จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งสหประชาชาติระบุว่าประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และเมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 จะเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ’ ซึ่งตัวเลขของประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ, ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาว, นโยบายการวางแผนครอบครัวหรือการควบคุมการมีบุตร ทำให้เกิดการลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งหนึ่งที่ควรเป็นกังวลก่อนที่เราจะเข้าไปสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ เรื่องของการออมให้พอใช้ในวัยเกษียณ หากเรามีชีวิตที่ยาวขึ้น ยิ่งจำเป็นต้องมีเงินให้เพียงพอในยามเกษียณ เพราะในช่วงนั้นรายได้อาจจะลดลง และสวนทางกับรายจ่ายที่คงที่หรือเพิ่มมากขึ้นในบางราย ในปัจจุบันอัตราการออมและการลงทุนของคนไทยยังต่ำมาก และถ้ายังคงอยู่ในอัตราปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณโดยที่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สิ่งที่เป็นกังวลถัดมา คือ ส่วนใหญ่การออมของหลายคนยังห่างไกลจากเป้าหมายเหลือเกิน ซึ่งมาจากไม่เข้าใจการลงทุนและกลัวความเสี่ยง จึงเลือกลงทุนแบบที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำพอๆ กับเงินเฟ้อ ทำให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอตอนเกษียณ
สำหรับรูปแบบของการออมเพื่อวางแผนเกษียณมีด้วยกันอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, เงินฝากสหกรณ์, ประกันชีวิต, พันธบัตรรัฐบาล, กองทุนรวม รวมถึงกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นต้น ซึ่ง 2 กองทุนหลังนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
นอกจากนี้ มนุษย์เงินเดือนยังมีแหล่งเงินออมชั้นดีเหมาะสำหรับวางแผนใช้ยามเกษียณ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ด้วยกันถึง 2 ต่อ คือ ต่อที่ 1 เมื่อเราจ่ายเงินสะสมเข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างตามเงื่อนไขของบริษัท เหมือนเราได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือนโดยปริยาย และต่อที่ 2 เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
โดยในปัจจุบัน มีหลายบริษัทได้ผลักดันให้ลูกจ้างสามารถเลือกนโยบายการลงทุนเองได้ตามความเหมาะสม หรือที่เรียกกันว่า Employee’s Choice คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ให้สอดคล้องกับอายุ ผลตอบแทนที่ต้องการ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอย่างเหมาะสม ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรามีเงินออมจากการลงทุนมากขึ้นเป็นกอบเป็นกำ จนสามารถนำมาใช้ในชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสบาย
นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การมีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนมิควรละเลย เพราะเป็นหัวใจหลักของการออมด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล