194, 250, 334, …, 789 และล่าสุด 967 นั่นคือจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ ‘เตียงเต็ม’ โรงพยาบาลไม่สามารถรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลได้อีก จนส่งผลย้อนกลับไปถึง ‘น้ำยาหมด’ ที่โรงพยาบาลเอกชนใช้อ้างว่าไม่สามารถตรวจหาเชื้อได้ ก็เพราะไม่มีเตียงรองรับถ้าตรวจพบเชื้อขึ้นมา
การแก้ไขปัญหาเตียงเต็มมี 2 วิธี คือ
- โรงพยาบาลสนาม
- การแยกกักที่บ้าน (Home Isolation)
หลายคนน่าจะเคยเห็นภาพการสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จนมาถึงการสร้าง ‘ศูนย์ห่วงใยคนสาคร’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามที่สร้างขึ้นในพื้นที่ของสนามกีฬา วัด หรือสถานที่ของเอกชน เช่น วัฒนาแฟคตอรี่ จำนวน 1,000 เตียง เพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
แต่ถ้าไม่ได้มีการวางแผนเตรียมไว้ก่อน จะต้องใช้เวลาในการสร้างอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (แรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาครในช่วงแรกครบกำหนดแยกกัก 10 วัน ก่อนที่โรงพยาบาลสนามจะสร้างเสร็จ) ผู้ป่วยบางรายในรอบนี้จึงประสบปัญหา ‘เตียงเต็ม’ ทำให้ต้องสังเกตอาการที่บ้านไปก่อน วิธีการนี้เหมาะสมหรือไม่ และมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง
ความเหมาะสมของการแยกกักที่บ้าน
สมมติว่านาย ก. ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วพบว่าเป็นโควิด-19 การดูแลนาย ก. จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
- การรักษา
- การควบคุมโรค
‘การรักษา’ โควิด-19 จะขึ้นกับความรุนแรงของโรค อย่างที่ทุกคนทราบว่าโรคนี้ส่วนใหญ่ (มากกว่า 80%) มีอาการเล็กน้อย จะเป็นการรักษาตามอาการ คือ ถ้ามีไข้ แพทย์ก็จ่ายยาลดไข้ ถ้าไอก็รับประทานยาแก้ไอ ผู้ป่วยบางคนจึงรู้สึกว่าเหมือนไปนอนโรงพยาบาลเล่น ส่วนแพทย์และพยาบาลก็แทบไม่ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มากนัก
แต่ถ้านาย ก. เป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ก็จะเสี่ยงต่ออาการรุนแรง แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัส ส่วนถ้ามีภาวะปอดอักเสบก็จะเริ่มต้องใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งการให้ออกซิเจนชดเชย การใส่ท่อช่วยหายใจ จนถึงเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ซึ่งต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา
ดังนั้น ในแง่ของการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มแรกสามารถรักษาที่บ้านได้ แต่จะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือมีระบบติดตามผู้ป่วยทางไกล ถ้ามีอาการแย่ลง เหนื่อยหอบมากขึ้น จะต้องรีบมาโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยกลุ่มหลังไม่สามารถรักษาที่บ้านได้ ซึ่งแนวทางนี้ไม่ต่างจากโรคอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ แพทย์ก็จะจ่ายยากลับให้ไปสังเกตอาการที่บ้านก่อน พร้อมกับคำแนะนำว่า ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ให้กลับมาพบแพทย์อีกครั้ง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หรือพบภาวะปอดอักเสบ แพทย์ก็จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ครั้งแรกที่มาตรวจ
ส่วนที่ 2 คือ ‘การควบคุมโรค’ เพราะโควิด-19 สามารถติดต่อกันได้ง่าย นาย ก. สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้อีก 2-3 ราย หากจะควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด จึงจำเป็นต้องแยกกัก (Isolation) แยกผู้ป่วยไม่ให้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นไว้จนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ ซึ่งตามแนวทางของกรมการแพทย์คือ 10 วัน หรือ 14 วันถ้าสงสัยว่าติดเชื้อที่มีการกลายพันธุ์
ถ้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะถูกแยกจากผู้ป่วยรายอื่นในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ถ้าจำนวนห้องไม่พอ ก็จะย้ายผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยไปที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Cohort Ward) ซึ่งต่อมามีแนวคิดดัดแปลงห้องในโรงแรมให้เป็นห้องผู้ป่วย (Hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมักใช้อาคารหรือโดมขนาดใหญ่ดัดแปลงเป็นหอผู้ป่วยแทน
ดังนั้น ในแง่ของการควบคุมโรค การแยกกักที่บ้านก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่เหมาะสำหรับบ้านที่มีห้องนอนและห้องน้ำแยกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับสมาชิกคนอื่น อากาศถ่ายเทสะดวก หรือผู้ป่วยสามารถเว้นระยะห่างจากสมาชิกคนอื่นได้ เช่น แยกรับประทานอาหาร แยกของใช้ส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่เข้ามาในพื้นที่ส่วนกลาง
ข้อดีของการแยกกักที่บ้าน
สำหรับผู้ป่วยที่สามารถดูแลตัวเองและแยกจากผู้อื่นได้ การรักษาที่บ้านน่าจะสะดวกต่อผู้ป่วย เพราะที่บ้านมีของที่จำเป็น / ไม่จำเป็นต้องใช้ครบอยู่แล้ว และสบายใจกว่าการนอนรวมกันในโรงพยาบาลสนาม ส่วนระบบสาธารณสุขก็สามารถลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจจัดสรรไปดูแลผู้ป่วยโรคอื่นหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้อย่างเต็มที่ และลดความต้องการเตียงลงได้
ข้อเสียของการแยกกักที่บ้าน
สมาชิกในครอบครัวที่พบผู้ป่วยโควิด-19 มีอัตราการติดเชื้อ 16.6% ซึ่งสูงกว่าซาร์สและเมอร์ส ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ก่อนหน้า การแยกกักที่บ้านจะทำให้สมาชิกคนอื่นในบ้านสัมผัสเชื้อเป็นเวลานาน และอาจติดเชื้อตามมาได้ ยิ่งถ้ามีกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ภายในบ้านก็จะเป็นวิธีการที่ไม่ปลอดภัย
ทิชชูหรือจานชามช้อมส้อมพลาสติกที่ผู้ป่วยใช้จะถือเป็น ‘ขยะติดเชื้อ’ ซึ่งต้องแยกทิ้งลง ‘ถุงแดง’ และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บเพื่อนำไปทำลายให้เหมาะสม หรือถ้าอยู่คอนโดมิเนียม ควรแจ้งแม่บ้านให้ระมัดระวังในการจัดการขยะด้วย และอาจตามมาด้วยความกังวลของคนในคอนโดมิเนียมหรือคนในชุมชน ที่อาจไม่เข้าใจวิธีการแยกกักที่บ้าน
นอกจากนี้ การนับเวลา ‘กักกัน’ (Quarantine) ผู้สัมผัสในครอบครัวอาจต้องขยายวันครบกำหนดออกไป เพราะจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อแยกจากผู้ป่วยแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ ผู้ป่วยยังอาศัยอยู่ในบ้าน และจะพ้นระยะแพร่เชื้อในวันที่ 10 + 14 วัน รวมเป็น 24 วันนับจากวันที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ ก็จะทำให้ต้องลาเรียน / ลางานนานกว่าการแยกกักที่โรงพยาบาล
ข้อสรุปสำหรับการแยกกักที่บ้าน
วันนี้ (11 เมษายน) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณี ‘เตียงเต็ม’ ว่า ไทยมีนโยบายนำผู้ติดเชื้อมารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีการประสานงานให้บริหารเตียงอย่างเป็นระบบ โดยประชาชนสามารถประสานมาได้หากยังไม่ได้เตียง ตามสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ทุกวัน เวลา 08.00-22.00 น.
โดยคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นใน 1-2 วัน เพราะวันนี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้เปิดโรงพยาบาลสนาม 470 เตียง โดยจะย้ายผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ได้รับการรักษาจนอาการดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไปยังโรงพยาบาลสนาม ขณะที่ทางกองทัพก็มีโรงพยาบาลสนาม ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานโรงพยาบาลเอกชน และโรงแรมหลายแห่งที่เป็น ASQ เพื่อจัดเป็น Hospitel
สำหรับกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 เมษายนว่า เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน (500 เตียง) 2. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ (200 เตียง) 3. สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน รองรับได้ (200 เตียง) และ 4. ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา (350 เตียง) โดยข้อ 3. และ 4. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ดังนั้น ในระดับนโยบายน่าจะไม่มีการประกาศให้ผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน ซึ่งมีข้อเสียในการควบคุมโรค แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และถึงแม้จะมีโรงพยาบาลสนามก็อาจไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขควรมีแผนสำรอง โดยการจัดลำดับความสำคัญว่าผู้ป่วยกลุ่มใดจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือกลุ่มใดสามารถแยกกักที่บ้านได้ตามความเหมาะสม
สำหรับประชาชนทั่วไป สัปดาห์นี้น่าจะยังมีผู้ป่วยที่ยังรอเตียงอยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนหรือการตรวจคัดกรองเชิงรุก ซึ่งในระหว่างนี้ขอให้แยกตัวจากคนอื่นในบ้านให้มากที่สุด และหากมีอาการแย่ลงต้องรีบไปโรงพยาบาล ส่วนสมาชิกอื่นในบ้านถือเป็น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ ที่ต้องกักตัว และสังเกตอาการตนเองเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง 28 มกราคม 2564 https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=109
- คำแนะนำ ในการจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (HOSPITEL) ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2564 https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=113
- Household Transmission of SARS-CoV-2: A Systematic Review and Meta-analysis https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2774102
- สปสช. ร่วมกรมการแพทย์ใช้สายด่วน 1330 ประสานเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด “หมอโสภณ” ย้ำคนป่วยต้องรักษาในรพ. https://www.hfocus.org/content/2021/04/21387
- โรงพยาบาลสนาม กทม. พร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 http://www.prbangkok.com/th/hotnews/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQyODAzMg