะต้องมีการปรับโครงสร้างต่างๆ ของโรงงานที่กระจายอยู่ทั่วโลกให้มีประสิทธิภาพและสมดุลกับยอดขายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนพนักงานที่ลดลง
เนื่องจากในส่วนของงานหลังบ้าน เมื่อควบรวมกันแล้วแผนก R&D คือหน่วยงานแรกที่น่าจะโดนตัด จากงบ 3 ก้อน 3 ทีม จาก 3 บริษัท สามารถยุบรวมเหลือใช้งานเพียงทีมเดียว งบก้อนเดียว ลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างมาก ส่วนงานฝ่ายบุคคลและเจ้าหน้าที่ธุรการอื่นๆ สามารถยุบและลดจำนวนได้เช่นเดียวกัน
นี่คือแรงกระเพื่อมสำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ว่าได้ บริษัทฯ เมื่อควบรวมกันจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ในส่วนของพนักงานจะลดลง อัตราการจ้างงานลดลง (รัฐบาลจะไม่ชอบ แต่บริษัทจะเริงร่า) ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนไปที่ราคาหุ้น ดังรายงานข้างต้น Nissan ที่ภาพความเชื่อมั่นตกต่ำกลายเป็นดีขึ้นเพราะมีคนมาช่วย ขณะที่ Honda ผู้มาช่วยกระทบเล็กน้อย
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยหากดีลควบรวมสำเร็จ บอกได้เบื้องต้นว่ามีผลอย่างมากแน่นอน เพราะในประเทศไทย Honda มีโรงงานผลิต 2 แห่ง กำลังการผลิตสูงสุด 270,000 คัน โดย Honda กำลังอยู่ระหว่างการปรับลดกำลังการผลิตลงเหลือ 120,000 คัน
Mitsubishi ก็มีโรงงานกำลังการผลิตขนาดใหญ่ระดับ 424,000 คันต่อปี ส่วน Nissan มีกำลังการผลิต 370,000 คัน เรียกว่ากำลังการผลิตเหลือเพียงพอในการดำเนินการผลิตแบรนด์อื่นได้สบาย
เหนือสิ่งอื่นใด มีกระแสข่าวลือจากแหล่งข่าวระบุว่า Nissan Motor Thailand กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ไลน์การผลิตรถใหม่ โดยกำลังการผลิตของ Plant 1 (220,000 คัน) จะถูกยุบ ย้ายไปรวมกับ Plant 2 (150,000 คัน)
เหตุผลมาจากยอดการผลิตที่ลดลง จำเป็นต้องทำเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สอดคล้องกับสภาวะการขายและเป็นไปตามนโยบายที่บริษัทฯ แม่ประกาศออกมา สุดท้ายจะเป็นความจริงดังที่กล่าวมาหรือไม่ ขอให้จับตารอฟังประกาศอย่างเป็นทางการจากบริษัทฯ อีกครั้ง
ทั้งหมดนี้คือการปรับตัวของแบรนด์รถญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ที่รถจีนกำลังบุกเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่ง บอกได้คำเดียวว่าเดิมพันครั้งนี้สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีแค่ ‘อยู่รอด’ หรือ ‘ล้มหาย’ เท่านั้น