หลังจากบทความในเดือนที่แล้ว YLG แนะนำให้นักลงทุนจับตาแนวโน้มการตอบสนองของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นแรงเพื่อใช้เป็นปัจจัยชี้นำทิศทางราคาทองคำ ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาทองคำหลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายนตอกย้ำความสำคัญของนโยบายการเงินของ Fed ต่อทิศทางทองคำได้เป็นอย่างดี
โดยรวมแล้วผลการประชุม Fed รอบล่าสุด เรียกได้ว่าเป็นไปในเชิงสายเหยี่ยว(Hawkish) หรือสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และเป็นที่มาที่ทำให้ราคาทองคำสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายนปรับตัวลดลง -6% ทำสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020
ที่มาที่ไปที่ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงแรง เนื่องจาก พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า กรรมการ Fed ได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering)
ขณะที่ Economic Projections หรือการคาดการณ์เศรษฐกิจของ Fed สะท้อนมุมมองเชิงบวกมากขึ้น โดย Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ พร้อมคงคาดการณ์อัตราว่างงานที่ระดับ 4.5% ในปีนี้ และคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.8% และ 3.5% ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ อีกทั้ง Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้สู่ระดับ 3.4% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมีนาคมที่ระดับ 2.4% และเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ระดับ 2.1% และ 2.2% ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ
ที่สำคัญคือ Dot Plot หรือการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยจาก Fed ประจำเดือนมิถุนายนบ่งชี้ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าการคาดการณ์ในเดือนมีนาคม
“จะเห็นได้ว่าผลการประชุม Fed รอบนี้เป็น Hawkish Surprise ที่ตอกย้ำแนวโน้มว่า Fed จะเริ่มชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินในไม่ช้านี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดอลลาร์จนกดดันราคาทองคำอย่างหนัก นั่นทำให้ราคาทองคำร่วงหลุดแนวรับทางจิตวิทยาบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหลุดลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะ 50, 100 และ 200 วันจนกระตุ้นแรงขายทางเทคนิคเพิ่มเติม ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,761.13 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน”
ต้องยอมรับว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างมาก อย่างน้อยๆ ในตอนนี้คือ ทำให้ภาพรวมทางเทคนิคในระยะสั้นและระยะกลางมีการเปลี่ยนแปลง โดยระยะสั้นราคาทองคำมีการจบรอบขาขึ้นกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง ขณะที่ระยะกลางมีการจบรอบขาขึ้นและเปลี่ยนกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway Down อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ทิศทางในระยะยาวของราคาทองคำยังคงเป็นไปในเชิงบวก ประกอบกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed ที่มีสิทธิ์โหวตนโยบายการเงิน อาทิ ประธาน Fed, รองประธาน Fed และประธาน Fed สาขานิวยอร์ก ยังคงเป็นไปในเชิงเป็นกลางถึง Dovish ขณะที่เส้นทางการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในอนาคตยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย
ดังนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน รวมไปถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ถือว่าจะยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะกำหนดทิศทางราคาทองคำในระยะถัดไป
ทั้งนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินของ Fed นั่นจะเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์และกดดันราคาทองคำ แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงหลังจากนี้ อาจส่งผลให้ชะลอแผนการต่างๆ ทั้งการดำเนินการต่างๆ ของ Fed ทั้งการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยที่กลับมาสร้างแรงหนุนให้แก่ราคาทองคำ นักลงทุนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น และติดตามข่าวสารประกอบการลงทุนอย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์