×

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเผย หุ้นกู้ High Yield กลุ่มอสังหา Rollover ต่ำกว่า 50% ของยอดครบชำระ แต่หุ้นกู้มีเรตติ้งยังขายคล่อง

03.04.2025
  • LOADING...
high-yield-bond-rollover

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เผย หุ้นกู้ High Yield ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ออกขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ (Rollover) ได้ 8.8 พันล้านบาท จากที่ครบกำหนดทั้งหมด 1.8 หมื่นล้านบาท 

 

ส่วนหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment Grade ยังออกขายได้เกินกว่าหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด คิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท จากที่ครบกำหนด 2.6 หมื่นล้านบาท 

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ออกขายหุ้นกู้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) ในกลุ่ม High Yield มีมูลค่า 8,816 ล้านบาท คิดเป็น 48% จากมูลค่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ คิดเป็นมูลค่า 18,267 ล้านบาท 

 

โดยสัดส่วนการออกหุ้นกู้ High Yield ใหม่เทียบกับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ ลดลงจากปีก่อน ซึ่งปีก่อนมีการออกขายหุ้นกู้ High Yield ใหม่ 12,801 ล้านบาท คิดเป็น 63% ของมูลค่าหุ้นกู้ High Yield ที่ครบกำหนดชำระ 20,173 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ดี หุ้นกู้อสังหาในกลุ่ม Investment ยังคงออกขายได้มากกว่ามูลค่าหุ้นที่ครบกำหนดชำระ แม้ว่ามูลค่ารวมจะลดลง โดยไตรมาส 1 ของปีนี้ หุ้นกู้อสังหาในกลุ่ม Investment Grade ขายได้ 33,116 ล้านบาท ส่วนที่ครบกำหนดชำระมีมูลค่า 26,528 ล้านบาท ส่วนปีก่อนมีหุ้นกู้ที่ออกขายใหม่ 35,476 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระเมื่อไตรมาสแรกของปีก่อนอยู่ที่ 22,593 ล้านบาท 

 

อริยากล่าวต่อว่า หุ้นกู้อสังหาที่จะครบกำหนดชำระช่วงที่เหลือของปีไม่ได้มีมากผิดปกติ อยู่ที่ประมาณไตรมาสละ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบรายใหญ่น่าจะออกขายหุ้นกู้ได้ตามปกติ แต่ในกลุ่มที่ไม่มีเรตติ้งอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด 

 

“สำหรับบริษัทที่มีหุ้นกู้คงค้าง โดยเฉพาะในกลุ่ม High Yield คงต้องมีการเตรียมการรองรับ เพราะความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้” 

 

ส่วนแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ในปีนี้ คาดว่าจำนวนบริษัทไม่น่าจะมากเท่ากับปีก่อน เพราะนักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น และหลายบริษัทก็วางแผนล่วงหน้า โดยอาจจะพยายามขอเลื่อนการจ่ายคืนเงินต้น หรือขอเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปแทนที่จะปล่อยให้เป็นการผิดนัดชำระหนี้ 

 

ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีผู้ออกหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ 3 ราย รวมมูลค่า 1,605 ล้านบาท ได้แก่ CV มูลค่า 452 ล้านบาท, WTX มูลค่า 408 ล้านบาท และ CHO มูลค่า 475 ล้านบาท ลดลงจากปี 2567 และ 2566 ที่มีผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระปีละ 5 ราย มูลค่า 3,172 ล้านบาท และ 16,363 ล้านบาท ตามลำดับ 

 

ส่วนหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระในไตรมาสแรกของปีนี้มี 9 ราย รวม 8,841 ล้านบาท โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ได้แก่ RICHY มูลค่า 1,534 ล้านบาท, CV มูลค่า 452 ล้านบาท, CGD มูลค่า 798 ล้านบาท, JCK มูลค่า 928 ล้านบาท, PRIME มูลค่า 2,050 ล้านบาท, NRF มูลค่า 1,300 ล้านบาท, EP มูลค่า 1,030 ล้านบาท, TPOLY มูลค่า 360 ล้านบาท และ ECF มูลค่า 389 ล้านบาท 

 

โดยในจำนวนนี้มี 5 ราย ที่เป็นรายใหม่ที่เพิ่งเลื่อนการชำระในปีนี้ ได้แก่ RICHY, PRIME, NRF, EP และ TPOLY ทั้งนี้ ในปี 2567 และปี 2566 มีหุ้นกู้ที่เลื่อนการชำระ 17 ราย และ 14 ราย คิดเป็นมูลค่า 37,963 ล้านบาท และ 12,443 ล้านบาท 

 

อริยากล่าวต่อว่า เป้าหมายการออกหุ้นกู้ทั้งปีนี้โดยรวมยังคาดว่าจะอยู่ที่ 8.5-9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อยที่ทำได้กว่า 9 แสนล้านบาท จากหลายปัจจัยลบ เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว กำแพงภาษีจากสหรัฐฯ และเหตุการณ์แผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงค่อนข้างเร็ว จะเป็นปัจจัยบวกให้การออกขายหุ้นกู้

 

“ดอกเบี้ยลดลงมาเร็วกว่าที่คาด บอนด์ยีลด์ตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหว ลงมา 0.12-0.15% ทำให้ผู้ออกบางส่วนอยากจะออกหุ้นกู้เร็วขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising