×

‘ยาเสพติด’ ภาพติดตัวของชาวเขา เจาะต้นกำเนิดมายาคติของรัฐไทย

19.11.2020
  • LOADING...
‘ยาเสพติด’ ภาพติดตัวของชาวเขา เจาะต้นกำเนิดมายาคติของรัฐไทย

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เวลาที่กลุ่มชาวเขากระทำความผิด ข่าวต่างๆ มักจะระบุชื่อทางชาติพันธุ์พ่วงท้ายผู้ถูกกล่าวหา ในขณะที่ถ้าเป็นคนไทยจะไม่ระบุว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อะไร และชาวเขามักจะถูกต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติดมากกว่าคนไทย ซึ่งแบบนี้เองที่เราเรียกกันว่าเป็น ‘มายาคติ’ คือความคิดที่ไม่เป็นจริง หรือจะมองไปถึงขั้นว่าเป็น ‘อคติทางชาติพันธุ์’ ก็ได้ 
  • เดิมทีชาวเขานั้นเป็นกลุ่มคนที่เคยปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมาย จนกระทั่งรัฐไทยประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายเมื่อปี 2501/2502 ส่งผลทำให้ชาวเขาบางกลุ่มบางครอบครัวปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชาวเขามีภาพลักษณ์ฝังลึกในเชิงลบคือ ถูกรัฐระแวดระวังสงสัยมาโดยตลอดว่าเป็นผู้ที่ค้ายาเสพติด
  • ประกอบกับช่วงเวลาหลังปี 2500 ได้เกิดปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน จึงยิ่งทำให้ชาวเขาถูกมองด้วยสายตาอย่างไม่เป็นมิตรโดยรัฐเข้าไปอีก

ไม่เกินคาดคิดสักเท่าไรที่ศาลแพ่งจะยกฟ้องคดีวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาวลาหู่ (มูเซอ) ผู้ถูกกล่าวหาในคดียาเสพติด ส่งผลทำให้กองทัพบกภาคที่ 3 นั้นพ้นผิด ซึ่งเมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ แน่นอน ฝ่ายครอบครัวของชัยภูมิและทีมทนายได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อไป แต่มันก็อดสงสัยไม่ได้ถึงกระบวนการและหลักฐานที่นำไปสู่คำตัดสินดังกล่าว เช่น การที่ทหารกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบจุดเกิดเหตุทันที หรือลายนิ้วมือบนยาเสพติดที่ไม่ตรงกับชัยภูมิ

 

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นต่อกรณีนี้มีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เวลาที่กลุ่มชาวเขากระทำความผิด ข่าวต่างๆ มักจะระบุชื่อทางชาติพันธุ์พ่วงท้ายผู้ถูกกล่าวหา ในขณะที่ถ้าเป็นคนไทยจะไม่ระบุว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อะไร เรื่องที่สอง เมื่อเทียบกันอย่างไม่มีสถิติ ชาวเขามักจะถูกต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติดมากกว่าคนไทย ซึ่งแบบนี้เองที่เราเรียกกันว่าเป็น ‘มายาคติ’ คือความคิดที่ไม่เป็นจริง หรือจะมองไปถึงขั้นว่าเป็น ‘อคติทางชาติพันธุ์’ ก็ได้ แต่เอาเป็นว่าคำถามสำคัญคือ ทำไมจึงได้เกิดมายาคติแบบนี้ขึ้นมาในสังคมไทย 

 

ยาเสพติดเคยสร้างรายได้ให้กับรัฐไทยอย่างมหาศาล ถือเป็นภาษีรายได้อันดับต้นๆ กันเลยทีเดียว ในช่วงสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม การค้าฝิ่นมีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างมาก เพราะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีความต้องการฝิ่นในปริมาณสูงขึ้น ทั้งเพื่อเสพและใช้ทางการแพทย์ ในช่วงนี้เองเครือข่ายการค้าฝิ่นของสยามขยายตัวออกไปกว้างขวางที่สุด เพราะเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้บุกเข้าไปยังเขตเชียงตุงและรัฐฉาน ทำให้ทหารและตำรวจได้สร้างสายสัมพันธ์ติดต่อค้าฝิ่นกับจีนฮ่อและชาวเขาบางกลุ่มขึ้น ส่วนรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้ห้ามการปลูกฝิ่น เพียงแต่จัดให้เป็นสินค้าควบคุม เพื่อจะได้เก็บภาษีได้ 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝิ่นจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล แต่ก็มักถูกประณามจากที่ประชุมของสหประชาชาติอยู่บ่อยครั้ง เช่น พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยถูกประณามกลางที่ประชุมสหประชาชาติ เพราะเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการซื้อขายฝิ่น ทำให้รัฐบาลไทยยอมเลิกการส่งฝิ่นออกนอกประเทศ แต่ถึงอย่างนั้น พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยได้อนุญาตอย่างเป็นทางการให้มีการปลูกฝิ่นในภาคเหนือได้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ฝิ่นมาใช้เพียงพอกับความต้องการ เพราะฝิ่นจากจีนไม่สามารถนำเข้าได้อีก อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติภายในของจีน (อำนวยชัย ปฏิพัทธ์ 2518: 4-10) และไม่ต้องการให้เกิดการค้าฝิ่นเถื่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมได้ยาก 

 

หนังสือเรื่อง 30 ชาติในเชียงราย (พ.ศ. 2493) ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ถือได้ว่าเป็นบันทึกแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 2490 หรือก่อนหน้านี้ได้มีชาวเขาหลากหลายกลุ่มอพยพเข้ามาเพื่อปลูกฝิ่นมากขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มของชาวเขาที่อพยพเข้ามา ได้แก่ ม้ง เมี่ยน ลีซอ และมูเซอ โดยเฉพาะกลุ่มของชาวม้งนั้นถือได้ว่าเข้ามาในภาคเหนือเป็นจำนวนมากที่สุดในช่วงเวลานั้น (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ 2547: 235-241) นอกจากนี้แล้วการอพยพเข้ามาของกลุ่มทหารจีนคณะชาติ (จีนฮ่อ) ได้ส่งผลทำให้เกิดการค้าฝิ่นและยาเสพติดกันมากขึ้น เพราะมีทหารจีนคณะชาติบางส่วนได้ผันตัวไปค้าฝิ่นและยาเสพติด เพื่อนำเงินมาใช้ในกองทัพ และใช้ซื้อสิ่งของอื่นๆ ที่ต้องการ (กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร: 2549) แหล่งใหญ่ของการปลูกฝิ่นและค้ายาเสพติดในเวลานั้นคือ พื้นที่ที่เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ คือพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงราย จีน และพม่านั่นเอง 

 

แต่แล้วในที่สุด รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ต้องเจอกับแรงกดดันจากสหประชาชาติอีกครั้ง ส่งผลทำให้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ต้องประกาศให้เลิกการขายและการใช้ฝิ่นตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2499 แต่ต่อมากำหนดเส้นตายนี้ได้เลื่อนออกไปอีก 1 ปี เพราะว่ารัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถแสวงหารายได้อื่นมาทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากอากรฝิ่น (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2548: 235) 

 

ภายหลังจากประเทศต่างๆ ได้เรียกร้องกดดันให้ประเทศไทยเลิกการปลูกฝิ่นอย่างจริงจังมาตลอดนับตั้งแต่รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นได้เกิดผลสำเร็จก็ในรัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฝิ่นได้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยฉับพลัน เมื่อรัฐบาลออก ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ในประกาศได้แสดงความรังเกียจและต่อต้านฝิ่นอย่างชัดเจน ความว่า 

 

“ด้วยคณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า การเสพฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงการสังคมและเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัยอย่างร้ายแรง ประเทศต่างๆ ได้พยายามเลิกการเสพฝิ่นโดดเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรให้เลิกการเสพฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยเสีย” (อ้างถึงใน ชมรมศึกษาและวิจัยชาวเขา 2517: 334-335) แม้ว่าประกาศนี้จะประกาศเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2501 แต่ประกาศจะมีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาดจริงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2502 ส่งผลทำให้ฝิ่นถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง  

 

ผลจากคำประกาศของคณะปฏิวัตินี้เองได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวเขามีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ทำลายชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น คดียาเสพติดของชาวเขาได้เพิ่มสูงขึ้นทันที ทั้งนี้ เป็นเพราะพวกเขาที่เคยอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบถูกกฎหมายที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนมาร่วมร้อยปีนั้นต้องกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยฉับพลัน ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะปรับตัวหรือหาทางเลือกให้กับชีวิตใหม่ได้ทัน รัฐเองก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ มากนัก ทั้งๆ ที่พวกเขาได้จ่ายภาษีให้กับรัฐไทยเป็นจำนวนมาก 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นจากการออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ก็คือ นโยบายทางการเมืองของรัฐไทยนั้นได้เกิดขึ้นจากความพยายามในการรักษาหน้าตาไม่ให้ถูกประณามจากนานาชาตินั่นเอง นอกจากนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ทักษ์ เตียรณ นักรัฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้ว จอมพล สฤษดิ์ ต้องการที่จะให้ประชาชนเห็นว่า ตนมิได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวจากฝิ่นแบบเดียวกับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เพื่อแสดงให้เห็นความจริงใจ จอมพล สฤษดิ์ ได้เผาฝิ่นปริมาณมหาศาลที่สนามหลวงเมื่อ พ.ศ. 2502 (มีเรื่องเล่าว่ามีคนที่ไปดูการเผาฝิ่นที่สนามหลวงนั้นถึงกับตาเยิ้มกันเป็นแถว)

 

ที่ลึกซึ้งมากขึ้นก็คือ จอมพล สฤษดิ์ หวังที่จะเอาใจมหาอำนาจตะวันตกต่างๆ เพราะฝิ่นได้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของคอมมิวนิสต์ในการทำลายโลกเสรี คือฝิ่นทำให้คนในโลกเสรีต้องมัวเมาจนเป็นทาสคอมมิวนิสต์ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยอยู่ฝ่ายโลกเสรีจึงต้องทำลายฝิ่น ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายคอมมิวนิสต์ลงไปพร้อมกัน (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ 2548: 235-237) เจฟฟรี เรซ ได้กล่าวว่า ในช่วงของสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ระหว่าง พ.ศ. 2500-2510 การปลูกฝิ่นของชาวเขาได้ถูกผูกโยงเข้ากับปัญหาคอมมิวนิสต์ไปด้วย เพราะรัฐมองว่ารายได้จากการค้าฝิ่นมีส่วนในการสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถดำเนินการต่อต้านรัฐบาลได้ (เจฟฟรี เรซ 2517; ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2541: 116-117) 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐไทยรู้สึกไม่ไว้ใจและเพ่งเล็งชาวเขาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงมากๆ ซึ่งเหมาะกับการปลูกฝิ่น ได้แก่ ชาวม้ง เมี่ยน (เย้า) ลีซอ และมูเซอ (ลาหู่) นับจาก พ.ศ. 2502 ทางการไทยจึงได้ส่งทหารและตำรวจเข้าไปยังหมู่บ้านของชาวเขามากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อปราบปรามฝิ่นและยาเสพติดชนิดอื่นๆ บางแห่งถูกใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง เพียงแค่สงสัยว่าปลูกฝิ่นหรือเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาหมู่บ้าน การใช้ระเบิดนาปาล์ม (ระเบิดเพลิง) 

 

พล.อ.​ ประภาส จารุเสถียร ให้ความเห็นไว้เมื่อ พ.ศ. 2509 ว่า “ชาวเขาเผ่าใหญ่ๆ ยังมีรายได้จากการปลูกฝิ่น ซึ่งรัฐบาลต้องการจะระงับเสีย เพื่อสวัสดิภาพของชาวไทยเอง และของประชาชนทั่วโลกอีกด้วย” (ประภาส จารุเสถียร: 2509) ซึ่งความคิดแบบนี้เองที่สร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปราบอย่างรุนแรงมาตลอด เพราะมองด้วยความคิดที่ว่า ชาวเขาคือต้นเหตุของการทำลายคนไทยและประเทศชาติ

 

 

ในห้วงเวลานั้นจึงเกิดหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เข้าไปปราบปรามหรือช่วยเหลือพวกชาวเขา เช่น คณะกรรมการปราบปราบยาเสพติดให้โทษ ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2514 ซึ่งเน้นไปที่การปราบปรามเป็นหลัก หรือโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาของรัชกาลที่ 9 ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNPDAC (The United Nations Programme for Drug Abuse Control) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันการปลูกฝิ่นด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชทดแทน ป้องกันการทำลายป่าไม้ การสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยที่อาจเกิดขึ้นจากชาวเขา (Tapp 1979: 11) 

 

หลังจากโครงการหลวงดำเนินไปได้หลายปี ก็ได้มีเสียงจากประชาชนในเขตเมืองเหมือนกันว่า ในหลวงได้ทรงเอาใจใส่ชาวเขามากจนทำให้คนไทยเกิดความน้อยใจ (เสียงสะท้อนดังกล่าวเห็นได้จากบทกลอนชื่อ ถึงชาวฟ้า จากข้าชาวดิน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2516 ซึ่งนำไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ถึงการเปลี่ยนแปลงการปลูกฝิ่นไปเป็นการปลูกพืชเมืองหนาวแทนนี้ ก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยลดปริมาณของยาเสพติดลงได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้ชาวเขาได้เข้ามาสู่ระบบการเกษตรที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดของคนพื้นราบมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก เป็นต้น ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่ตามมาจากพระราชกรณียกิจก็ส่งผลทำให้สังคมไทยเวลานั้นมองว่าชาวเขาเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาด้วย 

 

เรื่องที่ผมเขียนมาข้างต้นนั้น ความจริงมีรายละเอียดปลีกย่อยและความซับซ้อนอีกมาก แต่โดยสรุปก็คือ เดิมทีชาวเขานั้นเป็นกลุ่มคนที่เคยปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมาย จนกระทั่งรัฐไทยประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2501/2502 ส่งผลทำให้ชาวเขาบางกลุ่มบางครอบครัวปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางกลุ่มปรับตัวได้ก็โชคดีไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำให้ชาวเขามีภาพลักษณ์ฝังลึกในเชิงลบคือ ถูกรัฐระแวดระวังสงสัยมาโดยตลอดว่าเป็นผู้ที่ค้ายาเสพติด นี่เองเป็นเหตุที่ทำไมเวลามีข่าวเกี่ยวกับยาเสพติด ข่าวจึงมักเผลอระบุว่า พวกเขาชาติพันธุ์อะไร 

 

ประกอบกับช่วงเวลาหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ได้เกิดปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน จึงยิ่งทำให้ชาวเขาถูกมองด้วยสายตาอย่างไม่เป็นมิตรโดยรัฐเข้าไปอีก ยังมีอีกหลายปัญหาที่ชาวเขาอาจไม่ได้เป็นผู้ก่อเองหรอกครับ แต่มันก็ทับถมไปอย่างมากมาย จนกลายเป็นมายาคติและนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติของตัวรัฐและตัวข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 

 

หวังว่าวันหนึ่งเราจะข้ามพ้นมายาคติแบบนี้และเรื่องอื่นๆ ในสังคมไทย การเมืองไทย เพื่อนำไปสู่สังคมที่มองคนทุกคนในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิ มีเสียง ที่เท่าเทียมกัน

 

อ้างอิง:

  • Tapp, N.  Thailand Government Policy Towards the Hill-Dwelling Minority Peoples in the North of Thailand 1959-76.  London: M.A. Thesis, School of Oriental, African Studies, 1979.
  • เจฟฟรี เรซ.  ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิฆเณศ, 2517. 
  • แนวร่วมนักกฎหมายเพื่อประชาชน กลุ่มนักศึกษากฎหมายรุ่นใหม่. ถึงชาวฟ้า จากข้าชาวดิน. กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2518. 
  • กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร.  ทหารจีนคณะชาติ ก๊กมินตั๋ง ตกค้างทางภาคเหนือประเทศไทย.  เชียงใหม่: สยามรัตน พริ้นติ้ง, 2546.
  • ชมรมศึกษาและวิจัยชาวเขา.  วิจัยชาวเขา พ.ศ.2512-2516.  กรุงเทพฯ: ชมรมศึกษาและวิจัยชาวเขา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517.
  • ทักษ์ เฉลิมเตียรณ.  การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.  30 ชาติในเชียงราย.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2547.
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.  ชาวเขาในไทย.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
  • ประภาส จารุเสถียร.  ชาวเขาในประเทศไทย.  กรุงเทพฯ: กรมประชาสงเคราะห์, 2509.
  • ปิ่นแก้ว  เหลืองอร่ามศรี.  วาทกรรมว่าด้วย “ชาวเขา”.  สังคมศาสตร์: วารสารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 11, 1 (ตุลาคม –ธันวาคม 2541): 92-135.
  • อำนวยชัย ปฏิพัทธ์.  ฝิ่นในเมืองไทยผลพวงแห่งความสำเร็จ.  จุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 3, 1 (ตุลาคม – ธันวาคม 2518): 4-10.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X