ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงการปลดล็อก ‘กัญชง’ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาว่า เดิมกัญชงประชาชนทั่วไปขออนุญาตปลูกไม่ได้ ปลูกได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐและสายพันธุ์ที่ใช้เส้นใยเท่านั้น การปลดล็อกครั้งนี้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนสามารถมาขออนุญาตปลูกกัญชงกับทาง อย. ได้ รวมถึงปลูกกัญชงได้ทุกสายพันธุ์
ภญ.สุภัทรากล่าวด้วยว่า กัญชงมีหลายสายพันธุ์และแปรรูปสร้างมูลค่าได้หลากหลาย อาทิ
- สายพันธุ์ที่เอาช่อดอกไปสกัดสาร CBD เพื่อใส่ในอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร
- สายพันธุ์ที่ปลูกเอาเมล็ดไปสกัดน้ำมันทำอาหารเสริม ใส่อาหาร รวมทั้งเครื่องสำอาง
- สายพันธุ์ที่ปลูกเอาแกนลำต้นไปทำอิฐมวลเบา หรือฉนวนไฟเบอร์สำหรับรถยนต์
- สายพันธุ์ที่เอาเส้นใยไว้ทำเสื้อผ้า สินค้าหัตถกรรม
ความแตกต่างระหว่างการปลดล็อกกัญชงกับกัญชา
ภญ.สุภัทรากล่าวว่า การปลดล็อก ‘กัญชา’ ในเวลานี้เราทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ขณะที่บทเฉพาะกาลในกฎหมายยังล็อกไว้แค่หน่วยงานของรัฐจับมือกับวิสาหกิจชุมชน เพราะฉะนั้นกัญชงจะมีความยืดหยุ่นให้คนมาขออนุญาตได้มากกว่ากัญชา
ส่วนจะขอปลูกกัญชงต้องทำอย่างไร
- ขั้นตอนแรกท่านอยู่จังหวัดไหน ไปปรึกษาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น เพราะในการยื่นขออนุญาตจะยื่นตามสถานที่ที่จะทำการปลูก สมมติเริ่มต้นมีที่ดินอยู่จะขอปลูกกัญชง ขั้นตอนแรกต้องมีที่มาของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ตัวเมล็ดพันธุ์ต้องเป็นกัญชงโดยมีสาร THC ไม่เกิน 1% ถ้าเกินจะกลายเป็นกัญชา
- ตอนขออนุญาตปลูกจะมีหลักเกณฑ์ในเรื่องความปลอดภัย ต้องดูเอกสารสิทธิ์ที่ดินว่าถูกต้องหรือไม่ ระบุพิกัดสถานที่ปลูกชัดเจน ถ้าเช่าที่ดินต้องมีหนังสือขอเช่า รวมถึงเรามีแนวทางให้ปฏิบัติเพื่อไม่ให้กัญชงที่ปลูกไว้รั่วไหล
- เมื่อปลูกแล้วต้องมีผู้รับซื้อ โดย อย. จะมีใบอนุญาตให้ผู้รับซื้อ เพราะเรามุ่งหวังว่าปลูกแล้วจะมีการรับซื้อไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีมิจฉาชีพแอบอ้างในหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าได้รับโควตาจาก อย. มา และมาขายโควตาต่อให้ ยืนยันว่า อย. ไม่เคยให้โควตากับใคร ทุกคนมาขออนุญาตปลูกกับ อย. ได้โดยตรง
นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงเรื่องเมล็ดพันธุ์ว่ามีโควตาเมล็ดพันธ์อยู่ในมือ หากใครจะปลูกต้องจ่ายค่าสมาชิก ยืนยันอีกว่าตอนนี้ยังไม่มีเอกชนที่ได้รับการอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้อง เพราะกฎหมายเราเพิ่งเริ่มวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา แต่หน่วยงานรัฐที่เขาเคยได้ใบอนุญาตปลูกกัญชงในกฎหมายเดิม เช่น สถาบันวิจัยพัฒนาที่ราบสูง เราสามารถไปติดต่อขอเมล็ดพันธุ์จากหน่วยงานรัฐได้
คาดดีเดย์เริ่มปลูกกัญชงช่วงมีนาคม เห็นผลผลิตกลางปีนี้
ภญ.สุภัทราเปิดเผยด้วยว่า ตอนนี้เอกชนเริ่มมาขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์ โรงงานสกัดเริ่มมาขอใบอนุญาต ขณะที่บริษัททำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มวิจัยสูตรเพื่อรองรับกัญชง ดังนั้นทุกส่วนกำลังเริ่มขยับ
การนำเข้าเมล็ดพันธุ์ขณะนี้มีเอกชนมายื่นขอใบอนุญาตแล้ว คาดว่าต้นเดือนมีนาคมจะได้รับการอนุมัติ ส่วนคนปลูกอาจจะขอเมล็ดจากหน่วยงานรัฐที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านี้ กว่าจะได้เริ่มปลูกก็น่าจะต้นเดือนมีนาคมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นผลผลิตแรกที่เริ่มปลูกและเก็บเกี่ยวได้ต้องนับไปอีก 4-5 เดือน คือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ภญ.สุภัทรา ยอมรับว่า การขออนุญาตปลูกสิ่งใหม่ๆ ก็มักจะติดขัดบ้างในช่วงเริ่มต้น แต่เราพยายามอำนวยความสะดวก โดยช่วงเริ่มต้นอาจจะช้า การขออนุญาตใหม่อาจจะช้า เพราะต้องเตรียมพื้นที่ แต่ต่อไปการต่อใบอนุญาตจะเร็วขึ้น
ส่วนการเข้าถึงให้ถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง ต้องยอมรับว่าผู้ที่มาขออนุญาตส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรรายใหญ่ แต่เราตระหนักในปัญหานี้ จึงร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกษตรจังหวัดรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่สนใจเข้ามาขออนุญาตปลูกและทำการอบรม โดยขณะนี้มีผู้มาขอคำปรึกษามากกว่า 3,000 ราย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า