×

หรรษาฮาวาย ชุดไทยบุพเพฯ และความโป๊เปลือยในสงกรานต์

11.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ในขณะที่รัฐบาลออกมารณรงค์ให้ประชาชนใส่ชุดไทยกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สงกรานต์ไม่ได้มีแค่ชุดไทย แต่มีชุดหลายแบบมากไม่ว่าเสื้อลายดอก เสื้อฮาวาย หรือเลือกที่จะไม่ใส่ก็มี
  • ปี 1961 เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ใส่เสื้อลายดอกสีแดงขึ้นหน้าปกอัลบั้ม Blue Hawaii ซึ่งเสื้อที่ใส่นี้คือเสื้อที่ออกแบบโดยชาฮีน เรียกว่า Shaheen-Designed ทำให้เสื้อฮาวายนิยมไปทั่วโลก เสื้อฮาวายของ The TOYS ที่กำลังนิยมกันอยู่ตอนนี้ก็มีรากมาจากยุคเอลวิสนี่แหละ
  • ในเมื่อสงกรานต์เป็นเทศกาลของการปลดปล่อย ละเมิดระเบียบวินัยในภาวะปกติ บวกกับอารมณ์และอะไรหลายๆ อย่าง คงไม่ใช่เรื่องที่จะแต่งตัวเรียบร้อยมิดชิด เพราะนั่นเท่ากับว่า คุณยังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย ‘วินัย’

สงกรานต์ปีนี้ดูจะต่างจากสงกรานต์ปีก่อนอยู่หน่อยหนึ่ง ตรงที่การแต่งชุดไทยได้รับกระแสหนุนมาจากกระแสละครบุพเพสันนิวาส

 

ดังนั้น คงไม่ต้องพูดว่า มันจะประสบความสำเร็จมากกว่าการโปรโมตโดยรัฐไหม ผมไม่กล้าฟันธง แต่เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าปีนี้จะได้เห็นคนแต่งชุดไทยจำแลงสมัยอยุธยาออกมาเล่นน้ำสงกรานต์กัน แต่ที่แน่ๆ ปีนี้ (ก็คงเหมือนทุกปี) ที่ผมรอดูชุดไทยของเหล่าบันนี่ Playboy Thailand

 

ในขณะที่รัฐบาลออกมารณรงค์ให้ประชาชนใส่ชุดไทยกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สงกรานต์ไม่ได้มีแค่ชุดไทย แต่มีชุดหลายแบบมากไม่ว่าเสื้อลายดอก เสื้อฮาวาย หรือเลือกที่จะไม่ใส่ก็มี ซึ่งเราก็จะเห็นดราม่ากันเกือบทุกปี

 

แสดงว่า เอาเข้าจริงแล้ว สงกรานต์มีความหลากหลายในตัวเองมาก คำถามก็คือว่า ทำไมชุดไทยจึงกลายเป็นอุดมคติของประเพณีสงกรานต์ในความคิดของรัฐ ในขณะที่ชุดอื่นๆ มีสถานะที่น้อยกว่า หรือถูกใช้ในบางพื้นที่บางโอกาสเท่านั้น

 

 

เสื้อฮาวาย ต้นแบบเสื้อลายดอก

เสื้อลายดอกๆ ที่เราเห็นในเทศกาลสงกรานต์จนชินตา แท้จริงแล้วไม่ใช่เสื้อของไทย ทรงเสื้อคอกลมนี้ได้ต้นแบบมาจากเสื้อคอกลมของจีน ถ้าไปเดินย่านเยาวราชก็ยังหาซื้อเสื้อแบบนี้ได้ หรือลองเหลือบๆ ไปดูอากงอาม่าแถวนั้นดูก็ได้

 

ไม่แน่ใจว่าเสื้อคอกลมนี้ถูกเอามาตกแต่งให้กลายเป็นเสื้อลายดอกเมื่อไร เชื่อกันว่าไม่น่าเกิน 50 ปี ลวดลายดอกๆ พวกนี้ไม่มีในศิลปะไทยยุคเก่า แต่เป็นการประยุกต์เอาวิธีการตกแต่งลวดลายเสื้อของเสื้อฮาวายมาใช้ ในช่วงสงครามเย็นที่อเมริกันเข้ามามีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในไทย

 

Koichiro Miyamoto
Photo: www.thealohashirt.com

 

เสื้อฮาวาย (Hawaiian Shirt) ก็ตามชื่อเลยคือมีต้นกำเนิดมาจากเกาะฮาวาย ลักษณะสำคัญคือเป็นเสื้อเชิ้ตคอปก สีสันฉูดฉาด สกรีนลายดอกไม้ ต้นไม้ ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลายของชุดกิโมโน เพราะคนที่เป็นต้นคิดเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อว่า โชทาโร มิยาโมโต (Koichiro Miyamoto) ซึ่งอพยพไปอยู่ที่โฮโนลูลู ลายเสื้อนี้บางทีก็มีการเอาลวดลายประดิษฐ์ของชาวโพลินีเชียนเข้ามาผสมด้วย

 

เสื้อฮาวายนี้มาฮิตจริงๆ ก็ตอนที่พ่อค้าชาวจีนชื่อ Ellery Chun นำไอเดียของมิยาโมโตไปปรับปรุง แล้วจดทะเบียนการค้าภายใต้ชื่อว่า ‘Aloha Shirt’ โดยเริ่มออกขายในปี ค.ศ. 1935 ซึ่งได้รับความนิยมมากในกลุ่มของนักท่องเที่ยวและเล่นเซิร์ฟอย่างมากที่ฮาวาย

 

สาเหตุที่คนนิยมเสื้อเชิ้ตคอปกแบบฮาวายนี้ก็เพราะมันช่วยสร้างความรู้สึกให้เสื้อคอปกที่ใส่ทำงานถูกลดทำให้มีสถานะไม่เป็นทางการ เป็นแคชวลใส่สบายๆ นั่นเอง

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวอเมริกันจากหมู่เกาะก็อพยพกลับไปยังแผ่นดินใหญ่ ทำให้เริ่มเกิดกระแสนิยมเสื้อแบบฮาวาย และมาเที่ยวเกาะสวาทหาดสวรรค์ นักออกแบบเสื้อ อัลเฟรด ชาฮีน จึงได้เอาเสื้อฮาวายมาออกแบบลวดลายใหม่เพื่อเอาใจลูกค้า พร้อมใช้ระบบการผลิตที่ทันสมัยขึ้น

 

Photo: www.pinterest.com

 

โชคดีของเขา เพราะในปี 1961 เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ใส่เสื้อลายดอกสีแดงขึ้นหน้าปกอัลบัม Blue Hawaii ซึ่งเสื้อที่ใส่นี้คือเสื้อที่ออกแบบโดยชาฮีน เรียกว่า Shaheen-Designed ทำให้เสื้อฮาวายนิยมไปทั่วโลก เพราะเอลวิสนี่แหละ

 

ส่งผลให้นักการเมือง ดารา นักร้องอเมริกัน พากันใส่ตามเอลวิสกันหมด จากเดิมที่เป็นเสื้อใส่ลำลองก็กลายเป็นเสื้อใส่ทางการ ถึงกับว่าให้ใส่ได้ในวันศุกร์สุดสัปดาห์ (อารมณ์แบบนโยบายใส่ชุดไทยวันศุกร์)

 

Photo: The TOYS / facebook

 

เสื้อฮาวายของ The TOYS ที่กำลังนิยมกันอยู่ตอนนี้ก็มีรากมาจากยุคเอลวิสนี่แหละครับ

 

เป็นไปได้ว่าช่วงที่เสื้อฮาวายของเอลวิสได้รับความนิยมนี่แหละ เป็นช่วงเดียวกับที่เสื้อคอกลมจีนในไทยได้มาผสมกับเสื้อฮาวาย กลายเป็นเสื้อลายดอกของไทย เป็น East Meets West เสื้อฮาวายเข้ามาฮิตในไทยก็เพราะวัฒนธรรมอเมริกันในยุคสงครามเย็น โดยได้เริ่มกลายมาเป็นตัวแทนของลูกทุ่งก็สักราวปี 2510 เห็นได้จากในหนังเรื่องมนต์รักลูกทุ่ง ที่ มิตร ชัยบัญชา แสดงนำเมื่อ พ.ศ. 2513  

 

Photo: เจนภพ จบกระบวนวรรณ / facebook

 

แต่กว่าจะมาป๊อปในเทศกาลสงกรานต์ ก็ตอนที่เสื้อลายดอกแบบฮาวายถูกดัดแปลงเป็นเสื้อคอกลม ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มต้น แต่เอาเป็นว่าที่ดังก็เพราะกลุ่มของศิลปินลูกทุ่ง ลูกกรุง และครูเพลงต่างๆ นำโดย เจนภพ จบกระบวนวรรณ ซึ่งโด่งดังจากการจัดรายการวิทยุในช่วง พ.ศ. 2529-2530 ได้ใส่เสื้อลายดอกจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นลูกทุ่งและความเป็นไทย

 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เสื้อลายดอกกลายเป็นสัญลักษณ์ของอะไรที่ดูเป็นพื้นบ้านและดูเป็นประเพณีไทยไปด้วย ด้วยสีสันที่ฉูดฉาด และคนเริ่มไม่นิยมชุดไทยแบบดั้งเดิมอีก ทำให้เสื้อลายดอกกลายมาเป็นเสื้อในช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

Photo: www.sangtakieng.com

 

เทศกาลปลดปล่อย และความโป๊เปลือย

แน่นอนว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งการปลดปล่อย ในทางมานุษยวิทยาถือเป็นเทศกาลคาร์นิวัล (carnival) แบบหนึ่ง ถ้าอยากเข้าใจมากขึ้น ขอให้ลองอ่านบทความของคุณคำ ผกา เรื่อง ‘คาร์นิวัลแห่งอุษาคเนย์’ แต่คำถามที่น่าสนใจด้วย คือ ทำไมสงกรานต์จึงกลายเป็นเทศกาลแห่งการปลดปล่อย

 

เทศกาล ประเพณี หรือพิธีกรรมสมัยก่อน มักเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (Rite of Passages) จากสถานะหนึ่งไปสู่สถานะหนึ่ง ฤดูกาลหนึ่งไปสู่ฤดูกาลหนึ่ง สาเหตุที่คนต้องทำพิธีกรรม ก็เพราะต้องการสร้างหลักประกันให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างว่าคนเรามักกลัวการเปลี่ยนแปลง

 

 

คำว่า ‘สงกรานต์’ ตามรากศัพท์คือ การเคลื่อนผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนผ่านของดวงอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศี มีทุกเดือน ยกเว้นการเคลื่อนจากราศีมีนสู่ราศีเมษถือเป็นการเคลื่อนผ่านของปี เรียกว่า ‘มหาสงกรานต์’ เป็นความเชื่อนำเข้าจากอินเดีย ยึดถือกันในราชสำนักของอุษาคเนย์ ก่อนที่จะแพร่ลงสู่วิถีชาวบ้านพื้นถิ่น

 

 

ภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Liminality) สถานะต่างๆ จึงก้ำๆ กึ่งๆ จึงเป็นภาวะไร้ระเบียบที่ใครจะทำอะไรก็ได้สุดเหวี่ยงเพื่อความบันเทิง เพราะในสังคมปกติ ทุกคนจะมีสถานภาพทางสังคมที่ชัดเจน จึงไม่อาจละเมิดข้อห้ามและจารีตของชนชั้นได้

 

เสื้อผ้าในสังคมไทยเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกชนชั้น แต่เมื่อสงกรานต์ได้ถูกพัฒนาให้เป็นประเพณีของมวลชนในวัฒนธรรมการท่องเที่ยว นับแต่ราว พ.ศ. 2500 แต่ไม่มีเสื้อที่ดูสบาย ใส่ง่าย สดใส และร่วมสมัย เพราะใครจะมาห่มสไบใส่ชุดราชปะแตนมาสาดน้ำกันอีกจริงไหม

 

เสื้อลายดอกจึงกลายเป็นคำตอบ เพราะเข้ากับความรู้สึกแบบใหม่ และยังดูเป็นไทยที่ชาวบ้านร้านตลาดหาซื้อมาใส่ได้ คนมีเงินก็ใส่ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นของชาวบ้าน เพราะมีความเป็นอเมริกันฮาวายอยู่ด้วย

 

เสื้อลายดอกจึงเป็นเสื้อที่เหมาะกับภาวะ Liminality

 

นักวิชาการสายวิพากษ์อย่างเช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ มักออกมานำเสนอว่า สงกรานต์ของไทยสมัยก่อนไม่ได้กะเกณฑ์ว่าใครจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้

 

ก็อาจจะจริง แต่ถ้าเป็นไปได้หนุ่มสาวก็อยากจะแต่งตัวอวดกันอย่างเต็มที่ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สังคมเปิดโอกาสให้หาผัวหาเมียได้ง่าย

 

 

ดังเห็นได้จากบทกลอนของเสมียนมี กวีสมัยรัชกาลที่ 3 ที่บรรยายไว้ว่า

 

“ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์ ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย”

 

“ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม”

 

“มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง ดูเพริศพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา”

 

หมายความว่า ถ้ารวยก็อยากแต่งเยอะ ถ้าไม่มีก็ต้องแต่งตามมีตามเกิด ไม่มีชุดกลางๆ เป็นยูนิฟอร์มเหมือนเสื้อลายดอก

 

 

แต่ในเมื่อสงกรานต์เป็นเทศกาลของการปลดปล่อย ละเมิดระเบียบวินัยในภาวะปกติ บวกกับอารมณ์และอะไรหลายๆ อย่าง คงไม่ใช่เรื่องที่จะแต่งตัวเรียบร้อยมิดชิด เพราะนั่นเท่ากับว่า คุณยังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย ‘วินัย’

 

 

ในวันสงกรานต์ ทุกยุคทุกสมัยจึงมีคนนุ่งน้อยห่มน้อยเล่นน้ำกันอย่างสุดเหวี่ยง เมาเหล้าเมายา หรือกระทั่ง ‘โล้สำเภา’ กัน ดังเห็นได้ในบทกวีของเสมียนมีคนเดิม บันทึกว่า “ทั้งหนุ่มสาวฉาวฉานด้วยการเล่น บ้างซุ่มเป็นผัวเมียกันเสียเฉย”

 

ย้ำว่าที่เล่ามาไม่ได้หมายความว่า เราควรต้องใช้บรรทัดฐานในยุคจารีตกับปัจจุบัน แต่ต้องเข้าใจว่า หัวใจของเทศกาลเปลี่ยนผ่านคืออะไร และจะดูแลกันอย่างไร ไม่ใช่จับเทศกาลปลดปล่อยไปใส่ชุดไทยกันเสียหมด

 

Photo: บุพเพสันนิวาส

 

ชุดไทยแบบบุพเพฯ

ลองสังเกตกันนะครับว่า วัฒนธรรมและประเพณีของชาติมักไม่ใช่วัฒนธรรมประชา (Popular Culture) แต่เป็นวัฒนธรรมหลวง หรือชนชั้นสูง (High Culture) มากกว่า

 

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

เพราะในกระบวนการสร้างชาติ ถ้าไม่เกิดการแตกหักกันระหว่างวัฒนธรรมทั้งสอง ก็มักถือกันว่าวัฒนธรรมหลวงเป็นสิ่งที่ดีงาม และสะท้อนความมีอารยธรรมที่เก่าแก่ จึงคู่ควรจะเป็นอัตลักษณ์ของชาติ

 

ตรงกันข้ามกับ วัฒนธรรมประชา ซึ่งบางทีเรียกว่า Low Culture ถือเป็นสัญลักษณ์ของพวกคนจน ไร้อารยธรรม และเป็นของที่ช่างแมสเสียเหลือเกิน ชุดไทยในนิยามของชาติไทย และสังคมไทยจึงไม่ใช่ชุดไทยแบบพี่ผินพี่แย้ม เพราะเป็นของไพร่ ใครก็ใส่ได้ และยังดูไร้รสนิยม ชุดไทยในความหมายของรัฐ (และคนที่เป็นร่างทรงของรัฐ) จึงต้องเป็นชุดไทยแบบแม่การะเกด จันทร์วาด พี่หมื่น พี่ขุน คือเป็นชุดไทยของชนชั้นสูง

 

สังเกตอีกนะครับว่า ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสนิยมความเป็นไทย ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของชาตินิยม ได้รับการโปรโมตอย่างสูงจากรัฐบาล เพราะเชื่อว่าจะช่วยสร้างความสามัคคีขึ้นในชาติ เป็นเหมือนกับประเทศไทยเมื่อครั้งในอดีต นโยบายนี้สำเร็จพอสมควรทีเดียว เพราะความรู้สึกของคนในสังคมเองก็โหยหามันเช่นเดียวกัน

 

Photo: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ด้วยเหตุผลข้างบนนี้ ประกอบกับกระแสละครบุพเพสันนิวาส จึงทำให้รัฐบาลถึงกับเชิญนักแสดงจากละครมาทำเนียบ และโปรโมตเรื่องการแต่งชุดไทยในวันสงกรานต์ ส่วนคนในสังคมเองก็ดูจะขานรับแนวคิดนี้ด้วย สถานะของชุดไทยในปีนี้จึงได้รับการยกย่องสูงมาก

 

ส่วนเสื้อลายดอกแบบลูกทุ่งก็ถูกเบียดตกขอบทางไป ผมไม่อาจประเมินได้ว่าสถานะของเสื้อลายดอกจะเป็นอย่างไร แต่ในความรู้สึกส่วนตัวคนเดียวตอนนี้คือ เสื้อลายดอกจะกลายเป็นอะไรที่ธรรมดาๆ ไป เหมือนย้อนกลับไปสู่สถานะของเสื้อฮาวาย

 

สรุปกันอย่างสั้นๆ เลยก็คือ อุดมคติของชาติที่ผูกกับวัฒนธรรมชั้นสูงนี้เองที่กำหนดสถานะของคนที่ใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือจะไม่แต่งกายจนโป๊เปล่าเปลือยในเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นต่อให้คุณจะใส่เสื้อผ้าหรือแก้ผ้า การเมืองก็เข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตของคุณอยู่เสมอ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X