×

Harvey Weinstein โปรดิวเซอร์หนังอินดี้และมาเฟียแห่งฮอลลีวูด

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Good Will Hunting ทำเงินไปได้ทั่วโลก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งให้แมตต์ เดมอน และเบน แอฟเฟล็ก ได้รับรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลสมทบชายยอดเยี่ยมที่มอบให้โรบิน วิลเลียมส์
  • ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เคยเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากในวงการหนังอินดี้อเมริกา เขาคือคนที่กล้าลงทุนสร้างหนังเพี้ยนทำลายขนบอย่าง Pulp Fiction เขาเคยผลักดันหนังเรื่อง Shakespeare In Love จนหนังได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
  • ความเก่งกับความดีก็คนละเรื่องกัน ช่วงหลังๆ ที่ฮาร์วีย์จะเริ่มไม่ค่อยมีอิทธิพลแล้ว ข่าวเรื่องล่วงละเมิดทางเพศกับคนในวงการก็ระเบิดออกมาในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้คนที่เคยเฉียดกรายการโดนล่วงละเมิดจากเขาต่างออกมาให้สัมภาษณ์และแฉราวกับว่าเก็บกดกันมาหลายปี

     สมัยแมตต์ เดมอน และเบน แอฟเฟล็ก ยังเป็นสองหนุ่มโนเนมที่ฮอลลีวูดเพิ่งรู้จัก พวกเขาร่วมกันเขียนบทหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมาชื่อ Good Will Hunting มันเป็นบทภาพยนตร์ที่สตูดิโอทุกที่ต่างอยากได้มาสร้าง ดังนั้นสองหนุ่มต้องตัดสินใจว่าจะให้ที่ไหนทำ พวกเขาเลยส่งบทไปให้สตูดิโอต่างๆ พิจารณาอีกครั้งหลังจากปรับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ สตูดิโอทุกที่ยังคงอยากได้บทนี้ พวกเขาแทบจะไฟเขียวและไม่มีปัญหาใดๆ ยกเว้นนายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) แห่งสตูดิโอ Miramax (ซึ่งเป็นสตูดิโอที่เน้นสร้างหนังอินดี้ และจัดจำหน่ายหนังต่างประเทศที่ไม่ใช่หนังอเมริกาในช่วงเวลานั้น) ฮาร์วีย์ได้พบกับแมตต์และเบน พร้อมบอกว่า “ผมชอบบททั้งหมดเลยนะ แต่มีจุดเดียวจริงๆ ที่มีปัญหา คือในบทตรงหน้า 60 น่ะ มันมีฉากอาจารย์ผู้ชายสองคนทำออรัลเซ็กซ์ให้กันแล้วนำไปสู่เซ็กซ์ซีนพิสดาร นี่แม่งคือไรวะ”

     นี่คือสาเหตุที่แมตต์และเบนตัดสินใจให้สิทธิ์หนังเรื่องนี้แก่ฮาร์วีย์และสตูดิโอ Miramax เพราะเซ็กซ์ซีนเกย์นี้เป็นซีนปลอมที่พวกเขาเขียนไว้ในบทภาพยนตร์เพื่อทดสอบว่าผู้บริหารสตูดิโออ่านบทของพวกเขาจริงหรือเปล่า เพราะถ้าอ่านจริง ยังไงก็ต้องติดขัดที่ฉากนี้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีสตูดิโอไหนติดขัด ยกเว้นสตูดิโอของนายฮาร์วีย์คนนี้แหละ

     สุดท้ายหนังเรื่อง Good Will Hunting (1997) ทำเงินไปได้ทั่วโลก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งให้แมตต์และเบนได้รับรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลสมทบชายยอดเยี่ยมที่มอบให้โรบิน วิลเลียมส์

 

Photo: www.bbc.com

     จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยต้องอ่านบทภาพยนตร์ที่ถูกส่งเข้ามาให้พิจารณา ผมพบว่าการอ่านบทภาพยนตร์นั้นมีความซับซ้อนและใช้พลังจิตแรงกล้ามากกว่าการอ่านนวนิยายหรือบทความปกติอยู่สักเล็กน้อย

     การอ่านบทหนังนั้น คุณไม่สามารถอ่านแค่เพื่อรับสารได้ คุณจะต้องคิดไปไกลกว่านั้น โดยพื้นฐานคือคุณต้องอ่านแล้วคิดเป็นภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อมันเป็นหนังบนจอ ด้วยหลักการนี้มันทำให้คุณต้องลืมความสวยงามทางวรรณกรรมทั้งหมดบนแผ่นกระดาษที่อาจจะลวงตาขณะอ่าน ด้วยความที่บทภาพยนตร์มาจากมือของคนเขียนบทมากมายหลายสไตล์ ไม่ว่ายังไงเราต้องคัดกรองสไตล์และลูกเล่นด้านการเขียนทิ้ง จับใจความซีนนั้นให้ดีๆ ว่าต้องการจะบอกอะไร ต้องการจะให้ซึ้ง หรือต้องการจะให้ฮา และพอแปรเปลี่ยนเป็นภาพบนจอแล้วมันยังได้สิ่งเหล่านั้นอยู่หรือไม่

     นอกจากนี้ในหัวของโปรดิวเซอร์ผู้สร้างหนังนั้น นอกจากจะต้องนึกว่ามันสนุกหรือไม่สนุกแล้ว ขณะที่อ่านก็ต้องนึกด้วยว่าแต่ละฉากใช้เงินสร้างประมาณเท่าไร อ่านจบต้องใช้งบรวมทั้งหมดเท่าไร มันจะเอาไว้ขายคนกลุ่มไหน ฯลฯ เอาจริงๆ แล้วมันไม่ใช่การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินแต่อย่างใด เพราะในหัวต้องคิดหลายอย่างมาก นอกจากคำถามที่ว่ามันสนุกรึเปล่า

     ดังนั้นการอ่านบทภาพยนตร์ความยาว 90-120 หน้าที่ดูเหมือนจะสั้นๆ นั้นก็กลายเป็นกระบวนการที่ไม่สวยงามเท่าไร และใช้พลังงานความคิดมากมาย ซึ่งชาวเจ้าของสตูดิโอเหล่านี้ไม่ได้อ่านทีละเรื่องสองเรื่อง ขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว พวกเขาต้องเจอบทภาพยนตร์เหล่านี้มากมายทุกวัน ไม่แปลกที่บทจำนวนมากจะโดนมองข้ามไปอย่างไร้เยื่อใยเพราะคนอ่านไม่มีเวลา หรือการตัดสินใจเลือกบทไหนมาทำหนังก็อาจจะไม่ได้เกิดจากการอ่าน แค่ได้ยินมาว่าของนี้เด็ด เอามาอ่านคร่าวๆ แล้วเลือกมาทำเลยก็ได้ และในอีกหลายครั้ง การเลือกโปรเจกต์มาสร้างอาจเกิดจากการพูดคุยขายงานแบบสั้นๆ มากกว่าจะอ่านสคริปต์ทั้งเล่ม ซึ่งระบบการพิจารณาบทแบบนี้เป็นสิ่งที่แมตต์และเบนไม่ต้องการ และฮาร์วีย์พิสูจน์ให้ทั้งสองคนเห็นว่าคนอ่านบทจริงๆ จังๆ ในฮอลลีวูดก็ยังมีเหลืออยู่นะโว้ย

 

Photo: www.zimbio.com

 

     ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน นั้นเคยเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากในวงการหนังอินดี้อเมริกา (คล้ายๆ กับช่วงหลังๆ ที่สตูดิโอ A24 ทำในยุคนี้) เขาคือคนที่กล้าลงทุนสร้างหนังเพี้ยนทำลายขนบอย่าง Pulp Fiction (1994) เขาเคยผลักดันหนังเรื่อง Shakespeare In Love (1998) จนหนังได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ชนะหนังเรื่อง Saving Private Ryan (1998) ไปอย่างเหลือเชื่อ (ปีนั้น Saving Private Ryan นี่เป็นตัวเก็งสูงสุดนอนมา แต่แพ้ซะงั้น) และยังไม่นับ Chicago (2002), The English Patient (1996) และ The King’s Speech (2010) ที่ชนะออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาหมดเลยภายใต้การคุมงานของเขา นอกจากนั้นความเชี่ยวชาญในแผนการตลาดและการจัดจำหน่ายของเขาถือว่าอยู่ในระดับพระกาฬ บริษัท Rolling Thunder ของเควนติน ทารันติโน ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท Miramax ของฮาร์วีย์ (ชื่อบริษัทในเวลานั้น ก่อนจะมาเป็น The Weinstein Company ในเวลานี้) เป็นคนพาหนังหว่องกาไวอย่าง Chungking Express (1994) เข้ามาฉายในอเมริกา รวมถึงหนังดีๆ ที่อยู่นอกอเมริกาเรื่องอื่นๆ จนในยุคนั้นมีคำว่า ‘หนัง Miramax’ อันหมายถึงหนังอินดี้ดีๆ กันเลยทีเดียว

     แม้ผลจะออกมาสวยงาม แต่ในหลายๆ ครั้งฮาร์วีย์ก็ฮาร์ดคอร์และถือเป็นตัวแสบของวงการ เช่น ตัวเขานั้นขึ้นชื่อมากๆ เรื่องการล็อบบี้กรรมการของออสการ์ (พาไปเลี้ยง พาไปเจอดารา โทรหาบ่อยๆ ยามใกล้ตัดสินผล) รวมถึงการเข้าไปยุ่มย่ามกับโปรเจกต์หนังเรื่องต่างๆ จนทะเลาะกับผู้กำกับก็หลายเรื่อง มีทั้งหั่นหนัง เปลี่ยนตอนจบ ตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ๆ คือหนังเรื่อง The Grandmaster (2013) ของหว่องกาไวอีกนั่นแหละ ที่ฉบับอเมริกาโดนตัดจาก 130 นาทีเหลือ 108 นาที โดยฮาร์วีย์ให้สัมภาษณ์ว่า “ก็แค่ตัดให้มันดูรู้เรื่องขึ้น และเอาจริงนะ ไม่มีใครแม่งมาแคร์เรื่องนี้หรอกว่าจะตัดออกมายังไง” จากคำสัมภาษณ์นี้ทำให้เขาโดนนักดูหนังด่าถ้วนหน้าว่า พวกกูนี่แหละแคร์

     ก็นั่นแหละครับ ความเก่งกับความดีมันก็คนละเรื่องกัน นอกจากช่วงหลังๆ ที่ฮาร์วีย์จะเริ่มไม่ค่อยมีอิทธิพลแล้ว ข่าวเรื่องล่วงละเมิดทางเพศกับคนในวงการก็ระเบิดออกมาในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้คนที่เคยเฉียดกรายการโดนล่วงละเมิดจากเขาต่างออกมาให้สัมภาษณ์และแฉราวกับว่าเก็บกดกันมาหลายปี กระทั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังบอกว่า “ก็เท่าที่รู้จักเขาเนี่ย ผมก็ไม่ได้แปลกใจกับข่าวหรอกนะครับ”

     ปัจจุบันสถานการณ์ตอนนี้ของคดีฮาร์วีย์มีแต่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ผู้เสียหายออกมาฟ้องร้องหรือแฉพฤติกรรมเก่าของเขานาทีต่อนาที และมีทีท่าว่าเขาน่าจะหมดอนาคตกับวงการนี้ไปเลย ชีวิตของเขาเองกลายเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้คนนั่งชมและได้เรียนรู้เรื่องราวความมืดของวงการฮอลลีวูดไปพร้อมๆ กัน 

 

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Gwyneth Paltrow และ Angelina Jolie เปิดโปงคดีล่วงละเมิดทางเพศของโปรดิวเซอร์หนังมือทองของฮอลลีวูด Harvey Weinstein

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X