กลายเป็นวิกฤตที่ H&M ผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่อันดับสองของโลกต้องรีบแก้ไขเสียแล้ว หลังจากเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากในโลกออนไลน์ของจีน และถึงขั้นเรียกร้องให้มี ‘การแบน’ เกิดขึ้น หลังก่อนหน้านี้ H&M ได้ออกมาตัดความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์จีน จากข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงานในซินเจียง
ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2020 H&M ได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังยุติความสัมพันธ์กับผู้ผลิตเส้นด้ายของจีน จากข้อกล่าวหาเรื่องบังคับใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนาจากมณฑลซินเจียงของจีน พร้อมระบุว่าจะไม่ทำงานร่วมกับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าใดๆ ในภูมิภาคนี้ และจะไม่จัดหาฝ้ายจากซินเจียงซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไป
H&M เคยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “กังวลอย่างยิ่งกับรายงานจากองค์กรภาคประชาสังคมและสื่อที่มีการกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงาน”
การออกแถลงการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรมากนักต่อ H&M หากในช่วงสัปดาห์นี้เอง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนโดยกล่าวหาว่าพวกเขาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง
เสื้อผ้าฝ้ายประมาณ 1 ใน 5 ของเสื้อผ้าที่ขายทั่วโลก ประกอบด้วยผ้าฝ้ายหรือเส้นด้ายจากภูมิภาคนี้ซึ่งมีข้อกล่าวหาว่า ทางการจีนได้ส่งชาวอุยกูร์ที่เป็นมุสลิมมากถึง 1 ล้านคนไปยังค่ายกักกันและบังคับให้พวกเขาทำงาน
ขณะที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมระบุว่ากำลังจัดฝึกอบรมวิชาชีพและจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรง ซึ่งหลังจากได้มีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนออกมา จีนก็เตรียมโต้ตอบด้วยมาตรการเดียวกัน
หลังจากข่าวนี้ออกมาทำให้ H&M ได้เผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากในโลกออนไลน์ของจีน เช่น Communist Youth League ของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนกล่าวใน Weibo ว่า “ในขณะที่ต้องการสร้างรายได้ในจีน แต่ก็ยังมีการแพร่ข่าวลือเท็จและคว่ำบาตรผ้าฝ้ายซินเจียงอยู่หรือ” พร้อมกันนี้ยังเรียกท่าทีของ H&M ว่า ‘เพิกเฉยและหยิ่งยโส’
นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ H&M ออกจากประเทศจีนและทำการคว่ำบาตร โดยชาวจีนรายหนึ่งระบุว่า “การใส่รายป้ายสีซินเจียงเป็นเรื่องที่ไร้ยางอายและเราไม่ซื้อสินค้าของคุณ”
Huang Xuan นักแสดงชาวจีนที่มีสัญญากับ H&M โพสต์ข้อความว่าเขาจะเลิกข้อตกลงดังกล่าวโดยเสริมว่าเขาไม่เห็นด้วยกับ “การใส่ร้ายและสร้างข่าวลือ” รวมถึง “ความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ประเทศเสื่อมเสียชื่อเสียง” ส่วนนักร้องและนักแสดงหญิง Victoria Song ได้ออกแถลงการณ์โดยกล่าวว่าเธอไม่ได้มีความสัมพันธ์กับแบรนด์อีกต่อไป และ “ผลประโยชน์ของชาติอยู่เหนือสิ่งอื่นใด”
ทางด้าน H&M China ได้ออกแถลงการณ์ว่า ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้รับการจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับพันธสัญญาด้านความยั่งยืนไม่ใช่เพื่อสะท้อนถึงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ พร้อมกับย้ำกว่า เคารพผู้บริโภคชาวจีนและมุ่งมั่นที่จะลงทุนและพัฒนาระยะยาวในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม กระแสที่เกิดขึ้นทำให้ร้านค้าอย่างเป็นทางการของ H&M บน Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ไม่สามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่วันพุธ (24 มีนาคม) ขณะที่ People’s Daily สื่ออย่างเป็นทางการขอจีนรายงานว่าการค้นหาผลิตภัณฑ์ H&M บนแพลตฟอร์ม JD.com และ Pinduoduo ไม่พบผลลัพธ์ใดๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้แดนมังกรเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของ H&M โดยมียอดขาย 2.9 พันล้านโครนาสวีเดน หรือ 1.05 หมื่นล้านบาท ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2020
ภาพ: Barcroft Media / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Business/Retail/H-M-under-heat-in-China-for-past-statement-on-Xinjiang-labor
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-24/h-m-blasted-on-chinese-social-media-for-pulling-xinjiang-cotton?sref=CVqPBMVg
- https://www.nytimes.com/2021/03/24/business/handm-boycott-china-uyghurs.html