×

รัฐจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้ แต่นโยบายต้องชัด! เมื่ออุตสาหกรรมกัญชงและกัญชาไทยตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศ

04.06.2024
  • LOADING...

เวลากว่า 5 ปีที่คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ทั้งในทางการแพทย์และสุขภาพตั้งแต่ช่วงปี 2018 และช่วง 2 ปีหลังก็สามารถใช้เพื่อสันทนาการ มีนโยบายสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาเพื่ออุตสาหกรรมและการแพทย์ อนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาบ้านละ 15 ต้น ตลอดจนส่งเสริมให้นำกัญชาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

 

ตอนนี้เกิดประเด็นร้อนขึ้นอีกครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยขอให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น และขอให้ดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดภายในสิ้นปีนี้

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 


 

นำมาสู่เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ตลอดจนห่วงโซ่อุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชาที่ลงทุนไปมหาศาล ซึ่งก่อนจะไปถึงสิ้นปี ขอให้รัฐบาลทบทวนเสียก่อน!

 

อุตสาหกรรมกัญชงและกัญชากำลังตกอยู่ใน ‘สภาวะสุญญากาศ’

 

ทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา เปิดเผยว่า วันนี้อุตสาหกรรมกัญชงและกัญชากำลังตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศของการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายสำหรับการนำพืชกัญชงและกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

 

จึงทราบดีว่าภาครัฐมีแนวคิดที่จะกำหนดนโยบายการนำพืชกัญชงและกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว ซึ่งสมาคมฯ ก็เห็นด้วยที่จะเข้มงวดกับกฎหมาย

 

“แต่การดึงกัญขากลับไปเป็นยาเสพติดที่ไม่มีมาตรการเยียวยารองรับจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยตรง และธุรกิจทั้งห่วงโซ่เองก็ลงทุนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ที่ผ่านมามีการลงทุนวิจัย พัฒนาตามมาตรฐานใบอนุญาต”

 

สมาคมฯ จึงอยากให้ภาครัฐทบทวนนโยบายและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้พืชกัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

 

โดยออกกฎหมายควบคุมและบังคับใช้ให้มั่นใจว่าจะมีการนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ

 

 

หากดึงกลับเป็นบัญชียาเสพติด ในเชิงอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบดังนี้

 

  • ผู้ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายเชิญชวนการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐในอนาคต
  • หลังจากที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเมื่อปี 2020 ได้เกิดการลงทุนด้วยความเชื่อมั่นว่าพืชกัญชงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ หากมีการเปลี่ยนนโยบายจะส่งผลเสียต่อผู้ที่ยื่นขออนุญาตกว่า 1 ล้านราย และส่งผลให้เกิดการชะงักต่อเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนในอุตสาหกรรม
  • สารสกัด CBD จากพืชกัญชงมีประโยชน์และยังมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจเมื่อนำไปใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ หากผู้ประกอบการไม่สามารถทำผลิตภัณฑ์เพื่อออกจำหน่ายสู่ตลาดได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไว้แล้วกว่า 700 รายการ

 

ดีมานด์โลกพุ่ง คาด 10 ปีจะมีการใช้เพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น 3 เท่า

 

ยิ่งยศ จารุบุษปายน อุปนายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา กล่าวว่า หากมองในแง่โอกาสทางการค้า ภาครัฐต้องให้ความรู้ที่ชัดเจนต่อประชาชนถึงความแตกต่างของพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% ซึ่งไม่ใช่สารเสพติด และเป็นสารที่มีความปลอดภัยสูง ปัจจุบันสัดส่วนผลิตภัณฑ์ CBD เพื่อสุขภาพในตลาดโลกมีมูลค่าถึง 6.7 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2033 จะมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท

 

หมายความว่าในช่วง 10 ปีจากนี้ ทั่วโลกจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ด้วยอัตราการเติบโตแบบทบต้น 14.33% ต่อปี

 

 

ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของแต่ละประเทศแบ่งออกเป็น

 

  • ทวีปอเมริกาเหนือ 61.14%
  • ทวีปยุโรป 17.52%
  • ทวีปเอเชีย-แปซิฟิก 14.34%
  • ลาตินอเมริกา 5%
  • ตะวันออกกลาง 2%

 

โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ Medical (การแพทย์) มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 35.6% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ Nutraceutical (โภชนาการเภสัช) มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 64.4% มาจากการที่ผู้คนตระหนักในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น

 

นโยบายควร ‘ปรับ’ ไม่ใช่เปลี่ยน

 

ในมุมมองของ สิทธิชัย แดงประเสริฐ กรรมการสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงงานเภสัชอุตสาหกรรมเจเอสพี (ประเทศไทย) (JSP) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า นโยบายรัฐบาลไม่ควรที่จะ ‘ชักเข้าชักออก’ ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ดำเนินการดีอยู่แล้ว และยังมีกฎหมายที่รอเข้าสภาค้างอยู่หลายฉบับเพื่อผ่านการหารือทุกมิติควบคู่กัน

 

“หากมีสิ่งที่ต้องพิจารณาก็ควรปรับ ไม่ใช่เปลี่ยน ไม่ใช่เดินอยู่แล้วชักกลับมาเปลี่ยนเป็นยาเสพติด รัฐบาลควรนำสิ่งที่หารือทุกมุมมอง ทั้งมุมนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผ่านการประชาพิจารณ์หลายรอบ แล้วผลักดันออกมาให้สุดจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า”

 

‘กัญชง’ และ ‘กัญชา’ แตกต่างกัน

 

ทั้งนี้การที่กัญชาเป็นสมุนไพรถูกควบคุมอย่างเช่นปัจจุบันก็สามารถคุมได้อยู่แล้ว เพียงแต่มีช่องโหว่ที่ไม่สามารถควบคุมอย่างเข้มงวดได้มากพอ รัฐบาลควรหาช่องอุดรูรั่วส่วนที่เป็นปัญหา

 

สิทธิชัยระบุว่า จริงๆ แล้วอยากเสนอให้ขอให้แยกกัญชงออกมาด้วยซ้ำ เพราะกัญชงไม่ใช่ยาเสพติด แต่ปัญหาที่ซ้อนปัญหาอีกคือ ณ วันนี้รัฐบาลยังแยกไม่ออกว่ากัญชงและกัญชาแตกต่างกันอย่างไร

 

แม้แต่สื่อก็ยังไม่สามารถแยกได้ ถูกเหมารวม ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ทราบ ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อุตสาหกรรมกัญชงเสี่ยงล่มสลายได้

 

โดยหากดูห่วงโซ่การผลิตพบว่าขณะนี้มีผู้ปลูกที่มีใบอนุญาตกว่า 10,000 ราย โรงงานที่มีใบอนุญาตกว่า 40 แห่ง เมื่อแยกเป็นโรงงานสกัดกัญชาที่อนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย เอกชนยังทำไม่ได้ และโรงงานสกัดกัญชงที่เอกชนทำได้ลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

“คนไม่กล้าใช้เพราะสับสนระหว่างกัญชงและกัญชาว่าตกลงกัญชงเป็นยาเสพติดหรือไม่ จะถูกดึงกลับเหมือนกัญชาหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ดังนั้นขอให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแยกกัญชงและกัญชาออกจากกัน” สิทธิชัยกล่าว

 

ภาพ: Lauren DeCicca / Getty Images

 

เสนอทางออกรัฐบาล ควรออก พ.ร.บ. หรือกฎกระทรวง ที่เป็นฉบับหลักชัดเจน

 

อย่างไรก็ตามหากมีการแก้ไขกฎหมาย ภาครัฐควรออก พ.ร.บ. หรือกฎกระทรวง ที่เป็นฉบับหลักชัดเจนสำหรับพืชกัญชงและกัญชาเพื่อควบคุม แทนที่จะนำกลับไปเป็นยาเสพติด รวมถึงควรออกประกาศฉบับรองสำหรับการนำพืชกัญชงและกัญชารวมถึงสารสกัดไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

อีกทั้งควรออกประกาศที่ชัดเจนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เป็นส่วนประกอบ รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

 

ท้ายที่สุดยิ่งยศย้ำว่า การที่สมาคมฯ และผู้ประกอบการรวมตัวกัน ไม่ได้ต้องการต่อต้านหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระแสสังคม แต่อยากขอให้เห็นใจฝั่งผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนตามคำเชิญชวนของรัฐบาล และได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดออกมาแล้ว

 

“เมื่อภาครัฐเปลี่ยนท่าทีจึงทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากในกลุ่มผู้ประกอบการ เนื่องจากการลงทุนสร้างโรงงานแต่ละแห่งนั้นต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นขอให้รัฐบาลชัดเจนในการใช้นโยบาย”

 

TDRI เปิดข้อเสนอด้านนโยบาย-ปรับกฎหมายแก้ปัญหา

 

เสียงสะท้อนอีกฟากฝั่งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุผลจากการศึกษาพบว่า ในด้านสังคม กัญชาส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรง กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเปราะบาง เด็ก และเยาวชน ส่วนทางด้านสุขภาพทั้งเชิงบวกและเชิงลบนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบุคคล

 

สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น ในช่วงแรกพบผลเชิงบวก แต่หลังจากที่กัญชาเสรีมีการแข่งขันในตลาดมากขึ้น มีสินค้าไม่มีคุณภาพออกสู่ท้องตลาด และขายตัดราคาแข่งกัน ในระยะยาวอาจกลายเป็นผลกระทบเชิงลบ

 

ดังนั้นรัฐบาลควรพัฒนากรอบกฎหมายที่ชัดเจน สำหรับการปลูกกัญชาต้องเป็นไปเพื่อการพาณิชย์ เพื่อใช้ในการแพทย์ ต้องยกเลิกการปลูกกัญชาในครัวเรือน เพิ่มเรื่องพื้นที่ควบคุม (Zoning) หรือระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างจุดจำหน่ายกับสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนให้ชัดเจน

 

รัฐควรจัดเก็บภาษีกัญชา โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 

  • จัดเก็บกับผู้ผลิตสินค้า ให้จัดเก็บโดยส่วนกลางแล้วนำมาใช้กับประโยชน์ในส่วนรวม (ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่)
  • จัดเก็บกับผู้ขาย ซึ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น เพื่อสร้างกลไกทางสังคมที่ช่วยลดทอนผลกระทบในแต่ละพื้นที่ต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X