×

ชมรมเภสัชชนบท ออกจดหมายถึง 3 หน่วยงาน ขอพิจารณาใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ‘Self Swab Rapid Test’ บรรเทาสถานการณ์คนรอตรวจ

โดย THE STANDARD TEAM
10.07.2021
  • LOADING...
ชมรมเภสัชชนบท

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ชมรมเภสัชชนบท โดย ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง ขอให้พิจารณาใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น Self Swab Rapid Test สำหรับประชาชน

 

ทั้งนี้สาระสำคัญคือ ชมรมเภสัชชนบทขอสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ชุดตรวจโควิด เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อเบื้องต้นด้วยตัวเองได้

 

ตามที่ปรากฏเวลานี้ประชาชนประสบภาวะยากลำบากในการรอตรวจโควิด พบว่าต้องเข้าคิวตั้งแต่ช่วงดึกก่อนวันตรวจ พักผ่อนนอนหลับข้างถนน เป็นปรากฏการณ์ที่บ่งบอกถึงความทุกข์ของคนไทยในเวลานี้อย่างยิ่งยวด ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางที่ผลักดันให้เกิดการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation

 

ชมรมเภสัชชนบทเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วน และพบว่าท่านสามารถช่วยเหลือประชาชนในเวลานี้ได้ โดยใช้ชุดตรวจโควิดเบื้องต้น Self Swab Rapid Test เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อเบื้องต้นด้วยตัวเอง จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการ

 

1. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

1.1 พิจารณาอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจเบื้องตัน Self Swab Rapid Test สำหรับประชาชนโดยทั่วไป

 

1.2 พิจารณาอนุญาตและให้มีการนำเข้าฉุกเฉิน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีความไวและความจำเพาะที่ดี มีมาตรฐาน เสนอต่อรัฐบาลไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องรอเอกชนมายื่นขอนำเข้าแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

1.3 การพิจารณาใดๆ ของคณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาหลายวัน ขอให้ปรับเป็นการประชุมออนไลน์วาระฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมถึงวันหยุดราชการ (ถ้าต้องทำ โดยเป็นไปตามที่กฎหมายรองรับ)

 

2. ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ

 

2.1 ร่วมดำเนินการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนในเวลานี้

 

2.2 จัดช่องทางการกระจายชุดตรวจเบื้องต้นให้ประชาชนเข้าถึง ผ่านกลไกร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรให้บริการตลอดเวลาที่เปิดทำการ คลินิกเทคนิคการแพทย์ และในระดับชุมชน-หมู่บ้านผ่านช่องทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล เพื่อช่วยในการแปลผล ให้คำแนะนำ และป้องกันการอ่านผลที่คลาดเคลื่อน

 

2.3 สนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริการให้แก่ร้านยา คลินิกเทคนิคการแพทย์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล

 

3. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผยแพร่แนวทางการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นสำหรับประชาชนและการแปลผลที่ถูกวิธี

 

การปฏิบัติตัวเมื่อพบว่าผลตรวจเป็นบวก การดำเนินการของท่านจะช่วยเหลือประชาชนได้ในช่วงเวลานี้ และยกระดับมาตรฐานการดูแลป้องกันในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และแบ่งเบาภาระงานบุคลากรด่านหน้าไปได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising