สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นชัดเจนจากรอยแผลเป็นของโรคระบาดโควิด-19 นอกเหนือจากประเด็นโรคระบาด วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป และระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องหยุดชะงักลง ก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนตัวเล็กๆ ชาวบ้าน คนในท้องถิ่นหรือชนบทที่มีสถานะความเป็นอยู่แบบหาเช้ากินค่ำ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากโควิดนั้นรุนแรงและยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายประเมินกันเอาไว้
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การที่กลุ่มคนเปราะบาง คนรายได้น้อยต้องดิ้นรนและพยายามมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ตนเองยังคงมีรายได้ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวต่อไปเท่าที่จะสามารถทำได้อย่างสุดความสามารถ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างที่ควรจะเป็น
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นองค์กรหลายแห่ง บริษัทเอกชนจำนวนมากที่ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง ต่างก็ปรับตัวและให้ความสำคัญกับแนวทางด้าน CSR เพื่อตอบแทนคืนประโยชน์กลับคืนสู่สังคมและผู้คน ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้ผู้คนที่เดือดร้อนและชาวบ้านจำนวนมากมีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง
หนึ่งในองค์กรที่มองเห็นถึงความสำคัญของการตอบแทนสังคมด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไกลถึงผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและครอบคลุมในทุกๆ ฝ่าย ทุก Stakeholders ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็คือ ‘มิตรผล’ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาได้เริ่มโปรเจกต์พิเศษ ‘โครงการมิตรปันสุข’ เพื่อส่งต่อถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาและได้รับความเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจในช่วงโควิด ผ่านการมอบเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นแบบเร่งด่วน
แต่ ‘ถุงมิตรปันสุข’ หรือถุงยังชีพของมิตรผลกลับไม่ใช่แค่ถุงยังชีพธรรมดาๆ ทั่วไป ที่ส่งต่อให้กับผู้รับและจบลงเพียงเท่านั้น เพราะในทุกๆ ครั้งที่ถุงดังกล่าวถูกส่งถึงมือผู้รับ นั่นหมายความว่ายังมีผู้คนอีกมากมาย รวมไปถึงกลุ่มอาชีพในชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือดังกล่าวด้วย
ถุงมิตรปันสุข ถุงแสนพิเศษกับหัวใจของการส่งต่อความช่วยเหลือ กำลังใจแบบไม่รู้จบ
ความพิเศษและความน่าสนใจของถุงมิตรปันสุขคือการที่มิตรผลมุ่งหวัง ตั้งใจ และคิดต่อยอด เพื่อส่งมอบโอกาสให้ทุกชีวิตได้ลุกขึ้นก้าวเดินต่อไปด้วยความหวังและกำลังใจ
เพราะถุงมิตรปันสุขเกิดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ของการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในวิกฤตโควิดแบบเร่งด่วน เฉพาะหน้า และยังช่วยชุมชนในท้องถิ่นได้ด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะตัวสินค้าที่บรรจุอยู่ในถุงส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจาก 30 กลุ่มอาชีพ ในชุมชน 7 จังหวัด
เริ่มตั้งแต่ตัวถุงที่ผลิตและตัดเย็บขึ้นมาจากกระสอบน้ำตาลมิตรผลรีไซเคิลคุณภาพดี ด้วยฝีมือของกลุ่มแม่บ้านที่อาศัยในชุมชนโดยรอบของโรงงานน้ำตาลมิตรผลใน 7 จังหวัด ซึ่งแม่บ้านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีทักษะด้านการตัดเย็บเป็นทุนเดิม จากที่ปกติตัดเย็บผ้าส่งให้กับโรงงานน้ำตาลอยู่แล้ว เมื่อเกิดโปรเจกต์ถุงมิตรปันสุขขึ้น กลุ่มแม่บ้านก็ได้เข้ามารวมตัวกันตัดเย็บถุงยังชีพจากกระสอบน้ำตาลและนำไปช่วยเหลือสังคม
ขณะเดียวกัน พวกเขาหรือเธอก็ยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการตัดเย็บถุงยังชีพของโครงการมิตรปันสุขอีกด้วย
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารักและอบอุ่นหัวใจสุดๆ ก็คือ ผู้ที่ได้รับถุงมิตรปันสุขนี้ยังฟีดแบ็กกลับมายังกลุ่มแม่บ้านที่ตัดเย็บด้วยว่า กระเป๋ามิตรปันสุขที่ได้รับนั้นสวยมากๆ มากเสียจนอยากจะสั่งซื้อแต่กระเป๋ามาใช้งานเอง และทำให้กลุ่มแม่บ้านมีกำลังใจ ได้รับทั้งรายได้และยังอาจจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคตอีกด้วย
ถัดจากตัวกระเป๋าหรือตัวถุงมิตรปันสุขที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่างๆ แล้ว ยังมีตัวผลิตภัณฑ์อีกมากที่บรรจุในถุงใบนี้และเป็นผลงานการรังสรรค์โดยชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ไล่ตั้งแต่ ‘น้ำพริกคุณยายแห่งบ้านบางระจัน’ ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มน้ำพริกคุณยายในจังหวัดสิงห์บุรี
เดิมทีคุณยายกลุ่มนี้จะรวมตัวกันเพื่อผลิตน้ำพริกในช่วงที่ได้รับออร์เดอร์สำหรับงานบุญหรือโอกาสสำคัญต่างๆ เท่านั้น แต่เมื่อเกิดโควิด งานรื่นเริงไม่สามารถจัดได้ จึงทำให้ออร์เดอร์ลดน้อยถอยลง เมื่อเกิดโครงการมิตรปันสุขขึ้นจึงทำให้กลุ่มคุณยายได้รับยอดสั่งซื้อน้ำพริกมากกว่า 2,300 ชุด จากโรงงานน้ำตาลของมิตรผลในจังหวัดสิงห์บุรี และมีรายได้หมุนเวียนมากกว่า 100,000 บาท
ตามมาด้วย ‘กล้วยเขย่าจากจังหวัดสุพรรณบุรี’ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากชาวบ้านในตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยและเกษตรผสมผสานอย่าง ปราโมทย์ กาฬภักดี ที่ได้นำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบบรรจุถุงขาย ที่ช่วงโควิดทำให้ตลาดและช่องทางการวางจำหน่ายร่อยหรอลง เมื่อมีถุงมิตรปันสุข กล้วยเขย่าจากจังหวัดสุพรรณบุรีและปราโมทย์ก็ยังสามารถทำรายได้ต่อไป และมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนคิดว่าน่าจะยึดเป็นอาชีพหลักได้อีกทางหนึ่ง
‘ข้าวอินทรีย์หอมอร่อยจากบ้านหนองเด่น’ ผลผลิตทางการเกษตรจากบ้านหนองเด่น ตำบลสุขเดือนห้า จังหวัดชัยนาท โดย รุ่งทิพย์ ศรีเดช เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกข้าวอินทรีย์มากทั้งคุณภาพและหลากหลายสายพันธุ์ควบคู่ไปด้วย มีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าว กข.43 เป็นต้น ส่งขายหลายที่รวมถึงกรุงเทพฯ ครั้นต้องเจอกับพิษโควิด กิจการส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ สินค้าจำพวกข้าวก็พลอยขายไม่ได้ไปด้วย หากจะเก็บไว้นานไปก็อาจจะเสียหาย เมื่อโครงการถุงยังชีพมิตรปันสุขเข้ามาซื้อข้าวไปช่วยเหลือสังคม รุ่งทิพย์และชุมชนบ้านหนองเด่นจึงยินดีและภูมิใจมากที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม และชาวบ้านก็มีรายได้ด้วย
ปิดท้ายด้วย ‘แจ่วบองหนองแข้’ จากบ้านจุมจัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจากบ้านจุมจัง ผลิตขึ้นโดยการรวมตัวเฉพาะกิจของกลุ่มสมาชิกชาวบ้านหนองแข้ราว 10 ราย ที่มาร่วมกันผลิตน้ำพริกแจ่วบองรวม 3,000 ชุด บรรจุลงถุงมิตรปันสุข โดยที่ถุงมิตรปันสุขนี้มีส่วนให้ชาวบ้านหนองแข้มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนรวมกว่า 120,000 บาทเลยทีเดียว
นอกเหนือจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นอีกมากมายที่บรรจุอยู่ในถุงปันสุขนี้ เช่น ไข่เค็มจากเยาวชนบ้านโนนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ, ชากระชายจากกลุ่มชาชงสมุนไพรบ้านลาดใต้ จังหวัดเลย, ข้าวอินทรีย์จากกลุ่มวิสาหกิจปลูกข้าวอินทรีย์บ้านเชียงเพ็ง จังหวัดอำนาจเจริญ และกลุ่มแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
ต่อลมหายใจแห่งความหวังเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง แข็งแรง
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อบวกกับความตั้งใจที่แท้จริงของกลุ่มมิตรผล ก็จะเห็นได้เลยว่าพวกเขามุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหา ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิดให้มากที่สุด และครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งกลุ่มที่เป็นชาวบ้านที่เดือดร้อนโดยตรง ไปจนถึงกลุ่มชาวบ้านที่เป็นกลุ่มอาชีพท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ชุมชนมีรายได้ต่อไป
โดยที่ผ่านมาโครงการมิตรปันสุขภายใต้กลุ่มมิตรผลและกองทุนมิตรผล-บ้านปูฯ ได้ร่วมกันส่งต่อถุงมิตรปันสุขเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้คนมากมาย รวมเป็นจำนวนกว่า 42,000 ชุด ผ่านความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานภาครัฐระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงการส่งมอบสินค้าแพ็กใหญ่ให้กับกลุ่มเด็กๆ และเยาวชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน
แต่ที่สุดแล้ว ปลายทางของความช่วยเหลือครั้งนี้ก็คือการส่งต่อโอกาสในการใช้ชีวิต กำลังใจ ความสุข และรอยยิ้มให้กับผู้คนจำนวนมาก ให้พวกเขาได้มีความหวัง กำลังใจ และแรงบันดาลใจที่จะลุกเดินต่อไปยังอนาคตข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ไปจนถึงสามารถตั้งหลัก ยืนหยัดได้ด้วยกำลังและลำแข้งของตัวเอง แม้ในวันที่โควิดจะจบลงแล้วก็ตาม