ถ้าสมการความรักลงตัว การแต่งงานก็คือผลลัพธ์อันหวานชื่นสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ถ้าหากมีตัวแปรใดๆ ที่ทำให้สมการความรักผิดเพี้ยน ก็อาจต้องใช้วิธีตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ล่มงานวิวาห์ ขัดขากันตั้งแต่จุดสตาร์ทกันไปเลย
บ่อยครั้งที่เราได้เห็นฉากจบในละครลงเอยด้วยการแต่งงาน และก็มีบ่อยๆ อีกเช่นกันที่ฉากวิวาห์ล่มนำไปสู่ปมความขัดเแย้งใหม่ ส่งผลกระทบไปทั้งจักรวาลของตัวละคร ซึ่งถ้าลองนับกันดีๆ ก็มีละครหลายเรื่องที่บรรจุฉากนี้เข้าไปแบบต่างกรรมต่างวาระ ไม่ว่าจะเป็น สามีตีตรา, สองนรี, จากศัตรูสู่หัวใจ, เสน่หามายา ฯลฯ และล่าสุดก็คือ ทะเลลวง ที่กำลังออกอากาศทางช่อง 7 ขณะนี้
ภาพจากละครเรื่อง สามีตีตรา
ภาพจากละครเรื่อง จากศัตรูสู่หัวใจ
ใครจะคิดว่าฉากที่ได้เห็นดาษดื่นในละครจะเกิดขึ้นในชีวิตจริง จากข่าวที่เราได้เห็นลูกสะใภ้ควงแม่สามีไปถล่มงานแต่งงานของสามีทั้งที่ยังมีใบทะเบียนสมรสอยู่คามือ มันสะท้อนภาพการสอดประสานกันของโลกจริงและละครอย่างที่คนเคยพูดกันว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร และละครเองก็เอามาจากชีวิตจริง
ออกตัวก่อนว่าผู้เขียนค่อนข้างเห็นใจคนที่เป็นเมียหลวง เพราะถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ก็คงไม่เอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ชวนให้ต้องอับอายขายหน้าว่าสามีของตนปันใจให้หญิงอื่นถึงขั้นแต่งงาน แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือ ชีวิตหลังจากนั้นมันมีผลกระทบอะไรกับใครบ้าง รวมทั้งตัวสามีเอง หากได้ดูละครแล้วย้อนดูตัวก็คงไม่ ‘หาทำ’ ในสิ่งที่ไม่ควร ทั้งๆ ที่รู้ว่าจุดจบมันคงไม่ออกมาสวยงามแน่นอน
ผู้เขียนนึกถึงละครเมื่อเร็วๆ นี้เรื่อง เพลิงเสน่หา (2562) ว่าด้วยเรื่องของ ขุนสัก (เคลลี่ ธนะพัฒน์) ที่ไปหลงรัก เทียนหยดฟ้า (นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี) หญิงสาวผู้เพียบพร้อมเกิดมาในชาติตระกูลที่ดี และหลอกให้สาวเจ้าแต่งงานด้วย ทั้งที่ตัวเองมีภรรยาอยู่แล้วนั่นก็คือ ชบา (โสภิตนภา ชุ่มภาณี) ในฉากวันแต่งงานของขุนสักและเทียนหยดฟ้า ชบาก็เลยลากลูกสาวทั้งสองคนไปแหกอกสามีกับว่าที่ภรรยาใหม่ถึงกลางงาน ผลที่ตามมาก็คือพ่อของเทียนหยดฟ้าหัวใจวายตาย ส่วนแม่ก็ล้มหัวฟาดเป็นอัมพาตตลอดชีวิต กลายเป็นปมความแค้นที่มาตกเอาตอนรุ่นลูกจากความมักง่ายไร้ความรับผิดชอบของผู้ชายคนเดียว
ภาพจากละครเรื่อง เพลิงเสน่หา
มันช่างคล้ายกับเหตุการณ์ในข่าว เพราะกรณีนี้ก็มีลูกสาวสองคนเหมือนกัน และก็ไปทวงความยุติธรรมในงานแต่งเหมือนกัน จะต่างกันก็เพียงภาพชบาเหยียบอกสามี เป็นแม่สามีตบกะโหลกลูกชาย และในละครไม่ได้มีภาพพระสงฆ์เลิ่กลั่กไม่รู้จะสวดมงคลสูตรหรือจะสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศลให้ฝ่ายชายเท่านั้นเอง ส่วนอีกอย่างที่เหมือนกันมากๆ ก็คือภาพนี้จะกลายเป็นภาพจำของ ‘ลูกสาว’ ทั้งในละครและโลกจริง
ขณะที่ภรรยาใหม่ก็กลายเป็นจำเลยสังคม ถ้าย้อนเวลากลับไปได้และมีสติยั้งคิด เรื่องราวก็คงไม่เลยเถิดใหญ่โตถึงเพียงนี้ เราอาจจะให้อภัยและเห็นใจแบบ จันตา (ยิหวา-ปรียากานต์ ใจกันทะ) ใน กรงกรรม เพราะการตกเป็นเมียน้อยของเธอเกิดจากความไม่รู้ ซึ่งท้ายที่สุดผลกรรมก็ย้อนกลับมาทำลายชีวิตเธอในงานแต่งงาน ทั้งที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อยู่แล้วเชียว
ส่วนในเคสข่าวบอกว่าภรรยาใหม่รู้อยู่แก่ใจว่าคนที่กำลังจะแต่งงานด้วยมีภรรยาอยู่แล้ว ก็อยากจะขอให้ความอับอายจากวิวาห์ล่มครั้งนี้ทำให้ได้ฉุกคิด เพราะในเช้าวันรุ่งขึ้นนอกจากตัวคุณจะต้องเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พ่อแม่พี่น้องก็คงต้องแบกรับความอับอายไปด้วย ซึ่งไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องอยู่ในสังคมต่างจังหวัดที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน ลองตั้งสติ คิดดูดีๆ ว่าผู้ชายที่ทิ้งลูกทิ้งเมียมีค่ามากพอที่จะยอมแลกกับความสุขของคนในครอบครัวหรือเปล่า
ภาพจากละครเรื่อง กรงกรรม
ตัวภรรยาหลวงเองก็คงทั้งรู้สึกสะใจ สะเทือนใจ ผสมปนเปกัน และคงไม่คาดคิดว่าเรื่องราวดราม่าในงานแต่งที่ตัวเองทำลงไปมันจะกลายเป็น Talk of the Town ซึ่งนี่ไม่ใช่จุดจบของเรื่องดราม่า แต่คือจุดเริ่มต้นของดราม่าครั้งใหม่ที่จะต่อเนื่องยาวนาน ที่หนักไปกว่านั้น ในวันรุ่งขึ้นชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร จะจบลงที่สามีกลับมารักกันเหมือนเก่า หรือเขาจะเดินออกจากชีวิตไปไม่กลับมาอีกแล้ว แต่ท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย คนที่ต้องการคำอธิบายอย่างมากก็คือลูกสาวทั้งสองคน เพราะเหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตคู่ของพวกเขาตลอดไป
ภาพจากละครเรื่อง เสน่หามายา
ส่วนคุณสามีจงรู้ไว้เถิดว่าการนอกใจ ‘ครั้งเดียว’ ที่คุณได้ทำ มันได้ทำลายชีวิตผู้หญิงไปถึง 4 คน พอกันทีกับค่านิยมที่ว่าเป็นผู้ชายเจ้าชู้นิดเจ้าชู้หน่อยไม่เป็นไรหรอก สุดท้ายมันจะเลยเถิดที่คุณก็น่าจะได้เรียนรู้ไปแล้ว จงเริ่มแก้ไขจากตัวคุณก่อน เพราะก็รู้อยู่หรอกว่าสังคมไทยนี้มีคนมากรักให้เห็นในทุกระดับชั้นทางสังคมให้เอาเยี่ยงอย่าง เลยอยากให้ดูตัวอย่างผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากละครที่ใครก็ว่าน้ำเน่าเอาไว้ด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้วละครมันก็สะท้อนชีวิตจริงของผู้คนนั่นแหละ
ภาพ: ละครเรื่องทะเลลวง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า