“โดนคางคกกินไปเหรอ” คือหนึ่งในคอมเมนต์ที่เขียนถึงภาพของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ขณะที่เธอไปแสดงที่งาน Capital FM’s Jingle Bell Ball เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเทย์เลอร์เลือกใส่กางเกงขาสั้นที่เผยต้นขา ภาพการแสดงนี้กลายเป็นประเด็นฮอตฮิตในหลายเพจบันเทิง แต่สำหรับเราแล้ว มันคือการสะท้อนปัญหาของสังคมในปี 2017 ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ยังคงถูกมองว่าต้องเพอร์เฟกต์ และคนเราวิจารณ์ได้ เพราะนี่คือ ‘โลกบันเทิง’ แต่สิ่งนี้ควรเบาลง เพราะในปีที่ผ่านมา หลายประเทศกำลังก้าวหน้าและหยิบประเด็นของการที่นักแสดง นักร้อง หรือดีไซเนอร์เพศแม่ ที่ต่างสร้างจุดยืน ออกมาต่อสู้ และเปิดโปงปัญหาเพื่อหวังว่าการเป็นผู้หญิงในปี 2017 และปีต่อๆ ไปจะมีคุณค่าและความเท่าเทียม THE STANDARD จึงขอรวบรวมเหตุการณ์สำคัญของวงการที่ทำให้เห็นว่าปีนี้คือปีของผู้หญิงอย่างแท้จริง
เริ่มต้นปี 2017 หลายคนทั่วโลกยังตกอยู่ในภวังค์ของการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ด้วยประวัติการพูดจาและข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศของทรัพม์ต่อผู้หญิงเอง บทบาทของ ‘ผู้หญิง’ ในช่วงการบริหารบ้านเมืองในสหรัฐอเมริกาก็ดูน่าเป็นห่วง และเมื่อวันที่ 21 มกราคม คนราว 3-5 ล้านคนทั่วโลกต่างออกมาเดินขบวนชุมนุมภายใต้ชื่อ ‘Women’s March’ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ ทั้งด้านความเท่าเทียมทางสังคมของผู้หญิง, ระบบรักษาพยาบาล, กฎหมายสำหรับกลุ่ม LGBTQ+, การดูแลผู้ลี้ภัยจากต่างแดน และปัญหาการเหยียดสีผิว ฯลฯ การเดินขบวนในครั้งนั้นถูกจารึกให้เป็นการประท้วงในสหรัฐอเมริกาที่มีคนมาเดินมากสุดในหนึ่งวัน และเราได้เห็นเหล่าเซเลบอย่าง เชอร์, เอ็มมา วัตสัน, มาดอนน่า และเจสสิก้า เชสแทน ออกมาเดินขบวนแบบไร้บอดี้การ์ดเหมือนกับคนสามัญชนทั่วไป
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ เลดี้ กาก้า ก็ได้รับเลือกให้เปิดโชว์ช่วงพักครึ่งของการแข่งขัน Super Bowl 2017 ในปีที่ปัญหาบ้านเมืองในสหรัฐอเมริกากำลังร้อนแรง และเธอก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนตัวยงของฮิลลารี คลินตัน ด้วยการปีนขึ้นไปยืนประท้วงบนรถสิบล้อหน้าตึก Trump Towers ในวันที่ทรัมป์ชนะ แต่สำหรับการแสดงในครั้งนี้ กาก้าเลือกที่จะไม่ใช้ความก้าวร้าวและโจมตีใครทั้งสิ้น แต่เธอใช้เวทีในการพยายามนำพาทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว และทุกเพศมาเป็นหนึ่งเดียว ตั้งแต่เปิดโชว์กับการร้องเพลง God Bless America ของคอนนี ฟรานซิส จนถึงร้องเพลง Born This Way ที่เธอเป็นนักร้องคนแรกในประวัติศาสตร์ของเวทีนี้ที่ได้ร้องคำว่า ‘Transgender’ พร้อมทั้งสร้างเรตติ้งแบบถล่มทลาย
เซเลนา โกเมซ ก็เป็นอีกหนึ่งนักร้องสาวที่ขับเคลื่อนวงการปี 2017 ในหลายภาคส่วน เริ่มจากการที่เธอได้ออกมาเล่าเรื่องอย่างกล้าหาญผ่านอินสตาแกรมตัวเอง (เธอเป็นบุคคลที่มีฟอลโลเวอร์มากสุดในโลก) เรื่องราวที่เพื่อนสนิทของเธออย่างนักแสดงสาว ฟรานเซีย เรซา ยอมปลูกถ่ายไตให้ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา หลังเซเลนาตรวจพบโรค SLE มา 2 ปี ส่วนผลงานเพลงของเซเลนาในปีนี้ก็ถือว่ายอดเยี่ยม เพราะถึงแม้เธอจะไม่ได้ปล่อยอัลบั้มเต็ม แต่ก็มี 4 ซิงเกิลอย่าง It Ain’t Me, Bad Liar, Wolves และ Fetish ที่โชว์ชั้นเชิงในการเป็นศิลปินที่มีซาวด์เพลงแตกต่าง มีมิติ และพยายามสร้างนิยามใหม่ให้วงการเพลงป๊อป โดยเฉพาะกับเพลง Bad Liar ที่หลายสำนักได้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ดีสุดแห่งปี เช่น ในลิสต์ของ Billboard และนิตยสาร Rolling Stone ซึ่งเธอก็ได้รับรางวัลใหญ่ Woman of the Year ในงาน Billboard Women in Music 2017 อีกด้วย มากไปกว่านั้น ในปีนี้เซเลนายังรับหน้าที่เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของซีรีส์ชื่อดัง 13 Reasons Why ของค่าย Netflix ที่ประสบความสำเร็จสุดๆ และเพิ่งถ่ายซีซันที่ 2 เสร็จ ส่วนผลงานการแสดงของเซเลนาเองก็ต้องรอหนังเรื่อง A Rainy Day in New York ของผู้กำกับ วู้ดดี้ อัลเลน ปีหน้า
พูดถึงเซเลนาก็ต้องหันไปชื่นชมความสำเร็จของอีกหนึ่งเพื่อนสนิทของเธออย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ปีนี้ผลงานเพลงอัลบั้ม Reputation ก็ถือได้ว่ายกระดับวงการเพลงทั้งยอดวิวและยอดขาย เริ่มจากการปล่อยมิวสิกวิดีโอ Look What You Made Me Do ที่โชว์การทำมาร์เกตติ้งอย่างเหนือชั้นและสร้างสถิติยอดวิวสูงสุดใน 24 ชั่วโมงแรกถึง 43.2 ล้านวิว ส่วนอัลบั้ม Reputation ก็ทำยอดขายไป 2 ล้านแผ่นทั่วโลกในสัปดาห์แรกที่วางขาย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แค่ 4 วันแรกที่อัลบั้มถูกปล่อยก็กลายเป็นอัลบั้มขายดีสุดประจำปี ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่ได้ทำให้สาวเทย์เลอร์อยู่ในสปอตไลต์ก็คือการชนะคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเดวิด มุลเลอร์ ดีเจคลื่นวิทยุ KYGO-FM หลังในปี 2013 เทย์เลอร์โดนเดวิดจับบั้นท้าย ซึ่งสำหรับการชนะคดีนี้ เทย์เลอร์ก็เรียกเงินค่าเสียหายแค่ 1 เหรียญสหรัฐ และให้เหตุผลว่าเธอไม่ได้มาฟ้องเพื่ออยากได้เงิน แต่ทำเพื่อศักดิ์ศรีและความถูกต้อง
แน่นอนว่าเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศได้กลายเป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่สุดของวงการฮอลลีวูดในปีนี้ และยังคงเป็นที่ติดตามทุกชั่วโมง โดยชนวนเกิดขึ้นจากบทความเปิดโปงหนึ่งในโปรดิวเซอร์มือทองของฮอลลีวูดอย่างฮาร์วีย์ ไวน์สตีน จาก The New York Times เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวหาฮาร์วีย์ว่าล่วงละเมิดผู้หญิงมากมายในวงการทั้งแอชลีย์ จัดด์ ที่เคยโดนฮาร์วีย์เรียกเข้าไปคุยงานที่โรงแรม The Peninsula Beverly Hills เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนเธอกำลังถ่ายทำหนังเรื่อง Kiss the Girls (1997) ส่วนกวินเน็ธ พัลโทรว์ ก็ออกมายอมรับว่าฮาร์วีย์เรียกให้เธอไปหาที่โรงแรมขณะที่กำลังถ่ายหนังเรื่อง Emma (1996) ตอนเธออายุ 22 ซึ่งเธอก็ปฏิเสธเช่นกัน แต่กวินเน็ธก็ยังคงร่วมงานกับค่ายหนัง Miramax ของฮาร์วีย์อยู่บ่อยครั้ง แถมยังคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง Shakespeare in Love (1998) ซึ่งภาพที่หลายคนยังคงจดจำได้คือเธอยืนเคียงข้างกับฮาร์วีย์ ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังในงานวันนั้น
จากเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วีย์ก็เหมือนระเบิดนิวเคลียร์ลง เพราะเป็นการแฉความลับของฮอลลีวูดที่มีมานาน คนทุกเพศทุกวัยเริ่มกล้าที่จะออกมาพูดประสบการณ์ตัวเอง และทำให้เห็นว่านี่เป็นมากกว่าแค่ปัญหาของอุตสาหกรรมบันเทิง แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก
นักแสดงสาว อลิสซา มิลาโน ก็ได้ขยายการสนทนาเหตุการณ์นี้กับการทวีตข้อความให้คนติดแฮชแทก #MeToo หากเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผลลัพธ์คือวันต่อมามีมากกว่า 30,000 คนที่ทวีตด้วยแฮชแท็กเดียวกัน พิธีกรอย่างเอลเลน ดีเจเนอเรส ก็เป็นอีกคนที่มีส่วนร่วมด้วย แต่หากใครสงสัยว่าชื่อ #MeToo มาจากไหน ต้นตอก็เกิดจากองค์กรไม่หวังผลกำไรของทารานา เบิร์ก ที่ก่อตั้งในปี 2006 ในการช่วยเหลือผู้หญิงที่เคยผ่านการล่วงละเมิดทางเพศ
หันมาที่ตัวเนื้องานของอุตสาหกรรมฮอลลีวูด เราก็ได้เห็นว่าในปี 2017 บทบาทของผู้หญิงก้าวหน้าขึ้นมาก และไม่ได้เป็นแค่ตัวรองอีกต่อไป เริ่มจากความสำเร็จของหนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่อง Wonder Woman (2017) ของผู้กำกับสาว แพตตี้ เจนกินส์ ที่ทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศสูงถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก และด้านคำวิจารณ์ยังติด Top 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีของ American Film Institute อีกด้วย ซึ่งเป็นการลบคำครหาว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่มีตัวละครเป็นผู้หญิงไม่สามารถทำเงินได้ แถมสำหรับหนังภาคต่อ Wonder Woman 2 แพตตี้ก็จะได้รับค่าจ้างสูงถึง 7-9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้เธอเป็นผู้กำกับหญิงที่ได้เงินค่าตอบแทนสูงสุดตลอดกาล ต่างจากภาคแรกที่เธอได้ค่าจ้างแค่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับค่าตัวผู้กำกับชายในฮอลลีวูดสำหรับการกำกับหนังซูเปอร์ฮีโร่
ส่วนหนังเรื่อง Lady Bird ของผู้กำกับสาว เกรตา เกอร์วิก กลายเป็นหนังที่ได้คะแนนนิยมจากการรีวิวบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงสุดตลอดกาล และกลายเป็นหนังของผู้กำกับหญิงฟอร์มเล็กที่ทำยอดเงินได้สูงสุดต่อโรงในประวัติศาสตร์หลังฉายอย่างจำกัดโรงที่ลอสแอนเจลิสและนิวยอร์ก แถมหนัง Beauty and the Beast เวอร์ชัน Live Adaption ของดิสนีย์ ที่นำแสดงโดย เอ็มมา วัตสัน ก็เป็นหนังทำเงินสูงสุดในปีนี้ด้วยยอดสูงถึง 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ตัวละครผู้หญิงดำเนินเรื่องเป็นหลัก
เข้าสู่ปี 2018 เราเชื่อว่าบทบาทของผู้หญิงในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์จะยังคงเข้มข้น จุดยืนที่สร้างยิ่งมั่นคงและทำให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เทรนด์ที่จะเลือนหายไปในอีกไม่กี่เดือน แต่เป็นการเปลี่ยนสังคมอย่างจริงจัง ทั้งยังสร้างอนาคตสำหรับผู้หญิงรุ่นต่อไปให้มีความเท่าเทียม ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใดๆ
หลายคนอาจคิดว่าอย่าได้แคร์ เพราะนี่เป็นเพียงวัฒนธรรมของอุตสาหกรรมบันเทิงฝั่งตะวันตก ซึ่งไม่ได้ส่งผลอะไรต่อสังคมไทย แต่เรากลับมองว่าสิ่งนี้สำคัญมาก นักวิชาการจะเถียงกันถึงขั้นไหน เทคโนโลยีจะก้าวไกลอย่างไร แต่วงการบันเทิงฮอลลีวูดก็ยังคงเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีพลังมากสุดในโลก ซึ่งไม่ผิดเลยถ้าผู้หญิงในบ้านเราอยากทาปากเหมือนไคลี เจนเนอร์ แต่งตัวเหมือนจีจี้ ฮาดิด หรือถ่ายเซลฟี่องศาเดียวกับคิม คาร์ดาเชียน เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเธออยากสะท้อนออกมาผ่านความภูมิใจในความเป็นหญิง ไม่ว่าจะเกิด เติบโต และมีชีวิตที่ใด ก็เป็นความภูมิใจที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับว่าผู้หญิงควรเป็นอย่างไร
นาทีนี้ 2017 คือปีของผู้หญิงโดยแท้!
อ้างอิง:
- www.vanityfair.com/hollywood/2017/11/lady-bird-greta-gerwig-box-office-oscar-race-moonlight
- en.m.wikipedia.org/wiki/2017_Women’s_March
- variety.com/2017/film/news/patty-jenkins-wonder-woman-sequel-director-1202548413
- www.latimes.com/entertainment/la-et-entertainment-news-updates-selena-gomez-kidney-transplant-1509375681-htmlstory.html
- www.google.co.th/amp/amp.timeinc.net/time/time-person-of-the-year-2017-silence-breakers/%3fsource=dam
- mobile.nytimes.com/2017/10/05/us/harvey-weinstein-harassment-allegations.html?referer=