ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนกรานว่าการตัดสินใจขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไปเป็น -0.5% ถึง +0.5% แบบเซอร์ไพรส์ตลาดของ BOJ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของนโยบายการเงินของญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ใช่การส่งสัญญาณถึงจุดเปลี่ยนทางนโยบาย พร้อมยืนยันว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นจะยังดำเนินต่อไป และจะไม่ถูกปรับเปลี่ยนในระยะสั้น
“การขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไม่ใช่ก้าวแรกของการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เราจะยังเดินหน้าใช้นโยบายที่ผ่อนคลายด้วยการใช้ Yield Curve Control ต่อไป ควบคู่ไปกับการดูแลเงินเฟ้อและค่าแรง” คุโรดะกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าการ BOJ ยังประเมินว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงสู่ระดับกรอบเป้าหมายที่ 2% ในปีหน้า จากผลกระทบของต้นทุนการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 3.7% ในเดือนที่ผ่านมา และค้างอยู่เหนือระดับกรอบเป้าหมายของ BOJ มาเป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกันแล้ว
คุโรดะกล่าวด้วยว่า ค่าแรงของญี่ปุ่นจะมีการทยอยปรับขึ้นตามปัญหาขาดแคลนแรงงาน และโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเขาคาดว่าจำนวนผู้ที่มีงานประจำทำจะเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับลูกจ้างชั่วคราวที่จะได้รับค่าตอบแทนดีขึ้น
“เราคาดว่าตลาดแรงงานในญี่ปุ่นจะตึงตัวมากขึ้น ทำให้การกำหนดค่าจ้างของบริษัทมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นกำลังเข้าใกล้หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการหลุดพ้นจากภาวะเงินเฟ้อต่ำ และการเติบโตที่ต่ำเป็นเวลานาน” คุโรดะระบุ
อ้างอิง: