จากกรณีก่อนหน้านี้ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เคยมอบหมายนโยบายการช่วยเหลือค่าไฟผู้มีรายได้น้อย-ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันประกาศใช้จริง
ล่าสุดวันนี้ (27 มกราคม) สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างการศึกษาการประกาศใช้นโยบายนี้ เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก คาดว่าน่าจะได้ผลสรุปเร็วๆ นี้ และจะมีการนำเสนอในลำดับถัดไป
สนธิรัตน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องนำ ‘งบประมาณของรัฐ’ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยลดค่าไฟ แต่ที่สุดแล้วก็ต้องดูตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก (ยังไม่เปิดเผยว่าจะนำงบประมาณส่วนใดมาช่วยเหลือ)
ส่วนเกณฑ์การช่วยเหลือจะต้องคำนึงถึงหลายๆ ด้าน ทั้งปริมาณขั้นต่ำของค่าไฟที่ใช้ฟรีที่ 50 หน่วย หรือในกรณีที่ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือต้องจ่ายค่าไฟด้วยตัวเอง เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะจ่ายค่าไฟถูกกว่าปกติ
ขณะที่ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับสุขภาพของประชาชนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาจากรถยนต์เชื้อเพลิงดีเซล ซึ่งการเติมน้ำมันดีเซล B10 จะสามารถลดปัญหาฝุ่นพิษนี้ได้ตั้งแต่ 3.5-14% เพิ่มขึ้นจาก B7
“ยิ่งมีปริมาณ B100 ใส่เข้าไปในน้ำมันดีเซลเท่าไร ก็จะช่วยลดปัญหา PM2.5 ได้มากขึ้นตามไปด้วย นั่นคือเหตุผลที่ช่วงนี้เรารณรงค์ให้ประชาชนใช้งานรถยนต์ด้วยการเติมน้ำมันดีเซล B10 หรือถ้าเติมน้ำมันดีเซล B20 ได้ก็จะช่วยลดปัญหา PM2.5 ได้ดียิ่งขึ้น
“ปัจจุบันทุกสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ให้บริการเชื้อเพลิงดีเซล B10 เป็นประเภทยูโร 5 ส่วนที่บางจาก ดีเซลทุกเกรดในขณะนี้ก็เป็นยูโร 5 ทั้งหมด โดยเป็นแนวทางที่เราได้ขอความร่วมมือไป และมาตรการนี้จะขยายไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์