ยังคงเดินหน้าสร้างผลงานอย่างดุดัน ต่อเนื่อง เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีแผ่วเลยแม้แต่น้อยสำหรับ ‘เฮงลิสซิ่ง’ (HENG) หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของประเทศไทย หลังจากที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เปลี่ยนนามสกุลเป็นมหาชนไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
ความน่าสนใจคือ HENG สามารถปิดตลาด ณ วันแรก โดยมีมูลค่าซื้อขายรวมถึงกว่า 7,978 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าประทับใจอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ให้บริการสินเชื่อหน้าใหม่ที่เพิ่งกระโดดเข้ามาใน SET (แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มต้นธุรกิจมานานแล้วก็ตาม)
แล้ว HENG เป็นใครมาจากไหน จุดแข็งคืออะไร ทำไมถึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้ และที่สำคัญเป้าหมายต่อจากนี้ในปี 2565 คืออะไร เราจะไปหาคำตอบพร้อมกัน
1+1 ต้องเท่ากับ 3 เริ่มต้นจากเล็ก สู่ฝันใหญ่ในการพาธุรกิจตีเมืองหลวง
จุดเริ่มต้นของ HENG เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558-2559 หรือเมื่อราว 6-7 ปีที่แล้ว จากการรวมตัวกันของผู้ให้บริการสินเชื่อ 4 รายในภาคเหนือ ซึ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าในชุมชนมายาวนานต่อเนื่องกว่า 40 ปี ประกอบด้วย กลุ่มทวีเฮง, กลุ่มพัฒนสิน, กลุ่มมิตรเอื้ออารีย์ และกลุ่มสินปราณี
เจตนารมณ์ในการรวมทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจเข้าด้วยกันนั้น วิชัย ศุภสาธิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เคยเล่าในรายการ The Secret Sauce เอาไว้ว่า พวกเขามองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดให้บริการสินเชื่อในประเทศไทยที่ระดับการแข่งขันเริ่มเข้มข้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการในตลาดจึงต้องมองถึงเป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับตัวเอง ในเมื่อภาคเหนือมีผู้ให้บริการสินเชื่อมากมายหลากหลายราย และแต่ละรายก็มีความแข็งแกร่ง เสน่ห์ และจุดแข็งเฉพาะตัวในแบบของตัวเอง พวกเขาจึงเริ่มต้นศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกัน
จนในที่สุดเกิดเป็น ‘เฮงลิสซิ่ง’ ขึ้นในปี 2549 ด้วยแนวคิด 1+1 = 3 หรือต้องเป็นมากกว่าแค่กลุ่มธุรกิจ 2 รายมารวมตัวกันนั่นเอง โดยเริ่มต้นให้บริการกว่า 147 สาขา ขยายจากภาคเหนือไปสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และยังคงขยายสาขาการให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศไทย จนมีสาขารวมมากกว่า 529 แห่งเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
จุดแข็งของ เฮงลิสซิ่ง กับความสามารถในการตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค ลูกค้าได้หลากหลาย
ในพอร์ตสินเชื่อของเฮงลิสซิ่ง ประกอบไปด้วย 3 ผลิตภัณฑ์และบริการหลัก ๆ คือ
- สินเชื่อแบบมีหลักประกัน ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง, สินเชื่อทะเบียนรถเป็นหลักประกัน และสินเชื่อแบบใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน
- สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ประกอบด้วย สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่มีหลักประกัน (เงินเดือน) และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
- การเป็นตัวแทนนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต
โดยทั้งสามผลิตภัณฑ์นี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความช่ำชองดั้งเดิมของ 4 กลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อก่อนจะมารวมตัวเป็น HENG ทั้งสิ้น นั่นจึงทำให้พวกเขามีฐานลูกค้าจำนวนมหาศาล มีความเข้าใจพฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภคอย่างทั่วถึง (เริ่มจากท้องถิ่น, บุคลากรเป็นเจ้าหน้าที่ในชุมชน มีความเข้าใจลูกค้าในท้องถิ่นเป็นอย่างดี) มีพันธมิตรกลุ่มเต็นท์รถที่แน่นแฟ้น จนทำให้สามารถครองความนิยมจากลูกค้าที่ขอสินเชื่อได้อย่างเหนียวแน่น
ประกาศเป้าหมายใหญ่ กลยุทธ์ปี 2565 ชูแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ขยายสาขาเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง และปั้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตั้งเป้าดันพอร์ตสินเชื่อรวมโต 30%
สำหรับในปี 2565 นี้ HENG ได้ประกาศกลยุทธ์ชูแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีไอทีเสริมศักยภาพยกระดับการให้บริการและสร้างความคุ้มค่าในทุกมิติ รวมถึงลุยขยายสาขากว่าอีก 100 แห่ง และเตรียมปั้นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ด้วย
- การนำซอร์ฟแวร์ KYC เข้ามาช่วยพิจารณาสินเชื่อและบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพ ต่อยอดสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านระบบดิจิทัล (Digital Personal Loan) ในไตรมาส 4 ปีนี้
- ขยายสาขาใหม่เพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง (คาดการณ์แล้วเสร็จต้นไตรมาส 2)
- เพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและนาโนไฟแนนซ์รับจังหวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดำเนินงานของปี 2565 เอาไว้ว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปีนี้จะเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีด้านไอทีเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสินเชื่อและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า หลังได้ลงทุนพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทรัพยากรเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการขยายตัว โดยพัฒนาซอฟต์แวร์พิสูจน์ยืนยันตัวตน หรือ KYC มาใช้เพื่อช่วยพิจารณาสินเชื่อที่เหมาะสม รวดเร็ว ด้วยต้นทุนให้บริการที่ลดลง พร้อมเพิ่มความสามารถควบคุมและบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ลดลง
นอกจากนี้จะมีการนำฐานข้อมูล (Big Data) มาวิเคราะห์วางแผนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย สร้างโอกาสให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่โปร่งใสและเป็นธรรม
รวมถึงการให้บริการผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านระบบดิจิทัล (Digital Personal Loan)’ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ และจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ HENG ในการขยายฐานลูกค้าผลักดันการเติบโตในระยะยาว
ฟากความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร จะเดินหน้าขยายเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองจากปัจจุบันที่มี 5,100 ราย เพื่อให้พร้อมรับรองความต้องการในการขยายฐานผู้ใช้บริการสินเชื่อบุคคลจำนำทะเบียรถ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 55-60% จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 32%
ในแง่การขยายเครือข่ายและสาขา HENG จะเดินหน้าขยายเพิ่มอีกกว่า 100 สาขาในปีนี้ โดยมุ่งไปที่โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นภาพความคืบหน้าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ และจะทำให้พวกเขามีจำนวนสาขารวมทั้งหมดกว่า 630 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะถือเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อโดยรวมในปีนี้เติบโตที่ระดับ 30%
จากผู้ให้บริการสินเชื่อท้องถิ่นแถบภาคเหนือที่ทำธุรกิจมาอย่างยาวนาน วันนี้บทพิสูจน์ต่างๆ และเส้นทางการเดินทางที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านฝนมาหลายฤดูได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘เฮงลิสซิ่ง’ ได้ยกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้ให้บริการที่มีความมั่นคง แข็งแกร่ง และดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และต่อจากนี้ เราก็น่าจะได้เห็นตลาดผู้ให้บริการสินเชื่อในประเทศไทยฟาดฟันแข่งขันกันอย่างดุเดือดแน่นอน โดยที่มีเฮงลิสซิ่งเป็นอีกหนึ่งในผู้ให้บริการที่คุณต้องจับตาเอาไว้ให้ดี!