นอกจากข้อถกเถียงว่าเราควรออกจากมาตรการล็อกดาวน์เมื่อใด ซึ่งเป็นการปะทะทางแนวคิดระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ถึงเวลาที่เหมาะสมในการรีสตาร์ทกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นที่ว่าประชาชนควรเว้นระยะห่างทางสังคมไปถึงเมื่อใด ก็เป็นอีกคำถามที่มีการถกเถียงในวงกว้างเช่นกัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกยังจำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคมในบางระดับไปจนถึงปี 2022 เพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 แพร่ระบาดหนักอีกครั้งจนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข
ในงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เตือนว่า การยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมพร้อมกันทั้งหมดจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ภาวะการระบาดถึงจุดสูงสุดช้าลง และอาจทำให้โรคระบาดรุนแรงมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ใช้แบบจำลองโมเดลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอนาคต โดยวิเคราะห์จากรูปแบบการระบาดของไวรัสโคโรนาในมนุษย์ 2 ครั้งก่อนหน้านี้
งานวิจัยระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสชนิดนี้อาจคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดตามฤดูกาลไปทั่วโลก ซึ่งหลังจากโควิด-19 ระบาดระลอกแรกแล้ว นักวิจัยคาดว่าไวรัสโคโรนาอาจกลับมาอีกครั้งในฤดูหนาว ถึงแม้ว่าครั้งหน้าอาจรุนแรงน้อยกว่าครั้งนี้ แต่ก็ยังอาจส่งผลต่อการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาล
“เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เช่นนี้ การขยายเวลาเว้นระยะห่างทางสังคม หรือให้ดำเนินการเป็นช่วงๆ ยังเป็นมาตรการที่จำเป็นไปจนถึงปี 2022 เว้นเสียแต่ว่าโรงพยาบาลจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น หรือค้นพบวัคซีนหรือวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว” นักวิจัยระบุ
มีการประเมินว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในสหรัฐฯ ควรอยู่ที่ระดับ 25-75% ในช่วงเวลาดังกล่าว หากพิจารณาจากความสามารถในการรองรับผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ เวลานี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: