สำหรับแฟนบอลแล้วนอกเหนือจากเรื่องของการตามลุ้นตามเชียร์ทีมรักในสนาม อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความบันเทิง (ระคนทุกข์ใจ) คือการติดตามข่าวสารของการซื้อขายผู้เล่นว่าทีมในดวงใจจะได้นักเตะหน้าใหม่เข้ามาบ้างไหม
เรื่องการตามลุ้นข่าวการย้ายทีมนี้จะผ่านมากี่ยุคสมัยก็เหมือนกันครับ ผมเองจำได้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ ทุกวันก็จะต้องหนีบหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเกอร์มานั่งอ่านเพื่อลุ้นว่าข่าวคราวการย้ายทีมน่าตื่นเต้นบ้างไหม
ที่จำได้แม่นว่าตื่นเต้นจัดๆ ก็การย้ายทีมของ สแตน คอลลีมอร์ ที่ย้ายจากน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ มาอยู่กับลิเวอร์พูลด้วยค่าตัว 8.5 ล้านปอนด์ เป็นสถิติใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษในปี 1995 (โดยเจ้าของสถิติโลกในเวลานั้นคือ จิอันลุยจิ เลนตินี ปีกที่โด่งดังกับโตริโน แต่ย้ายมาดับกับเอซี มิลาน ด้วยค่าตัว 13 ล้านปอนด์เมื่อปี 1992)
รวมถึง คาเรล โพบอร์สกี ปีกผมทรงคุณยายที่ย้ายจากสลาเวีย ปราก มาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังจบฟุตบอลยูโร 1996 ซึ่งเป็นรายการสร้างชื่อของเขา (กับประตูสุดเหนือชั้นด้วยการงัดข้ามหัว วิกเตอร์ บายา นายทวารทีมชาติโปรตุเกส)
สมัยนั้นด้วยความที่การสื่อสารยังไม่ไว อินเทอร์เน็ตไม่ได้แพร่หลาย และไม่มีโซเชียลมีเดียเหมือนทุกวันนี้ ทำให้เรารู้ความเคลื่อนไหวกันอีกทีส่วนใหญ่การย้ายทีมก็แทบจะจบลง หรือมีการชูเสื้อยืนยันการย้ายทีมกันแล้ว
บรรยากาศในสมัยนั้นจึงแตกต่างจากสมัยนี้อย่างมากครับ โซเชียลมีเดียนั้นย่อโลกลูกหนังให้เล็กจนทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้วของเราเองว่าจะขยันไถเพื่อรีเฟรชไทม์ไลน์ขนาดไหน (ขึ้นอยู่กับว่าคุณขยันในการฟอลโลว์นักข่าว หรือคนที่เป็นแหล่งข่าวมากแค่ไหนด้วย)
ความสนุกในการลุ้นแบบเรียลไทม์เคยถึงขั้นพีกที่แฟนๆ ช่วยกันแกะรอยเที่ยวบินหรือตรวจจับเฮลิคอปเตอร์เลยว่ามีใครเดินทางมาถึงสนามบินปลายทางในเมืองของตัวเองบ้าง
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ข่าวสารมันมากจนล้น ดังนั้นเพื่อให้การเกาะติดข่าวนั้นดูไม่เลอะเทอะเกินไป แฟนบอลยุคใหม่ได้เรียนรู้ในการเลือกคนที่จะติดตามแหล่งข่าวกัน ซึ่งนั่นทำให้เกิดนักข่าวระดับ ‘ซูเปอร์สตาร์’ ในสายของข่าวการซื้อขายผู้เล่นในตลาดนักฟุตบอลกันอย่างมากมาย
และคนที่กำลังโด่งดังมาแรงที่สุดในสายนี้คงไม่มีใครเกิน ฟาบริซิโอ โรมาโน (@FabraizioRomano) นักข่าวชาวอิตาลี จ้าวแห่งเรื่องการย้ายทีม เจ้าของสโลแกนที่แฟนๆ ทุกคนชื่นชอบ
Here We Go!
ขยายความเพิ่มเติมสำหรับแฟนบอลที่อาจจะไม่รู้จัก โรมาโนเป็นนักข่าวชาวอิตาลีครับ โด่งดังในโลก Twitter มีแฟนติดตามในปัจจุบันถึงกว่า 1.6 ล้านคน รวมถึงใน Instagram ที่มีจำนวนผู้ติดตาม 1.2 ล้านคน (และตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกวัน) โดยทุกวัน ตลอดทั้งวันโรมาโนจะทวีตข่าวคราวการย้ายทีมอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะในช่วงของตลาดการซื้อขายผู้เล่น (Transfer Window) ในช่วงปิดฤดูกาลแบบนี้ เราจะได้เห็นข่าวเรื่องการย้ายทีมจากนักข่าวคนนี้กันทั้งวันทั้งคืน ซึ่งข่าวสารที่รายงานนั้นล้วนแต่เป็นข่าวการย้ายทีมของผู้เล่นในระดับท็อปของลีกชั้นนำซึ่งเป็นที่สนใจของแฟนบอลทั่วทั้งโลก ที่จะสนุกไปกับการเห็นความคืบหน้าในการเจรจาอย่างต่อเนื่อง จนถึงการชูเสื้อซึ่งเป็นบทสรุปของการย้ายทีม
เพียงแต่กว่าที่เขาจะ Here We Go! ได้นั้น เบื้องหลังการทำงานนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และมีสิ่งที่ผมเชื่อว่าสามารถพอจะถอดบทเรียนในการทำงานของเขาออกมาได้ เผื่อไว้ใช้ในการทำงานของเราเองด้วยครับ
Kai Havertz is now officially a new Chelsea player until June 2025 – the saga is over! 🔵🚨 #CFC #Chelsea #HiKai
Since August 24 agreement to the official announcement 🤝
[This man on the left did a great job and more than 10 calls to push and get Kai… ☎️] pic.twitter.com/1AYNPTOLpQ
— Fabrizio Romano (@FabrizioRomano) September 4, 2020
แฟนบอลทั่วโลกรอคอยว่าโรมาโนจะรายงานข่าวซื้อผู้เล่นใหม่ของทีมตัวเองเมื่อไร
- หัวใจของการทำงานคือการทำงานด้วยหัวใจ
ด้วยชื่อเสียงที่ทำให้เขาเป็นที่สนใจของแฟนบอล ทำให้สื่อระดับโลกอย่าง Bleacher Report ได้เคยบันทึกการทำงานของโรมาโนให้แฟนๆ ได้เห็นกันเลยว่าตลอดหนึ่งวันเขามีการทำงานอย่างไร
ใครที่คิดว่าโรมาโนคือนักข่าวที่มีชื่อเสียงจะนั่งจิบกาแฟชิลๆ เปิดแล็ปท็อปทำงานในร้านกาแฟหรูๆ ใจกลางเมืองมิลาน ฐานบัญชาการใหญ่ของเขา ต้องบอกว่าคิดผิดถนัดครับ
เพราะโรมาโนเกิดมาเพื่อเป็นนักข่าว และลมหายใจของนักข่าวคือการหาข่าว ดังนั้นในแต่ละวันโรมาโนจะเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาข่าวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการใหญ่ของสโมสร (ในเมืองมิลานมี 2 สโมสรคือเอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน) หรือตามโรงแรมใหญ่ในเมืองที่จะมีเอเจนต์นักฟุตบอลรายใหญ่เดินทางมาพักเพื่อทำการเจรจาเสมอ
เช้าอาจจะอยู่ที่หนึ่ง บ่ายอาจจะอยู่อีกที่หนึ่ง โดยสิ่งที่เขาทำคือการ ‘รอ’ เพื่อพบกับแหล่งข่าว ซึ่งการรอนั้นไม่ได้แปลว่าเขาจะได้ข่าวตลอดเวลา เพราะเรื่องธุรกิจสำคัญระดับนี้ การหลุดของข่าวอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องการโยกย้ายทีมทันที
แต่อย่างน้อยต่อให้รู้ว่ามีโอกาสจะไม่ได้ข่าว โรมาโนก็ไม่ลังเลที่จะตามล่าหาข่าว (ที่เขาบอกว่าเหมือนการตามล่า Pokémon) และส่วนใหญ่เขาจะทำสำเร็จด้วยความพยายามและความสามารถส่วนตัว รวมถึงอีกหนึ่งสิ่งคือความสนุกในการทำงาน
“ผมรู้สึกตื่นเต้นเวลาได้ข่าวใหญ่มา สำหรับผมมันเหมือนกับการยิงประตูได้ในเกมใหญ่ๆ”
โดยในแต่ละวันเขาจะได้นอนแค่ราว 5-6 ชั่วโมง กว่าจะนอนคือตี 5 ตื่นราว 10 โมง
แน่นอนว่าคนจะทุ่มเทได้ขนาดนี้ คือคนที่รักการทำงานด้วยหัวใจอย่างแท้จริงครับ
- เข้าให้ถูกตรอก ออกให้ถูกประตู
ในแต่ละวันนอกเหนือจากการไปตามหาแหล่งข่าวถึงที่แล้ว ระหว่างวันเขายังทำการติดต่อกับแหล่งข่าวส่วนตัวอีกมากมายครับ
คนเหล่านั้นมีหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นเอเจนต์นักฟุตบอล (ซึ่งเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในตลาดการซื้อขายผู้เล่นปัจจุบัน) ผู้บริหารของสโมสร นักฟุตบอล หรือคนที่จะมีส่วนเชื่อมโยงกับการย้ายทีม ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นช่องทางเก่าอย่างการยกหูโทรศัพท์หา หรือการติดต่อผ่านโปรแกรมแชตอย่าง WhatsApp (สมมติถ้าติดต่อกับเอเจนต์ไทยก็อาจจะต้องส่งสติกเกอร์ด้วย!)
โดยคนที่สอนวิชาการหาข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย 101 ให้แก่เขาคือ จานลูกา ดิ มาร์ซิโอ อีกหนึ่งสายข่าวอิตาลีที่ผู้คนเชื่อถือ
“ตลาดการซื้อขายเปลี่ยนไปมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเคยต้องนัดพบหรือโทรหาเอเจนต์ทางโทรศัพท์ แต่ปัจจุบันเราสามารถคุยกับพวกเขาผ่านโซเชียลมีเดียได้ด้วย ซึ่งผมก็เริ่มใช้วิธีการนี้เรียบร้อยแล้ว” โรมาโนเผยเคล็ดลับในการทำงาน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกวิธีในการทำงานก็สำคัญไม่แพ้กัน วิธีสมัยเก่าก็ยังใช้ได้ วิธีสมัยใหม่ก็ใช้ดี สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะตัดสินคือผลลัพธ์
ดีลที่เขาภูมิใจที่สุดดีลหนึ่งในการเกาะติดรายงานข่าว คือการย้ายทีมของ บรูโน แฟร์นันด์ส
- เคล็ดลับคือความไว้ใจ
อย่างไรก็ดีกว่าที่โรมาโนจะมีวันที่สามารถเดินไปดักรอแหล่งข่าวเพื่อพูดคุยได้นั้นไม่ใช่ว่าเขาจะเดินดุ่ยๆ เข้าไปหาได้เสียเมื่อไร
มันย้อนกลับไปหาหลักการทำงานของนักข่าวกับแหล่งข่าวครับที่จะต้องมีการซื้อใจกันพอสมควรกว่าที่แหล่งข่าวจะไว้ใจ ซึ่งโรมาโนไม่ได้ใช้เวลาแค่เดือนเดียวหรือปีเดียว แต่เขาใช้เวลาตลอดชีวิตการทำงานในการสั่งสมชื่อเสียงและความไว้วางใจ
จากจุดเริ่มต้นกับการทำงานให้ Sky Sports Italy ด้วยวัย 19 ปี ตอนนี้เขาอายุ 46 ปีแล้ว เรียกว่าทำงานในวงการมาเกือบ 30 ปี และการทำงานอย่างตั้งใจของเขาทำให้ผู้คนได้ประจักษ์และยอมรับในฝีไม้ลายมือ
โรมาโน ยังสานสัมพันธ์กับแหล่งข่าวตลอดเวลาด้วยการทำงานแบบ ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ ซึ่งบางครั้งการที่ได้เขาเป็นกระบอกเสียงในเรื่องใดก็ตาม (โดยเฉพาะการย้ายทีม) ก็อาจเป็นผลดีต่อแหล่งข่าวได้ด้วยเช่นกัน อย่างน้อยก็เป็นที่น่าสนใจขึ้นมาในเวทีโลก
ระยะเวลาที่ยาวนานในการทำความรู้จักมักคุ้นกันมา แหล่งข่าวหลายคนอาจจะเติบโตขึ้น เช่น จากเดิมเป็นนักฟุตบอล ต่อมากลายเป็นผู้อำนวยการสโมสร ซึ่งการที่คุ้นเคยกันทำให้โรมาโนได้รู้ข่าวก่อนหรือลึกกว่าที่คนอื่นจะได้รู้
หรือเอเจนต์ที่อาจจะเคยโนเนมในวันวาน วันนี้อาจจะกลายเป็นเอเจนต์แถวหน้าของวงการ
สิ่งนี้คือ The Secret Sauce ของโรมาโนเลยทีเดียวครับ
- ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ดูถูกคนอ่าน
ถึงจะเป็นนักข่าวระดับซูเปอร์สตาร์ แต่โรมาโนไม่ได้มองว่าตัวเองอยู่สูงหรือเหนือกว่าคนอื่น
เพราะเขาก็เป็นคนข่าวเหมือนเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ ทุกคน ดังนั้นบางครั้งหากมีแฟนบอลสงสัยสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับข่าวคราวต่างๆ โดยอ้างอิงจากสิ่งที่นักข่าวคนอื่นรายงานมา สิ่งที่เขาทำจะไม่เป็นการ ‘ตัดสิน’ ไปว่าเรื่องนั้นถูกหรือผิด แต่เลือกจะถนอมน้ำใจกันด้วยการบอก ‘เท่าที่รู้’
“ในการเป็นนักข่าวสายนี้มันไม่ง่าย เพราะเวลาที่มีคนถามข่าวหรือเรื่องอะไรว่าเป็นความจริงหรือเปล่า ผมเองก็อยากจะให้ความเคารพต่อนักข่าวคนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นผมจะบอกเท่าที่ผมรู้ ผมจะไม่บอกว่าข่าวนี้ปลอม”
นอกจากจะไม่ดูถูกคนอื่นแล้ว โรมาโนไม่เคยดูถูกการทำงานของตัวเองด้วย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เขาไม่คิดจะดูถูกคนอ่าน การทำงานของเขาจะไม่เป็นแบบขอไปที
ความแม่นยำและเชื่อถือได้ต้องมาก่อน ซึ่งเกิดจากการทำงานหนักและประสบการณ์ที่จะช่วยกรองสารที่ได้รับ
แต่แน่นอนว่าจุดเด่นที่สุดของเขาคือความเร็วที่รู้ก่อนคนอื่น ซึ่งเป็นมาตรฐานในการทำงานที่โรมาโนพยายามรักษาเอาไว้
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นน่าจะพอทำให้ได้เห็นกันนะครับว่า กว่าจะ Here We Go! กันได้ไม่ง่ายเลย และนั่นคือราคา ‘พลังชีวิต’ ที่ต้องจ่ายสำหรับการเป็นนักข่าวการย้ายทีมระดับซูเปอร์สตาร์
แต่สำหรับเขา มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะแค่ทำให้แฟนบอลทั่วโลกได้ใจเต้นตูมตามกันทุกเมื่อเชื่อวันแบบนี้เขาก็แฮปปี้แล้วครับ
ว่าแล้วขอตัวไปเกาะติดข่าวการย้ายทีมต่อก่อนนะครับ (ติอาโก อัลกันตารา Saga)
Here We Go! 🙂
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
- คำว่า Here We Go! กลายเป็น ‘แบรนด์’ ของโรมาโนไปแล้ว และมันมีมูลค่ามหาศาล เพียงแต่เจ้าตัวเองก็ไม่ตั้งใจจะให้มันเป็นจุดขายของตัวเองแต่อย่างใด และจำไม่ได้แน่ชัดด้วยว่ามันเริ่มได้อย่างไร
- ที่มานั้นน่าจะเป็นช่วงข่าวการย้ายทีมของ พอล ป็อกบา จากยูเวนตุสกลับมาสู่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งมีข่าวต่อเนื่องร่วม 2 เดือน จนสุดท้ายการย้ายทีมเกิดขึ้น เขาจึงทวีตว่า Here We Go!
- แฟนบอลพยายามสอบถามว่าโรมาโนเชียร์ทีมไหน แต่เขาคิดว่ามันไม่สำคัญเท่ากับการทำงานของเขามากกว่า
- ถึงจะบอกว่าตัวเองปักหลักในมิลาน แต่จริงๆ แล้วเขาคือชาวเมืองปาแลร์โม (เดาไม่ยากกระมังว่าเชียร์ทีมอะไร?)
- หนึ่งในข่าวการย้ายทีมที่เขาภูมิใจมากที่สุดคือเรื่องของ บรูโน แฟร์นันด์ส ที่ย้ายจากสปอร์ติง ลิสบอน มาแมนฯ ยูไนเต็ด (อีกแล้ว) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะเขาตามเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นยันนั่งเครื่องบินไปส่งถึงแมนเชสเตอร์ในตอนจบ!
- เอเจนต์นักเตะที่มีอิทธิพลที่สุดในสายตาของโรมาโนคือ มิโน ไรโอลา ที่เขายกให้เป็น ‘The King’ ของวงการ
- ตามการเปิดเผยของเขา การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดนักเตะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หนึ่งในนักเตะที่ชวดการย้ายทีมคือป็อกบา เพราะยูเวนตุสที่พยายามติดต่อมาตลอดไม่มีงบประมาณในการซื้อตัวกลับไป
- โรมาโน เริ่มเล่น Twitter เมื่อปี 2011
- ปัจจุบันโรมาโนทำงานให้กับ Sky Sports Italia, The Guardian, CBS Sports และช่องทางที่ตัวเองตั้งขึ้นในภาษาอิตาลีคือ Instagram @sosfantacalcio
- ข่าวการย้ายทีมบน Twitter ถูกจำกัดข้อความ ดังนั้น หากอยากได้รายละเอียดมากขึ้นให้ไปตามโรมาโนได้ที่ Instagram @fabriziorom