ชื่อของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะบุรุษผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการต่างประเทศของโลกมากว่า 50 ปี นักการทูต อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และสหายเก่าแก่ของจีนคนนี้ถือเป็นอเมริกันชนที่ใช้เวลาถึงครึ่งชีวิตในการสานสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนมาอย่างยาวนานที่สุด และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่คนจีนรู้จักมากที่สุด ตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาได้มาเยือนจีนแบบลับๆ เมื่อ 50 กว่าปีก่อน จนถึงครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คิสซิงเจอร์เดินทางเยือนจีนกว่า 100 ครั้ง และเขาพูดเสมอว่าทุกครั้งที่มาจีนก็ได้เก็บเกี่ยวสิ่งใหม่ๆ กลับไปเสมอ
สหายเก่าแก่ในความภูมิใจของคนจีน
หลังการจากไปของคิสซิงเจอร์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ) หรือในช่วงเช้าของวันที่ 30 พฤศจิกายน สื่อหลักของจีนอย่าง CCTV ได้เผยแพร่รายงานการเสียชีวิตของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้พร้อมยกย่องว่า “เขาเป็นสหายเก่าแก่ที่คนจีนภูมิใจ”
ในรายงานระบุว่าตลอด 100 ปี ในอายุของคิสซิงเจอร์ คำว่า ‘จีน’ น่าจะเป็นคำที่สำคัญและถูกพูดถึงบ่อยที่สุด และเมื่อพูดถึงชื่อของคิสซิงเจอร์ในความทรงจำของคนจีนจำนวนมากคือการพยายามทำลายกำแพงน้ำแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภารกิจการเยือนจีนอย่างลับๆ ของเขาเมื่อ 52 ปีก่อนและต้นกำเนิด ‘การทูตปิงปอง’ ก็ถูกย้อนความทรงจำในรายงานชิ้นนี้ นอกจากนั้นชาวเน็ตจีนยังร่วมแสดงความอาลัยและแสดงความซาบซึ้งต่อสิ่งที่พวกเขาถือว่าเป็น ‘คุณูปการ’ ที่คิสซิงเจอร์ได้ทำให้กับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ในขณะที่คิสซิงเจอร์เองเคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อคนจีนพูดคำว่า ‘สหายเก่าแก่ หรือเพื่อนเก่า’ นั่นหมายถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญมาก เขาจึงภูมิใจมากที่ได้เป็นเพื่อนเก่าของคนจีน ตลอด 50 ปีที่ผ่านมาคิสซิงเจอร์ได้มีโอกาสพบกับผู้นำจีนจำนวนมากตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตุง จนถึงผู้นำคนปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิง และเขาเองก็พยายามที่จะทำความเข้าใจจีนจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในอดีต อาจพูดได้ว่าเขาเป็นคนอเมริกันเพียงไม่กี่คนที่มีความเข้าใจในประเทศจีนเป็นอย่างดี
หลังวันเกิดครบรอบ 100 ปีของคิสซิงเจอร์ เขาได้เดินทางมาเยือนประเทศจีนและพบกับผู้นำระดับสูงและผู้นำสูงสุดของจีน โดยเขายังคงเน้นย้ำจุดยืนเดิมที่ชัดเจนของเขาในเรื่องของความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-จีน ว่าสันติภาพจะสามารถนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสองประเทศและของโลก และในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาในงานเลี้ยงอาหารค่ำพร้อมมอบรางวัลประจำปีของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ คิสซิงเจอร์เองก็ได้ใช้เวทีนี้ในการพูดถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเขา รวมถึงเรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีให้กลับมาดีดังเดิม เขากล่าวว่า “อย่างที่ผมเคยเชื่อเมื่อ 50 ปีก่อน และเราก็ลงมือทำ ซึ่งเราก็สามารถหาทางเอาชนะอุปสรรคได้”
ประสบการณ์การสูญเสียนำมาซึ่งจุดยืนในการทำงาน
ตลอดชีวิตการทำงานของคิสซิงเจอร์ งานของเขาคือการขจัดความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการได้เห็นการสังหารหมู่ของนาซีเยอรมนีและต้องทนทุกข์ทรมานจากการสูญเสียญาติสนิทจำนวน 13 คนในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จุดยืนของเขาชัดเจนมาตลอดว่าชะตากรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ และจีนจะเข้ากันได้หรือไม่ เขาเชื่อว่าความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของ AI ทำให้พวกเขามีเวลาเพียงแค่ 5-10 ปีในการหาหนทางแห่งสันติภาพ
คิสซิงเจอร์ให้สัมภาษณ์กับ The Economist ในช่วงก่อนวันคล้ายวันเกิดเขาเพียงไม่กี่สัปดาห์ว่า หากสหรัฐฯ ต้องการอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติก็ไม่ควรมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
เขามองว่าจีนใช้ระบบขงจื๊อมากกว่ามาร์กซิสต์ คือผู้นำต้องการการยอมรับและสามารถเป็นผู้ตัดสินผลประโยชน์ของตัวเองได้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่จีนพยายามเรียกร้องจากสหรัฐฯ มาโดยตลอด
คิสซิงเจอร์ยังบอกอีกว่าคนอเมริกันบางคนเชื่อว่าในที่สุดจีนจะพ่ายแพ้ เป็นประชาธิปไตยและสงบสุข แต่เขาไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อว่าการล่มสลายของคอมมิวนิสต์จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองและสั่นคลอนความมั่นคงของโลก เขาจึงไม่เห็นด้วยกับการผลักดันให้จีนล่มสลาย ในขณะเดียวกันแม้จะเป็นเพื่อนที่ดีของจีน แต่คิสซิงเจอร์เองก็ให้ความเคารพไต้หวัน แต่กลับไม่ได้มองว่ารัสเซียเป็นเพื่อนที่ดีของจีน
ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์กับ The Economist คิสซิงเจอร์กล่าวว่า “ผมไม่เคยพบกับผู้นำรัสเซียที่พูดถึงจีนดีๆ เลย และก็ไม่เคยพบกับผู้นำจีนที่พูดอะไรดีๆ เกี่ยวกับรัสเซีย” ในขณะที่โลกปัจจุบันมองว่าจีนและรัสเซียคือเพื่อนรักในวันนี้ แต่คิสซิงเจอร์กลับมองว่า “พวกเขาไม่ใช่พันธมิตรโดยธรรมชาติ”
คิสซิงเจอร์ที่ผ่านโลกมา 100 ปีบอกว่า “เราทุกคนต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกใหม่ ทุกสิ่งที่เราทำอาจผิดพลาดได้และไม่มีสูตรสำเร็จ” แต่เขามองว่าความยากถือเป็นความท้าทายและโอกาส ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอุปสรรคเสมอไป
คิสซิงเจอร์เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลักใหญ่ๆ อยู่ที่ปัญหาไต้หวัน กองทัพ และการเจรจาสื่อสาร ซึ่งเขาก็บอกกับ The Economist ว่าเขาคงไม่มีโอกาสอยู่เห็นความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่กลับมาดีเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน
ภาพ: Adam Berry / Getty Images
อ้างอิง: