×

เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. พุ่งแตะ 7.86% ‘พาณิชย์’ คาดถึงจุดสูงสุดแล้ว

05.09.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมพุ่งแตะ 7.86% คาดถึงจุดสูงสุดแล้ว มองค่าเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ที่ 6% แต่ยังจับตาสถานการณ์พลังงานโลก ห่วงน้ำท่วมดันราคาผักพุ่งอีก

 

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 107.46 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับ 107.41 โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาฯ เพิ่มขึ้นเพียง 0.05% (MoM) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาฯ ค่อนข้างต่ำ (เท่ากับ 99.63) ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 7.86% (YoY) ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งสูงขึ้น 7.61% และคาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัว นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึง 30.50% (YoY) แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งค่าบริการ เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 6.83% (YoY) 

 

สำหรับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 9.35% (YoY) โดยเฉพาะผักสด (พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า) ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด รวมทั้งเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในทางเทคนิคสำหรับเงินเฟ้อในเดือนนี้

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เสื้อและกางเกงบุรุษ น้ำยารีดผ้า น้ำยาถูพื้น เครื่องใช้ไฟฟ้า (เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกอยู่ที่ 3.15% (YoY) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.09% ขณะที่ 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.16%

 

“ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นเพียง 0.05% เป็นอัตราการขยายตัวที่น้อยมาก เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ทยอยปรับขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักสดบางชนิด (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง และไข่ไก่ ขณะที่ข้าวสารเจ้า น้ำมันพืช หน้ากากอนามัย แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเบนซิน ราคาลดลง และดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.14%” รณรงค์กล่าว

 

ผอ.สนค. กล่าวว่า หากประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นการทยอยปรับราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ขึ้นราคาสินค้าในทุกหมวดพร้อมกันในทันที เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค และสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยที่คาดว่าราคาสินค้าและบริการจากนี้ไปจะเริ่มทรงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลดภาระค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมกับภาคเอกชน ในการบริหารจัดการราคาสินค้าและบริการภายใต้ ‘วิน-วิน โมเดล’ 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 7.61% อยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยสูงเป็นอันดับที่ 85 จาก 127 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ข้อมูลจาก Trading Economics ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2565) ยังดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร (เดือนกรกฎาคม 2565 10.1%) บราซิล (เดือนกรกฎาคม 2565 10.07%) และสเปน (เดือนสิงหาคม 2565 10.4%) 

 

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น 

 

ทั้งนี้ สนค. ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการว่า การขึ้นราคาสินค้าและบริการของบริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย อิงตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศต้นทาง เช่น อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้น 8.0% อิงจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งสูงขึ้น 8.5% เป็นต้น โดยบางบริษัทปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้วตามบริษัทแม่ และบางบริษัทจะปรับราคาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งเป็นนโยบายการปรับราคาของบริษัทแม่ที่จะใช้กับบริษัทในเครือทั่วโลก ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อของไทย

 

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2565 สูงขึ้น 10.7% (YoY) เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ ที่ทยอยปรับสูงขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 0.9% (MoM) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการลดลงของสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 

 

ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ 5.2% (YoY) จากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทที่อ่อนค่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 0.4% (MoM) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงตามราคาในตลาดโลก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ 

 

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบปี 2565 ปัจจัยหลักมาจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% (ค่ากลาง 6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising