×

คนกลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนโลกได้ เมื่อไทยเคยต้องสู้กับ HIV

10.05.2024
  • LOADING...
HIV

“อย่าสงสัยเลยว่าคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีวิจารณญาณและมีความมุ่งมั่นสามารถจะเปลี่ยนโลกได้ ในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาก็เป็นไปเช่นนี้” วาทะกระเดื่องโลกของ มาร์กาเรต มี้ด นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ประโยคนี้ถูกนำไปเอ่ยอ้างกันทั่วโลก

 

บังกลาเทศเป็นประเทศยากจนที่ประชาชนมีความลำบากยากเข็ญอยู่แล้ว เมื่อประสบทุพภิกขภัยร้ายแรงในปี 2517 ยิ่งซ้ำเติมชาวบ้านให้เผชิญความลำเค็ญแสนสาหัส

 

มูฮัมหมัด ยูนุส ในเวลานั้นเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันการศึกษาไม่ไกลจากหมู่บ้านโจบรา ทำให้เขาและเพื่อนๆ สัมผัสความยากจนของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด พวกเขาเห็นว่าการปล่อยเงินกู้ในหมู่บ้านของเจ้าหนี้เงินกู้เป็นการรีดเลือดกับปู เหมือนนายทาสกระทำต่อทาส ที่มีเงื่อนไขสุดแสนหฤโหด

 

ยูนุสเห็นและตระหนักในปัญหา จึงนำเงินในกระเป๋าตนเองออกมาให้ชาวบ้านกู้ยืมไปเป็นทุนสร้างรายได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย นี่คือจุดก่อเกิดธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารคนจนในเวลาต่อมา

 

ในขณะที่ธนาคารทั้งหลายเชื่อว่าคนจนเป็นลูกหนี้ที่วางใจไม่ได้ แต่ธนาคารกรามีนสร้างประวัติศาสตร์ให้โลกรู้ว่าผู้หญิงที่ยากจน สามารถกู้หนี้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ ซึ่งจะให้กู้แก่สตรีหรือชาวบ้านที่ยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอที่จะกู้จากธนาคารทั่วไป แต่แล้วกลับปรากฏว่าสตรีชาวบ้านที่กู้เงินมีเครดิตดียิ่ง มีความรับผิดชอบในการใช้หนี้คืนสูงมากกว่า 99% นับเป็นสัดส่วนสูงกว่าการชำระคืนของลูกหนี้ร่ำรวยส่วนใหญ่อีกด้วย

 

ระบบการเงินแบบจุลภาคหรือไมโครไฟแนนซ์ที่ยูนุสเริ่มขึ้นกระจายไปทั่วโลก ส่วนใหญ่จะทำผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) จนธนาคารโลก, กองทุน IMF และสหประชาชาติ หันมาสนับสนุนโครงการทางการเงินแบบมีส่วนร่วมของเขา

 

ยูนุสชี้ว่า “ธนาคารกรามีนที่ผมก่อตั้งขึ้นในบังกลาเทศประเทศบ้านเกิดของผมเมื่อปี 2519 ช่วยให้บรรดาชาวบ้านในระดับหมู่บ้านที่ยากจน โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิง เข้าถึงเงินทุนได้ นับแต่นั้นมาไมโครเครดิตได้ปลดปล่อยศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการของผู้คนยากจนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกออกมาให้เห็น ช่วยทำลายห่วงโซ่แห่งความยากจนและการฉกฉวยประโยชน์ซึ่งเคยกดพวกเขาลงเป็นทาสได้สำเร็จ” (หนังสือ โลกสามศูนย์ (A World of Three Zeros) by Muhammad Yunus)

 

ทำให้ในปี 2549 ยูนุสผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะเป็นผู้ที่มีความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง

 

ยูนุสและกลุ่มเพื่อนๆ ตัดสินใจและลงมือทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่คนยากจนจะมีแรงกำลังใช้หนี้คืนในวันเวลาที่สัญญากันไว้ นี่เป็นการคิดนอกกรอบ เป็นการคิดในสิ่งที่คนอื่นไม่คาดคิดกัน แล้วก็ประจักษ์ว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เป็นไปได้

 

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการก่อเกิดธนาคารกรามีนในบังกลาเทศ

 

ที่ประเทศไทย คุณมีชัย วีระไวทยะ เศรษฐกรหนุ่มแห่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เดินทางไปชนบททั่วประเทศเพื่อประเมินผลโครงการพัฒนาต่างๆ ว่าสำเร็จผลมากน้อยเพียงไร อย่างไร

 

“สิ่งที่ผมเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งหนใด จะเห็นเด็กจำนวนมากมายเหลือเกิน มีวัยรุ่นอุ้มเด็กทารกคนหนึ่งหรือสองคน ในขณะที่ลูกคนโตก็เกาะผ้าถุงแม่ เมื่อถามว่า ‘มีลูกกี่คน’ คำตอบที่ได้คือเจ็ดบ้าง สิบบ้าง ด้วยสามัญสำนึกบอกผมว่าการที่ประชากรมีมากล้น มีผลกระทบทางลบในการพัฒนา” (หนังสือ ไผ่นอกกอ ชีวิตและงานของ มีชัย วีระไวทยะ โดย สนธิ เตชานันท์ เรียบเรียง)

 

สามัญสำนึกและความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากฐานล่างคือชุมชน ไม่ใช่เริ่มจากข้างบนที่เป็นระบบราชการ ทำให้คุณมีชัย วีระไวทยะ กับเพื่อนๆ เช่น คุณธวัชชัย ไตรทองอยู่, คุณสุธา ชัชวาลวงศ์, คุณประวีณ พยับวิภาพงศ์ ร่วมกันตั้งสำนักงานบริการวางแผนครอบครัว ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population and Community Development Association: PDA) เป็นการนับหนึ่งในการรณรงค์เพื่อลดอัตราเกิดของประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ด้านหนึ่งต้องทำให้รัฐบาลตระหนักในปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร อีกด้านหนึ่งต้องรณรงค์ให้สตรีในชนบททั่วประเทศเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้เห็นว่ามีลูกมากจะยากจน และแล้วความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมาเป็นปฏิบัติการวางแผนครอบครัวที่เป็นจริง

 

ถุงยางอนามัยที่คนไทยรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการแตะต้องสัมผัส นำมาใช้เป่าลูกโป่งแข่งขันกันของครูและเด็กนักเรียน ในที่ประชุมระหว่างชาติที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ คุณมีชัยเอาถุงยางอนามัยไปแจกผู้ร่วมประชุม คุณมีชัยเข้าไปแจกถุงยางอนามัยถึงสถานบันเทิงที่ถนนพัฒน์พงศ์อย่างเอิกเกริก กลายเป็นข่าวในสื่อมวลชนจนสื่อตั้งชื่อถุงยางอนามัยว่า ‘ถุงยางมีชัย’ ซึ่งคุณมีชัยต้อนรับฉายานี้ไว้ด้วยความยินดี ทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับอุปกรณ์ชนิดนี้ว่าเป็นของธรรมดาที่ใช้กันได้เป็นปกติภายในครอบครัว

 

นี่คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติอย่างสำคัญควบคู่กันไปกับถุงยางอนามัยคือการจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด แผงละ 28 เม็ด เท่ากับจำนวนวันของสตรีมีรอบเดือน

 

ก่อนหน้านั้นคนจ่ายยาคือหมอเท่านั้น หมอหนึ่งคนต่อประชากร 2-3 แสนคน จะแจกทั่วถึงได้อย่างไร คุณมีชัยผลักดันให้แม่ค้าร้านขายของชำ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดชุมชนที่สุดเป็นคนแจกยาเม็ดคุมกำเนิดได้ มีการร่วมกับคุรุสภาอบรมครูหลายหมื่นคนทั่วประเทศให้ช่วยเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการวางแผนครอบครัว

 

นพ.วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้น เห็นชอบและสนับสนุน PDA ให้ดำเนินโครงการวางแผนครอบครัว โดยกล่าวว่า

 

“คุณมีชัยและทีมงานจัดตั้งและอบรมอาสาสมัครครั้งแรกใน 150 อำเภอทั่วประเทศในปี 2516 โดยความเห็นชอบและอนุมัติของ นพ.เชิด โทณะวนิก อธิบดีกรมการแพทย์และอนามัย ให้การสนับสนุนเต็มที่ อาจกล่าวได้ว่าโครงการนั้นเป็นพื้นฐานการกระจายอำนาจสู่ชนบท ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศ นับเป็นจุดเริ่มแรกของอาสาสมัครที่ราชการให้การสนับสนุน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และต่อมากลายเป็นฐานข้อมูลและฐานปฏิบัติการของ อบต. ในปัจจุบัน” (หนังสือ ไผ่นอกกอ ชีวิตและงานของ มีชัย วีระไวทยะ โดย สนธิ เตชานันท์ เรียบเรียง)

 

การวางแผนครอบครัวที่ได้รับความสนับสนุนดียิ่งจากภาคราชการทำให้อัตราเกิดของเด็กในปี 2517 ลดลงจากครอบครัวละ 7 คน เหลือเพียง 1.2 คน ในปี 2545 เท่ากับอัตราเพิ่มของประชากรจาก 3.3% ลดเหลือเพียง 0.5% เท่านั้น

 

ถ้าเทียบกับฟิลิปปินส์ ซึ่งมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทยราว 40 ล้านคนในปี 2515 ในขณะที่ไทยมีการรณรงค์และวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง 40 ปี หลังจากนั้นในปี 2556 ไทยมีประชากร 67.4 ล้านคน ฟิลิปปินส์ที่ไม่มีการวางแผนครอบครัว มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 105.7 ล้านคน แปลว่าอัตราเพิ่มของประชากรมากกว่าไทยถึง 2 เท่าครึ่ง

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พูดถึงงานวางแผนครอบครัวไว้ว่า “ผมมีความนับถือคุณมีชัยเป็นที่สุด และผมยังคงนับถือตลอดไป แม้ชาตินี้ทั้งชาติคุณมีชัยจะไม่ได้ทำอะไรอีกเลย เพราะความสำเร็จของการวางแผนครอบครัวที่คุณมีชัยทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากมายจริงๆ” (หนังสือ ไผ่นอกกอ ชีวิตและงานของ มีชัย วีระไวทยะ โดย สนธิ เตชานันท์ เรียบเรียง)

 

ลดอัตราเกิดมีความสำคัญ แต่ลดอัตราตายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

การติดเชื้อ HIV หรือโรคระบาดเอดส์จากต่างประเทศเข้าสู่ไทยในเวลานั้นน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก การค้าประเวณีทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้โรคเอดส์กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง ความหวาดกลัวว่านักท่องเที่ยวจะไม่มาเมืองไทยเพราะกลัวโรคเอดส์ทำให้รัฐมนตรีซึ่งคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ส่ายหัวไม่เอาด้วย โดยห้ามสื่อออกอากาศเรื่องอันตรายของโรคเอดส์


ทำให้คุณมีชัยตรงดิ่งเข้าหา พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. ในเวลานั้น โดยชี้แจงว่า

 

“หากประเทศไทยไม่ทำอะไร ทหารเกณฑ์จำนวนมากจะป่วยตายด้วยโรคเอดส์”

 

พล.อ. ชวลิต เห็นคล้อยตามแล้วถามกลับว่า

 

“จะให้ผมช่วยอะไร”

 

“ผมขอยืมวิทยุทหารกว่า 300 สถานี และโทรทัศน์ 2 สถานี ช่วยกระจายความรู้เรื่องอันตรายจากโรคเอดส์และการป้องกัน”

 

จากนั้นเป็นต้นมา ทั้งสารคดีและสปอตวิทยุโทรทัศน์ผ่านสื่อทุกเหล่าทัพของกองทัพไทย ทำให้สังคมไทยตระหนักภัยของปีศาจร้าย HIV

 

HIV

 

เมื่อ รสช. ทำการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้เชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์เชิญคุณมีชัยเป็นรัฐมนตรี โดยเห็นชอบให้คุณมีชัยแก้ไขปัญหาโรคระบาด HIV อย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีรับเป็นประธานคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ ทำให้การรณรงค์ต้านเอดส์มีพลังแรงเหมือนพยัคฆ์ติดปีก

 

ผลการรณรงค์ทำให้รัฐบาลและสังคมไทยยอมรับ มีการใช้ถุงยางมีชัยอย่างแพร่หลายในหญิงและชายที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางเพศ เป็นการควบคุมการกระจายเชื้อ HIV อย่างได้ผลเต็มอัตรา เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเกิดปฏิบัติการใช้ถุงยางอนามัย 100%

 

ไทยสามารถควบคุมการแพร่เชื้อ HIV เป็นตัวอย่างในเวทีสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่ง UNAIDS สรุปว่าภายในระยะเวลา 12 ปี (พ.ศ. 2533-2545) ประเทศไทยมีการติดเชื้อรายใหม่ลดลง 90% ผลการรณรงค์ทำให้คนไทย 7,700,000 คน ปลอดพ้นจากการติดเชื้อเอดส์

 

PDA ในรอบระยะ 50 ปีมานี้ยังก้าวไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในชนบทด้วยโปรแกรมต่างๆ มากมาย โดยดึงเอาธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเรื่องการขาดแคลนน้ำ เรื่องทักษะอาชีพ เรื่องเงินออมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เรื่องการพึ่งพาตนเองของชุมชน ฯลฯ

 

ผลงาน PDA ทำให้วารสาร The  Global เดือนกุมภาพันธ์ 2012 ยกย่องว่า PDA เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ลำดับที่ 39 ของโลก จากจำนวน 100 องค์กร NGO ทั่วโลก

 

มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ให้รางวัล Gates Award for Global Health 2007 โดยชี้ว่า “PDA นำโดย มีชัย วีระไวทยะ เปลี่ยนแปลงสุขภาพของประเทศชาติ และงานของเขามีผลกระทบต่อสุขภาพทั่วโลก มีชัยมีความสามารถพิเศษในการระบุปัจจัยเหล่านั้นที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ ความกล้าหาญในการปฏิบัติตามความเป็นจริง และความพร้อมเพรียงพร้อมด้วยอารมณ์ขันในการทำให้นวัตกรรมต่างๆ กลายเป็นแนวมาตรฐานในการปฏิบัติ”

 

ในขณะที่มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ มอบรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2537 โดยชี้ให้เห็นว่า

 

“เมื่อมีโรคเอดส์ในไทยปี พ.ศ. 2527 มีชัยตระหนักถึงศักยภาพในการกระจายของโรค เมื่อเผชิญกับความชะล่าใจของรัฐบาลและการต่อต้านจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปี พ.ศ. 2530 เขาเริ่มรณรงค์เรื่องเอดส์ และเขาเตือนว่าหากไม่มีการแทรกแซงหรือไม่ทำอะไรจะมีคนติดเชื้อกว่าล้านคนในหนึ่งทศวรรษ PDA กระจายเทปเสียง วิดีโอ แผ่นพับที่อธิบายความเสี่ยงอย่างตรงไปตรงมา และวิธีหลีกเลี่ยงไปทั่วประเทศ การประชาสัมพันธ์สุดเร้าใจของมีชัยถูกนำมาพาดเป็นหัวข้อข่าว โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพไทยในการรณรงค์ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์”

 

เนื้องานล่าสุดคือการจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2552 เป็นโรงเรียนที่รองรับนักเรียนจากชนบททั่วประเทศเข้าเรียนโดยให้เด็กนักเรียนปลูกต้นไม้และทำความดีแทนค่าเล่าเรียน 15 ปีแห่งการบ่มเพาะให้นักเรียนมีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และมีหัวใจแบ่งปัน ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบโรงเรียน ด้วยผลงานรูปธรรมเชิงสร้างสรรค์ ทำให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกย่องให้เป็นแบบอย่างโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่มีโรงเรียน 240 แห่งเข้าร่วมโดยมีโรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นต้นแบบ ซึ่งก่อนหน้านี้กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กล่าวยกย่องไว้ว่า “โรงเรียนมีชัยพัฒนา (Bamboo School) เป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

 

กึ่งศตวรรษ หรือ 50 ปีของ PDA สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งลดการเกิด ลดการตาย ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างสรรค์การศึกษารูปแบบใหม่ที่สร้างเยาวชนให้มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อชุมชน โดยผ่านการปฏิบัติร่วมกับชุมชน วัด โรงพยาบาล นำไปสู่รูปแบบโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการยกระดับชีวิตชุมชนได้อย่างน่าสนใจ

 

มาร์กาเรต มี้ด ชี้ว่า ‘คนกลุ่มเล็กๆ’ ก็จริงอยู่ แต่ได้ระบุให้เห็นชัดเจนไว้ด้วยว่าคนกลุ่มเล็กๆ นั้นต้องเป็นคนที่ ‘มีวิจารณญาณ’ (Thoughtful) และ ‘มีความมุ่งมั่น’ (Committed) จึงจะเปลี่ยนโลกได้

 

มูฮัมหมัด ยูนุส นายธนาคารของคนจนและกลุ่มเพื่อนในบังกลาเทศกลุ่มเล็กๆ คุณมีชัย วีระไวทยะ และผองเพื่อนใน PDA เพียงไม่กี่คน ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เลือกตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องในเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เป็นการเลือกทางปฏิบัติที่เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นฐานความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ที่สร้างสรรค์ และเกิดพฤติกรรมใหม่ที่งดงาม ส่งผลกระทบที่มีผลไพศาลทั่วทั้งสังคมอย่างมีวิจารณญาณและมีความมุ่งมั่น

 

ผลงานที่รังสรรค์ไว้แล้วนั้นยืนยันให้เห็นถึงการไม่ยอมจำนนต่อปัญหา หากแต่ได้ใช้ความพยายามอย่างไม่ลดละของผู้คนเพียงไม่กี่คน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising