×

นักวิทย์เตือนประชากรโลก 2 พันล้านคนเสี่ยงเผชิญอากาศร้อนระดับอันตราย บางประเทศจะร้อนเกินกว่ามนุษย์อาศัยได้

23.05.2023
  • LOADING...
อากาศร้อน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Global Systems แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (University of Exeter) และมหาวิทยาลัยหนานจิง (Nanjing University) เผยแพร่งานวิจัยฉบับล่าสุด เตือนผลกระทบจากการนิ่งเฉยในการดำเนินนโยบายรับมือภาวะโลกรวน อาจส่งผลให้ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน ต้องเผชิญกับสภาพความร้อนในระดับอันตราย ในขณะที่บางประเทศนั้นอาจร้อนถึงขั้นที่มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

 

โดยผลกระทบของระดับความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จะส่งผลกระทบมากมาย อาทิ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตจากแรงงานลดลง การเรียนรู้ที่บกพร่อง ภาวะตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อที่มากขึ้น

 

งานวิจัยที่เผยแพร่วานนี้ (22 พฤษภาคม) ระบุว่าราว 22% ของจำนวนประชากรโลกตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัดดังกล่าว พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า สภาพภูมิอากาศจำเพาะ (Climate Niche) ที่สนับสนุนการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต กำลังลดขนาดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากสภาพความร้อนของโลก 

 

ขณะที่ราว 1 ใน 6 ของจำนวนมนุษยชาติ หรือประมาณ 1 พันล้านคน สามารถรอดพ้นจากผลกระทบของระดับความร้อนที่เป็นอันตรายได้ หากประเทศต่างๆ มีการดำเนินการเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายในอุดมคติของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ทั้งนี้ รายงานฉบับใหม่จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation) เตือนว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.5 องศาเซลเซียสภายใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่นโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้

 

“การจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 2.7 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ประชาชนที่เผชิญกับความร้อนในระดับอันตราย มีจำนวนลดลงถึง 5 เท่าในปี 2100” ศาสตราจารย์ทิม เลนตัน ผู้อำนวยการสถาบัน Global Systems กล่าว

 

ขณะที่งานวิจัยยังเผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยการแพร่กระจายมลพิษตลอดช่วงชีวิตของพลเมืองโลก ที่เฉลี่ย 3.5 คน หรือพลเมืองสหรัฐฯ ที่เฉลี่ย 1.2 คน จะส่งผลให้มีประชาชน 1 คน ที่เผชิญระดับความร้อนที่เป็นอันตรายในอนาคต

 

ทั้งนี้ อินเดียซึ่งกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่อันตรายถึงชีวิต มีประชากรมากที่สุดที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง โดยประชากรราว 600 ล้านคน จะเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส 

 

ส่วนไนจีเรีย มีประชากรกว่า 300 ล้านคน ที่เสี่ยงเผชิญสภาพอากาศร้อนจนเป็นอันตราย จากระดับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส 

 

นอกจากนี้ พบว่าตัวเลขอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส อาจส่งผลให้เกือบ 100% ของบางประเทศ รวมถึงบูร์กินาฟาโซและมาลี จะเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจนเป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์

 

ในขณะที่บราซิล เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดที่เผชิญกับสภาพความร้อนที่เป็นอันตราย ส่วนออสเตรเลียจะมีพื้นที่ที่สภาพอากาศร้อนจนเป็นอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

ภาพ: David McNew / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising