The Secret Sauce ได้รับโอกาสพิเศษสัมภาษณ์ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอ Microsoft ผู้นำทรงอิทธิพลของโลก โดยสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
Microsoft เห็นโอกาสอะไรในไทย
- สัตยาเล่าว่าตอนมาที่ประเทศไทยได้เห็นศักยภาพของสังคมไทยทุกด้าน ที่หลายองค์กรนำ Generative AI เข้ามาใช้แล้ว
- โดยมองทุกประเทศต้องทำ 2 อย่างเหมือนกัน คือ ‘การจัดการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ’ เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญ และประเทศไทยมีศักยภาพพอที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ได้
- เขาได้กล่าวถึงงานวิจัยของ Diego Comin นักเศรษฐศาสตร์วิทยาลัยดาร์ตมัธ โดยงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่สามารถนำเข้าเทคโนโลยีที่ดีที่สุดได้โดยมีอุปสรรคน้อยที่สุดไม่ต้องสร้างสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่นำเข้ามาใช้ และนำมาประยุกต์ใช้ต่อยอดสร้างเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ประเทศเหล่านี้จะก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรป และประเทศไทยควรเป็นแบบนั้น
ถอดรหัสความเป็นผู้นำของสัตยา นาเดลลา
- สัตยาได้พลิกโฉมบริษัทมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ให้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่มูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ขึ้นมาเป็นผู้นำในปี 2014 โดยเคล็ดลับเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้คือ
- เขามองว่าการจะพาองค์กรเดินไปข้างหน้าไม่ได้เกี่ยวกับความสำเร็จในอดีต แต่เกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังจะทำในอนาคต
- จะเห็นว่าคำขวัญขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Growth Mindset, Fixed Mindset หรือการเปลี่ยนกรอบคิดจาก ‘รู้ทุกอย่าง’ เป็น ‘เรียนรู้ทุกอย่าง’ (‘know-it-alls’ to ‘learn-it-alls’) ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเขา
- ตอนนี้เราเข้าสู่ปีที่ 2 ของการเปลี่ยนเทคโนโลยีครั้งใหญ่ เขาได้ผ่านยุคเว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต คลาวด์บนมือถือ และตอนนี้ก็มาถึงยุค AI
- ดังนั้นแทนที่จะนั่งคิดถึงเมื่อ 50 ปีก่อน คุณต้องมีมุมมองที่สดใหม่กับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Microsoft ยังทันสมัย
- สัตยายังย้ำอีกว่า “พระเจ้าไม่ได้ให้พรบริษัทใดก็ตามให้อยู่ต่อไปได้ บริษัทจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม”
3 แนวคิดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ
- เวลาที่เขาคิดถึงความเป็นผู้นำ เขาจะใช้เป็นกระจกเพื่อสะท้อนให้ตัวเองและคนรอบข้าง โดยมองว่ามี 3 ข้อที่สำคัญ และผู้นำสามารถนำไปใช้ได้กับทุกที่ ได้แก่
-
- “ผู้นำจะต้องไม่สร้างความสับสน แต่ต้องสร้างความกระจ่าง” ในสถานการณ์เต็มไปด้วยความคลุมเครือ
- ผู้นำควรจะสร้างพลังงานรอบตัวได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่กับทีมหรือบริษัทเท่านั้น (Stakeholders, Family etc.) เพื่อขับเคลื่อนผู้คนและองค์กรทั้งหมดไปข้างหน้า
- ผู้นำจะต้องไม่รีรอจนสภาพแวดล้อมสมบูรณ์แบบก่อนแล้วค่อยลงมือทำ ต้องพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาสุดหินที่มีข้อจำกัดอยู่เสมอ หาทางปลดล็อกข้อจำกัดของทีมให้ได้
ผู้นำจะฝึกฝนและขัดเกลาตนเองอย่างไร
- สัตยาตอบว่า “เป็นคำถามที่เรียบง่ายมากๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่มีแค่ผมหรือคุณเท่านั้นที่ทำได้ เราควรตระหนักในเรื่องนี้ เพราะบางครั้งผู้นำก็ต้องยอมเสี่ยง เพื่อที่ทีมจะไม่สะดุดหรือติดขัดจากปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าคุณไม่ยอมตัดสินใจ องค์กรของคุณจะกลายเป็นอัมพาต”
- ดังนั้นผู้นำคือคนที่อยู่กับการตัดสินใจในเรื่องที่มีแต่พวกเขาเท่านั้นที่ทำได้ และต้องทำอย่างรวดเร็วด้วย
- ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ซีอีโอหรือผู้บริหารสามารถทำได้ แต่บางทีช้าบ้างก็ได้ แทนที่จะรีบเร่งไปโดยไร้จุดหมาย เพราะคุณต้องเรียนรู้หรือรับฟังมุมมองที่แตกต่างบ้าง
ทักษะความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ไม่ใช่ Soft Skill แต่เป็นทักษะ Hard Skill
- สัตยาบอกว่า บริษัทไหนก็ตามที่บอกว่าอยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นั่นหมายความว่าคุณตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเบื้องลึกที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
- แล้วเราจะทำได้อย่างไร หากไม่ใช้ความเข้าอกเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมันคือการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
- ดังนั้นสัตยาจึงมองว่า ‘ความเข้าอกเข้าใจคือทักษะเบื้องหลังนวัตกรรม’ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาไม่คิดว่ามันจะเป็น Soft Skill
- ทุกคนมีความสามารถที่จะพัฒนาทักษะความเข้าอกเข้าใจในสถานการณ์ ผู้คน และบริบทต่างๆ รอบตัวเราได้ ตราบเท่าที่เราเต็มใจจะเรียนรู้และรับฟัง
เราควรสอนลูกหลานของเราในยุคปัญญาประดิษฐ์อย่างไร
- สัตยาตอบได้น่าสนใจว่า สิ่งที่การศึกษาแห่งอนาคตควรผลักดันคือ ‘ความไม่เกรงกลัว’
- ตอนเด็กเรามักต่อต้านการเรียนรู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่ในโลกที่มี AI จะช่วยให้เราพัฒนาความเชี่ยวชาญทุกด้านได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดย ‘การปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งความรู้และวิธีการเรียนรู้’
- โดยสัตยาได้ยกตัวอย่างว่าเขาเห็น JavaScript อธิบายพื้นฐานสมการของแม็กซ์เวลล์ให้เห็นเป็นภาพได้ ทำให้เขาเข้าใจได้ทันที ซึ่งถ้าได้เรียนแบบนี้สมัยเรียนปริญญาตรีน่าจะดีกว่านี้มาก
- ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์อาจทำให้เรากล้าแสวงหาความรู้และกล้าอยากรู้อยากเห็นโดยไม่กลัว
รับชมบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่: