×

วิจัยอังกฤษเผย โอมิครอนเสี่ยงทำให้เกิด Long COVID น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

17.06.2022
  • LOADING...
Long COVID

ผลการวิจัยล่าสุดจาก King’s College London แห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มก่อให้เกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้านี้

 

นักวิจัยศึกษาข้อมูลที่รวบรวมมาจากแอปพลิเคชัน ZOE COVID Symptom และพบว่า โอกาสเกิดภาวะลองโควิดหลังจากติดเชื้อโอมิครอนลดลง 20-50% เมื่อเทียบกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักร โดยอัตราความเสี่ยงแตกต่างกันไปตามอายุของผู้ป่วย รวมถึงระยะเวลาที่ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุด

 

โดยทั่วไปนั้น ภาวะลองโควิดจะเกิดขึ้นหลังจากที่ติดเชื้อนานต่อไปอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ซึ่งภาคสาธารณสุขทั่วโลกได้เฝ้าระวังภาวะดังกล่าว เนื่องจากถือเป็นปัญหาสุขภาพใหม่ที่น่ากังวล และถึงแม้งานวิจัยล่าสุดจะบ่งชี้ว่าโอมิครอนสร้างความเสี่ยงที่ต่ำกว่า แต่ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนก็ทะยานสูงมากเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้จำนวนผู้ป่วยลองโควิดยังคงอยู่ในระดับสูง 

 

ตัวเลขจากสำนักงานสถิติสหราชอาณาจักรระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมมีประชาชนที่ป่วยด้วยภาวะลองโควิดจากการติดเชื้อโอมิครอน 438,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 24% ของผู้ป่วยลองโควิดทั้งหมด 

 

นอกจากนี้ การวิจัยยังพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า ความเสี่ยงในการเกิดภาวะลองโควิดจากโอมิครอนจะต่ำกว่าสายพันธุ์เดลตาก็ต่อเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม โดยนักวิจัยระบุว่า การเก็บข้อมูลในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็มไม่มีความแตกต่างทางสถิติเมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีด 2 เข็ม

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะลองโควิดจะมีอาการป่วยหลังติดเชื้อนานราว 3-6 เดือน โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก สมองล้า สมาธิสั้นลง ปวดข้อ การรับรู้รสชาติและกลิ่นผิดเพี้ยนจากเดิม

 

แฟ้มภาพ: Cryptographer Via Shutterstock

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X