วันนี้ (18 ตุลาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อววน.) ครั้งที่ 3/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมวันนี้มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นไปในการทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาต่อยอดอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศให้สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ดึงดูดนักลงทุน และสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรม 4 + 2 วาระเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
4 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
- อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
- อุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง
2 วาระอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ประกอบด้วย
- เปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด
- การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการพัฒนาบุคลากรให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรม รวมไปถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาทักษะ Upskill และ Reskill ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยสร้างแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ให้กับประชาชนผ่านระบบคลังหน่วยกิตกลาง (National Credit Bank: NCB) สร้างโอกาสทางการศึกษาให้ทุกช่วงวัย
ด้าน จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างข้อเสนอโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของประเทศ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การผลิตกำลังคน การยกระดับผู้ประกอบการ ไปจนถึงการพัฒนาศูนย์ทดสอบ โดยในระยะเวลา 5 ปี รัฐบาลตั้งเป้าผลิตกำลังคนเฉพาะทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ไม่ต่ำกว่า 80,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ ผ่านหลักสูตรในรูปแบบใหม่ๆ ที่ได้ออกแบบร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม หรือหลักสูตร Sandbox ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รวมทั้งยังมีโครงการจัดตั้ง Training Center จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับและเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ให้แก่กำลังแรงงานที่อยู่ในระบบ รวมถึงการวิจัยร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน และเห็นชอบโครงการระบบคลังหน่วยกิตกลาง (NCB) ซึ่งในอนาคตผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตหรือเทียบโอนหน่วยกิตที่ได้จากการทำงานหรือประสบการณ์วิชาชีพต่างๆ เพื่อนำหน่วยกิตที่ได้ไปเทียบเป็นคุณวุฒิต่างๆ ได้ และผู้เรียนจะสามารถรู้ได้ว่าตนเองยังขาดทักษะหรือความรู้ในด้านใด และจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ด้านใดเพิ่มเติม เพื่อนำตนเองไปสู่เป้าหมายอาชีพที่ต้องการทำในอนาคตได้
จิรายุกล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สามารถมอบรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับประชากรทุกกลุ่มโดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุและวุฒิการศึกษา
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 160,136 ล้านบาท โดยงบประมาณด้านการอุดมศึกษาประมาณ 115,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระบบปริญญาและหลักสูตรระยะสั้น ตั้งเป้าผลิตนักศึกษาในหลักสูตรที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศกว่า 670,000 คน และกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์กว่า 133,000 คน