×

‘เฮดจ์ฟันด์’ โกยกำไรกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ จากการ Short Sell ระหว่างเกิดความวุ่นวายในภาคธนาคาร จับตาความสามารถชำระหนี้แบงก์ต่อ

06.04.2023
  • LOADING...
First Republic

ในเดือนมีนาคม เหล่า Short Sellers ฟันกำไรจากภาคธนาคารได้มากที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 จากความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐฯ และ ยุโรป ทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ โกยกำไรได้มากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ โดยบางกองทุนยังเตรียมชอร์ตหุ้นธนาคารต่อ เนื่องจากมองว่าวิกฤตสภาพคล่องอาจนำไปสู่วิกฤตความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency Crisis) ได้

 

ตามข้อมูลจาก ORTEX ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูลระบุว่า เหล่า Short Sellers สามารถทำกำไรรวมได้ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์จากสถานะขาย (Short Position) Silicon Valley Bank (SVB) และสามารถทำกำไรได้อีก 848 ล้านดอลลาร์ มาจากการเดิมพันกับ First Republic Bank ซึ่งราคาหุ้นลดลงถึง 89% ในเดือนมีนาคม

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังทำเงินได้ 684 ล้านดอลลาร์จากการชอร์ต Credit Suisse จากวิกฤตความเชื่อมั่นที่ส่งผลให้หุ้นร่วงลง 71% ทำให้การทำกำไรจากสถานะขายทั่วภาคธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรปโดยรวมอยู่ที่ 7.2 พันล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ Short Sellers คือผู้ที่ทำกำไรจากความคาดหวังว่าหุ้นตัวนั้นๆ จะปรับตัวลงผ่านการยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์มาขายก่อน โดยหวังว่าจะซื้อคืนหุ้นตัวนั้นกลับมาในราคาที่ต่ำกว่าได้

 

Peter Hillerberg ผู้ร่วมก่อตั้ง ORTEX กล่าวว่า ในเดือนมีนาคมเป็นช่วงเวลาที่เหล่า Short Sellers ทำกำไรจากภาคธนาคารได้มากที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008

 

โดยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงหนักในช่วงต้นปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด กองทุนที่เข้าชอร์ตมีน้อยกว่า ทำให้การทำกำไรจำกัดกว่า

 

Barry Norris ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน (CIO) ของ Argonaut Capital กล่าวว่า ต้องขอบคุณการเดิมพันในธนาคารต่างๆ รวมถึง Credit Suisse และ First Republic ที่ทำให้กองทุน Argonaut Absolute Return ของเขาได้กำไรมากกว่า 6%

 

Marshall Wace หนึ่งในบริษัทกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ครั้งหนึ่งเคยใหญ่ที่สุดในโลก ก็เป็นหนึ่งในผู้วางเดิมพันในเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยชอร์ตหุ้น Deutsche Bank 0.7% ทำให้กองทุนมีกำไรสุทธิประมาณ 40 ล้านดอลลาร์จากการเดิมพันกับหุ้น Deutsche Bank

 

นอกจากนี้ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ยังดูเหมือนจะเดิมพันว่า ภาคธนาคารอาจมีปัญหาเพิ่มขึ้น โดย Norris จาก Argonaut ย้ำว่า โครงการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว แม้จะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารภูมิภาคที่อ่อนแอของสหรัฐฯ แต่การเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงผ่านโครงการดังกล่าว อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งจะทำให้เกิดความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency Risk) 

 

“วิกฤตสภาพคล่องน่าจะจบลงแล้ว แต่วิกฤตความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency Crisis) กำลังจะเริ่มต้นขึ้น” Norris กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X