พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งผ่านมติที่เรียกว่า ‘มติประวัติศาสตร์’ (Historical Resolution) หลังการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรค ซึ่งปูทางให้สีจิ้นผิงครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 เป็นอย่างน้อย
และนี่คือบทสรุปสำคัญของมติประวัติศาสตร์ที่จะวางรากฐานการพัฒนาของจีนในช่วงหลายสิบปีหลังจากนี้
- ในอดีตมีผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพียง 2 คนเท่านั้นที่ได้เขียนประวัติศาสตร์ของจีนขึ้นมาใหม่ คือ เหมาเจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากประธานเหมา ขณะที่สีจิ้นผิงถือเป็นผู้นำจีนคนที่ 3 ที่ได้ร่างคำประกาศเชิงประวัติศาสตร์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักวิชาการฝั่งตะวันตกมองว่าสีจิ้นผิงถูกยกสถานะขึ้นเทียบเท่าเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง
- สิ่งที่ทำให้มติประวัติศาสตร์ดูมีความสำคัญนั้นเป็นเพราะสองครั้งที่ผ่านมา ทั้งเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิงต่างใช้เป็นช่องทางในการแก้ไขสิ่งที่มองว่าผิดพลาดในอดีต โดยครั้งแรกที่ประกาศในที่ประชุมใหญ่พรรคเมื่อปี 1945 นั้นได้ช่วยให้เหมาเจ๋อตงรวบอำนาจความเป็นผู้นำ ซึ่งทำให้เขามีอำนาจเต็มที่เมื่อครั้งที่ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949
- ส่วนครั้งที่ 2 หลังเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจในปี 1978 เขาผลักดันมติในปี 1981 หลังจากที่เติ้งได้วิจารณ์ความผิดพลาดของเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966-1976 ซึ่งมติคราวนั้นได้นำไปสู่การวางรากฐานการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน
- สำหรับเนื้อหาประวัติศาสตร์ในเวอร์ชันของสีจิ้นผิงนั้นเรียบง่าย คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นยิ่งใหญ่ รุ่งโรจน์ และถูกต้องเสมอ ตราบใดที่ประชาชนเดินตามพรรค จีนจะผงาดขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีผู้นำเพียงคนเดียวที่ทำให้ความยิ่งใหญ่นั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ในอีกไม่นานนี้ คือตัวเขานั่นเอง
- ดังนั้นเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นใหม่นี้จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้สีจิ้นผิงอยู่ในอำนาจต่อไป (อย่างน้อยก็นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อจนครบสมัยที่ 3 หรืออีก 5 ปี) แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญฟากตะวันตกบางส่วนเชื่อว่าความเคลื่อนไหวนี้จะปูทางให้สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งผู้นำไปตลอดชีวิตก็ตาม
- หนังสือแถลงการณ์ของพรรคระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินผ่านประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ 100 ปี และได้เขียนมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีนหลายพันปี นอกจากนี้เนื้อหายังเป็นเรื่องเกี่ยวกับทิศทางของจีนหลังจากนี้ด้วย โดยคำประกาศเขียนไว้ว่า การวางตำแหน่งของสีจิ้นผิงเป็น ‘แกนกลาง’ ของพรรคและศูนย์กลางของพรรคนั้น สะท้อนความปรารถนาร่วมกันของพรรคคอมมิวนิสต์ กองทัพ รัฐ และประชาชนทุกชาติพันธุ์ ดังนั้นจึงมีความหมายที่ชัดเจนต่อการพัฒนาพรรคและกิจการของประเทศในยุคสมัยใหม่และความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชาติจีน
- สำหรับการประชุมของคณะกรรมการกลางชุดที่ 19 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เพิ่งปิดฉากไปนั้น ถือเป็นก้าวย่างสำคัญก้าวแรกก่อนการประชุมใหญ่ปีหน้า ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการประกาศรับรองให้สีจิ้นผิงเป็นผู้นำต่ออีกสมัย โดยก่อนหน้านี้ในปี 2018 จีนได้แก้กฎหมายที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ 2 สมัย
- เจ้าหน้าที่จีนและผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมื่อไม่มีข้อจำกัดด้านวาระดำรงตำแหน่ง สีจิ้นผิงจะสามารถใช้เวลามากขึ้นในการดำเนินนโยบายของเขา อีกทั้งช่วยลดความไม่แน่นอนสำหรับจีน ในขณะที่ประเทศเข้าสู่ช่วงการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง
- ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า มติประวัติศาสตร์เป็นความพยายามล่าสุดของสีจิ้นผิงในการลบล้างกระบวนการกระจายอำนาจที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่สมัยของเติ้งเสี่ยวผิงและเจียงเจ๋อหมิน ขณะที่สีจิ้นผิงเดินหน้ารวบอำนาจต่อเนื่องหลายปี และเป็นสัญญาณว่าจีนอาจย้อนกลับไปสู่ ‘ลัทธิบูชาบุคคล’
ความเห็น ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กับทิศทางจีนยุคสี 3.0
- ในประเด็นที่สื่อตะวันตกมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังปูทางให้สีจิ้นผิงปกครองจีนตลอดชีวิตนั้น ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ มองว่า ในทางการเมืองจีนสมัยใหม่นั้น การอยู่ในอำนาจตลอดชีวิตถือเป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่เติ้งเสี่ยวผิงก็ยังทำไม่ได้ ตอนนี้ที่แน่นอนคือสีจะดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่ 3 แต่หลังจากนั้นเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องจับตาดูกันต่อไป
- ดร.อาร์ม ยังเห็นต่างออกไปจากนักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตกที่มองว่า สีจิ้นผิงกำลังยกสถานะของตนเองขึ้นเทียบเท่าเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง โดยในคำประกาศของพรรคล่าสุดนั้น สียกย่องผู้นำทั้ง 4 รุ่น ซึ่งรวมถึงเจียงเจ๋อหมินและหูจิ่นเทาด้วย ว่ามีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของพรรคในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา
- ดร.อาร์ม ชี้ว่า สีจิ้นผิงได้ชีดเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ของจีนยุคใหม่ออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 30 ปี ช่วงแรกเป็นยุคการสร้างจีนให้เป็นปึกแผ่นในสมัยเหมาเจ๋อตง ช่วงที่สองเป็นยุคการสร้างจีนให้ร่ำรวยขึ้นในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง, เจียงเจ๋อหมิน และหูจิ่นเทา ส่วนช่วงที่ 3 เป็นช่วงการฟื้นฟูจีนให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง โดยในช่วงที่ 3 นี้เริ่มต้นจากสีจิ้นผิง
- ถึงแม้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าสีจิ้นผิงจะได้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคต่ออีกสมัย แต่ ดร.อาร์ม ยังชวนให้จับตาการประชุมใหญ่ของพรรคในปีหน้า เพราะจะมีการเลือกคณะกรรมการสูงสุดของพรรค ซึ่งหากทั้งทีมเป็น ‘ลูกหม้อ’ ของสีจิ้นผิง ก็อาจมองได้ว่าสีจิ้นผิงรวบอำนาจเด็ดขาด แต่หากมีกรรมการที่ไม่ใช่คนของสีจิ้นผิง ก็อาจสะท้อนได้ว่าภายในพรรคยังมีการสร้างสมดุลทางอำนาจอยู่ในระดับหนึ่ง
- นอกจากนี้สิ่งที่น่าจับตาอย่างมาก คือดูว่ามีการวางตัวทายาททางการเมืองต่อจากสีจิ้นผิงหรือไม่ ซึ่งสามารถดูได้จากรายชื่อคณะกรรมการสูงสุดของพรรค หากมีคนที่อายุน้อยกว่าคนอื่นๆ มาก ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าคนคนนี้อาจถูกวางตัวให้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจสีจิ้นผิง เพราะการประชุมพรรคเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รายชื่อคณะกรรมการกรมการเมืองล้วนมีอายุไล่เลี่ยกัน
- สำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากสีจิ้นผิงอยู่ในอำนาจต่อไปนั้น ดร.อาร์ม มองว่า การอยู่ในอำนาจต่อไปอาจสร้างความผันผวนทางการเมือง ซึ่งถ้าสีจิ้นผิงไม่ได้วางตัวทายาททางการเมืองที่ชัดเจนไว้ ก็อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน เพราะคนที่ต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำคนถัดไปก็อาจต้องใช้วิธีการที่ไม่ปกติ นอกจากนี้การอยู่ในอำนาจนานก็อาจทำให้เกิดความสงสัยว่า เขาจะแก้ไขสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดได้ดีแค่ไหน
- ส่วนความท้าทายใหญ่ที่สุดของสีจิ้นผิงในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 นั้น ดร.อาร์ม มองว่าจีนกำลังเผชิญกับทั้งศึกนอกและศึกใน ศึกนอกคือการแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ทั้งสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี บวกกับบรรยากาศทางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับจีน รวมทั้งกรณีไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก
- ส่วนศึกในนั้น คือการที่จีนต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยโครงสร้างประชากรสูงอายุและความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจที่แต่เดิมพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน สีจิ้นผิงมองว่าภายใต้ความท้าทายเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้นำที่แข็งแกร่งอย่างเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความเสี่ยงและความท้าทายมหาศาลที่ต้องพิสูจน์ฝีมือตัวเขาด้วยเช่นกัน
ภาพ: Andrea Verdelli / Getty Images
อ้างอิง: