หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่… พ.ศ. … สำหรับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม
โดยกระทรวงใหม่นี้จะเป็นการควบรวม 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเป็นการปฏิรูปการบริหารราชการที่เน้นทำงานร่วมกับภาคเอกชนและสังคม การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับนวัตกรรม และการปฏิรูประบบงบประมาณ โดยจะให้ด้านการวิจัยในเรื่องสำคัญๆ ต้องเป็นงบประมาณผูกพัน
ซึ่งก่อนหน้านี้นายสุวิทย์ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘กระทรวงใหม่ : โอกาสและความท้าทาย สำหรับมหาวิทยาลัย’ ว่าการจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง เนื่องจากจะมีความเป็นราชการน้อยลง หลุดพ้นจากการติดกับดักของการบริหารจัดการทั่วไปของระบบราชการ และตอบโจทย์ประเทศมากขึ้น โดยจะมีการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เช่น การให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถทำงานวิจัยและใช้ประโยชน์จากการวิจัยได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปฏิรูปเรื่องงบประมาณการวิจัย เป็นต้น
สำหรับกระทรวงใหม่จะแบ่งการทำงานออกเป็น 4 กลุ่มงาน กลุ่มที่ 1 ว่าด้วยนโยบายด้านการวิจัย ด้านเงินทุน หรือกองทุนการวิจัย กลุ่มที่ 2 เป็นการแปรสภาพกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กลุ่มที่ 3 ว่าด้วยการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มที่ 4 ว่าด้วยมหาวิทยาลัย
ซึ่งหลังจากนี้จะมีการส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งจะมีการออกร่าง พ.ร.บ. อีกหลายฉบับตามมา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงใหม่นี้อีกประมาณ 2 เดือน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล