หยิบลิปสติกสีส้มแทนเจอรีนของคุณขึ้นมา แล้วแสดงพลังผู้หญิงไปพร้อมกับ UN Women กัน
กระแส #MeToo ที่ยังคงแพร่หลายไปทั่วโลก รณรงค์ให้ผู้รอดชีวิตจากประสบการณ์ที่ถูกประณาม ประทุษร้าย และคุกคามทางเพศ ออกมาเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศให้เกิดความเท่าเทียม ซึ่งดาราฮอลลีวูดอย่าง อลิสสา มิลาโน (Alyssa Milano) ได้เป็นผู้จุดประเด็นนี้ด้วยการออกมาทวีต #MeToo ผ่านทางทวิตเตอร์ บอกเล่าว่าตัวเธอเองก็เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นมาเช่นกัน สิ่งที่เธอแชร์ต่อยอดและบันดาลใจให้คนดังอื่นๆ ต่างเลิกกลัว เลิกอาย และบอกต่อเรื่องราวของเธอ ทั้งเลดี้ กาก้า (Lady Gaga), แกเบรียล ยูเนียน (Gabrielle Union) และอีวาน ราเชล วูด (Evan Rachel Wood) ปลุกพลังเพศแม่ให้ลุกขึ้นมา ‘ไม่ยอม’ ที่จะตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป
ในเวลาเดียวกันนั้น พลังผู้หญิงยังส่งถึงการโค่นเจ้าพ่อวงการหนามเตยอย่าง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ที่ลวนลามนักแสดงมาแล้วนับไม่ถ้วน อันเริ่มต้นขุดคุ้ยและตีแผ่โดยสองนักข่าวสืบสวนหญิงมากความสามารถแห่ง The New York Times ที่สาวความจนเจ้าพ่อวงการภาพยนตร์แพ้ไม่เป็นท่า ซึ่งสิ่งนี้สื่อถึงพลังของการไม่เก็บเงียบของผู้หญิง ที่เลิกยอม เลิกรู้สึกละอาย และมอบความผิดทั้งหมดให้ตกอยู่ที่ผู้ก่อคดี
อลิสสา มิลาโน กับข้อความทวีตอันทรงพลังจนปลุกกระแส #MeToo
พลังผู้หญิงไม่หยุดอยู่แค่นั้น โดยวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น วันรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงของผู้หญิงระดับสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) และปีนี้องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม 2561 เป็นช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism against Gender-Based Violence)
หยิบลิปสติกเฉดสีส้มมาจอยกัน
ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงรวมพลังกันต่อต้านความรุนแรง และผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทย เช่นเดียวกับนักแสดงคนดังระดับโลกหลายคนได้ทำมาแล้ว เช่น แอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard), แอชลีย์ จัดด์ (Ashley Judd) ตลอดจนโรส แม็กไกวร์ (Rose McGuire)
เหตุผลนี้จึงเกิดแคมเปญ #HearMeToo หรือ #มีอะไรจะบอก ขึ้น ซึ่งแคมเปญดังกล่าวของ UN Women นำเสนอความรุนแรง 4 ประเภทด้วยกันคือ ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence), ความรุนแรงทางร่างกาย (Physical Violence), ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional Violence) และความรุนแรงในบริบททางเศรษฐกิจ (Economic Violence)
ปีนี้ UN Women จึงขอเชิญหญิงไทยผู้กล้า ไม่กลัว มาร่วมรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงไปพร้อมกันผ่านการทาลิปสติกสีส้ม สีที่ทรงพลัง สื่อถึงการไม่อ่อนข้อ อันเป็นตัวแทนถึงความหวังของผู้หญิงไปพร้อมกัน โดยติดแฮชแท็ก #HearMeToo #มีอะไรจะบอก ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์
มาร่วมส่งสารสนับสนุนความกล้าที่จะพูดและบอกเล่าประสบการณ์ของตน สะท้อนทัศนคติที่เป็นส่วนช่วยให้เธอก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายในอดีต อันถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทยกัน
แล้วอย่าลืมแท็ก THE STANDARD ให้เราชมด้วยล่ะ
อ่านเรื่อง จะผิวสีไหนก็ทา ‘ลิปสติกสีแดง’ ได้สวยปัง ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- แฮชแท็ก #MeToo เริ่มต้นจาก Myspace ของทารานา เบิร์ก (Tarana Burke) นักกิจกรรมสังคมและนักจัดการชุมชนที่ใช้วลี #มีทู (#MeToo) เพื่อกระตุ้นการตระหนักรู้ของผู้รอดชีวิตจากประสบการณ์ที่ถูกประณาม ประทุษร้าย และคุกคามทางเพศในกลุ่มผู้หญิงผิวสีและบุคคลที่มีความหลากหลายในเชื้อชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา