×

เป็นสิวเพราะใส่หน้ากากอนามัย รับมืออย่างไรดี

06.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สาเหตุอันดับต้นๆ ของสิวที่เกิดจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ คือความอับชื้น เหงื่อ และการสะสมของสิ่งสกปรกในหน้ากากอนามัย จึงต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดของหน้ากากอนามัยมากยิ่งขึ้น และรู้จักประเภทของสิวที่ตัวเองเป็น เพื่อจะทายาและรักษาอย่างตรงจุดและถูกวิธี 

เชื่อว่าหลายคนอึดอัดและรู้สึกไม่สบายผิวหน้าเมื่อต้องใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่านี่เป็นวิธีปฏิบัติที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่ตามมาของใครหลายคนเมื่อใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานคือเจ้าสิวตัวร้าย ที่ร้อยวันพันปีผิวหน้าที่ไม่เคยเป็นสิวก็เริ่มปรากฏว่ามีสิว หรือคนที่เป็นสิวอยู่แล้วยิ่งมีสิวเห่อไปกันใหญ่ บางคนแพ้หน้ากากอนามัยจนเกิดอาการระคายเคืองผิวก็มี THE STANDARD POP จึงรวบรวมสารพัดวิธีรับมือกับสิวที่เกิดจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยในช่วงนี้ เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์และช่วยบรรเทาอาการเป็นสิวให้ลดน้อยลงได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ 

 

 

สาเหตุของสิว 

We Say: สาเหตุอันดับต้นๆ ของสิวที่เกิดจากการสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ คือความอับชื้น เหงื่อ และการสะสมของสิ่งสกปรกในหน้ากากอนามัย ในคนที่แต่งหน้า บางครั้งเมกอัพหลุดออกมาติดกับหน้ากากอนามัยและฝังแน่นอยู่ในนั้น ขณะที่มีการเสียดสีสร้างการระคายเคืองให้ผิวบริเวณใบหน้าตลอดเวลา ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมี ความมันบนผิว เหงื่อ จนทำให้เกิดสิวได้ เมื่อเกิดการอุดตันของสิ่งสกปรกเหล่านี้ก็ทำให้สิวเกิดขึ้นง่ายมาก 

 

วิธีแก้ปัญหา

We Say: เมื่อเรารู้แล้วว่าสาเหตุของสิวเกิดจากอะไร ทำให้เรายิ่งต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดของหน้ากากอนามัยมากยิ่งขึ้น บางคนใส่หน้ากากอนามัยซ้ำๆ ไม่ยอมเปลี่ยน บางคนใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า แต่ไม่ซัก สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้เกิดสิวได้ เราจึงต้องมาปฏิบัติตัวกันใหม่ เริ่มจากการเปลี่ยนหน้ากากอนามัยใหม่เสมอทุกวัน (กรณีใช้หน้ากากผ้าควรซักและมีสำรองไว้เปลี่ยน)​ และเมื่ออยู่ในสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน ไม่แออัด หรืออยู่คนเดียว ก็สามารถถอดหน้ากากอนามัยออกได้ เพื่อลดความมันบนผิว และลดการเสียดสีระหว่างหน้ากากอนามัยกับผิวหน้าโดยตรง นอกจากนี้การแปรงฟันหลังทานอาหารก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยทำให้หน้ากากอนามัยไม่ถูกปนเปื้อน เพราะหากเราทานอาหารแล้วไม่แปรงฟันทำความสะอาด บางทีคราบมัน คราบอาหารที่ติดอยู่บริเวณริมฝีปาก อาจติดหน้ากากอนามัยได้ด้วย และหากสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกเป็นเวลานาน ก็ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อผิวพรรณ

 

 

แนวทางการรักษา

We Say: สำหรับคนที่เป็นสิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวเม็ดเล็กๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อย (อาจเกิดเป็นครั้งคราวในช่วงที่สวมใส่หน้ากากอนามัย) สามารถใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวทั่วไป (ที่ไม่ใช่ยา) เรามักเคยเห็นในรูปแบบของสบู่ เจลล้างหน้า โลชั่น ครีม แผ่นเช็ดทำความผิว โทนเนอร์ต่างๆ และหมั่นรักษาความสะอาดอยู่เสมอ แต่หากจะใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิวต่างๆ ตามที่แพทย์สั่ง ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ยาไอโซเตรทติโนอิน ซึ่งแพทย์จะจัดยาให้กับคนไข้ที่มีปัญหาสิวในระดับที่รุนแรงเท่านั้น ไม่เหมาะจะใช้เพื่อรักษาสิวเม็ดเล็กๆ ที่ไม่อักเสบ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็น ‘ยา’ รักษาสิว จะไม่สามารถจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านเครื่องสำอาง เหมือนกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นสิวทั่วไป โดยยารักษาสิวจะมีจำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาเท่านั้น ซึ่งตัวยารักษาสิวมีหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) และกรดซาลิซิลิก (Salicylic Acid) มีคุณสมบัติเด่นๆ ช่วยกำจัดปริมาณไขมันส่วนเกิน และทำลายแบคทีเรียบนผิว ส่วน รีซอร์ซินอล (Resorcinol) ซัลเฟอร์ (Sulfur) ช่วยทำให้สิวสลายตัว ดังนั้นควรปรึกษาหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสิวโดยตรงจะดีที่สุด

 

 

ข้อแนะนำในการทายารักษาสิว 

We Say: สเตปการทาครีมบำรุงหลังจากทายาสิวนั้น ให้เลือกลำดับการทาก่อนหลังจากเนื้อผลิตภัณฑ์ ให้เรียงลำดับการทาครีมหรือเซรั่มจากเนื้อเบาที่สุดไปยังเนื้อหนักที่สุด อะไรที่ทาแล้วซึมเร็วให้ทาลงผิวก่อน อะไรที่ดูหนากว่าให้ทาทีหลัง ในการทายาสิวนั้น ต้องรู้ว่าตัวเองเป็นสิวแบบไหน เช่น สิวไม่อักเสบหรือสิวอุดตัน (Comedone) กับสิวอักเสบ (Inflamatory Acne) เราจะรู้จักกันในรูปแบบของสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวเสี้ยน ที่กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ สิวประเภทนี้รักษาได้ง่ายกว่า เพียงกำจัดความมันและผลัดเซลล์ผิว รวมถึงการทายาละลายหัวสิวบางๆ ก่อนล้างหน้า ควรหมั่นรักษาความสะอาด ก็จะช่วยกำจัดสิวเหล่านี้ให้หมดไปได้ ส่วนสิวอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ P.Acnes จากการกดบีบสิว หรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการเอามือสกปรกมาสัมผัสใบหน้าที่เป็นสิว มักจะมีลักษณะบวม แดง เมื่อใช้มือกดแล้วเจ็บ การรักษาทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอกที่มีตัวยาคลินดามัยซิน จะช่วยรักษาสิวอักเสบโดยเฉพาะ โดยใช้หลังการทำความสะอาดผิวหน้า และทาบริเวณที่เป็นสิวอักเสบวันละ 2 ครั้ง

 

 

ส่วนการทายาสิวอักเสบติดเชื้อ ก็ไม่ต่างจากเวลารับประทานยาปฏิชีวนะรักษาอาการต่างๆ ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำเสมอว่าควรทานให้ครบโดส เช่น ยาฆ่าเชื้อระบุว่าให้ทานครบ 5 วัน (หรือหมดแผง) ก็ต้องทานให้ครบตามกำหนด (เพื่อป้องกันการดื้อยา) การทายาปฏิชีวนะรักษาสิวก็เช่นเดียวกัน เมื่อทาไป 1-2 วันแล้วสิวยุบ บางคนหยุดทายาไปเลย ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ทำให้มีโอกาสดื้อยาสูง ดังนั้นแม้สิวจะยุบหรือหายแล้ว ก็ควรทายาต่อเนื่อง 5 วัน และในการใช้ยาปฏิชีวนะแต้มสิวนั้น ไม่ควรใช้ต่อเนื่องยาวนานเกิน 2 เดือน 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising