×

เฮติ 101: จากอาณานิคมสุดมั่งคั่ง สู่ประเทศยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา

29.06.2023
  • LOADING...
เฮติ 101

ในปัจจุบันประเทศที่ยากจนที่สุดและมีความวุ่นวายทางการเมืองมากที่สุดในลาตินอเมริกาคือ ประเทศเฮติ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐเฮติ โดยประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส ของเฮติ ถูกลอบสังหารในบ้านพักเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 นับตั้งแต่นั้นมาก็มีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนไม่มีใครสามารถควบคุมได้ หลายประเทศในลาตินอเมริกาเองก็พยายามเคลื่อนไหวเพื่อหาทางช่วยเหลือเฮติ ดังนั้นในคราวนี้ผมจะเล่าถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเฮติ ก่อนที่ประเทศแห่งนี้จะเดินทางมาถึงจุดเลวร้ายนี้ดังเช่นในปัจจุบัน

 

เฮติในฐานะอาณานิคมที่มั่งคั่งที่สุดของฝรั่งเศส 

 

เฮตินั้นเดิมทีเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาริสวิก (Treaty of Ryswick of 1697) ซึ่งแบ่งพื้นที่เกาะฮิสแปนิโอลา (ประมาณ 1 ใน 3) ทางด้านตะวันตกให้อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ส่วนพื้นที่อีก 2 ใน 3 ทางด้านตะวันออกนั้นตกอยู่ภายใต้การดูแลของสเปน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็คือสาธารณรัฐโดมินิกัน 

 

ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เฮติหรือในขณะนั้นคือ ‘ซานโดมิงเก’ เป็นอาณานิคมที่มีความมั่งคั่งที่สุดในบรรดาอาณานิคมทั้งหมดของฝรั่งเศสในเขตโลกใหม่ อันเนื่องมาจากรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาล กาแฟ และคราม โดยมีแรงงานทาสแอฟริกันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านมานานกว่า 200 ปีนับตั้งแต่การประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1804 เฮติได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา มีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่องมิได้ขาด มีการก่อรัฐประหารไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง มีรัฐบาลเผด็จการทั้งจากฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร ทั้งยังถูกต่างชาติแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ รวมถึงสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน ที่ส่งกองทัพอเมริกันเข้าไปยึดครองตั้งแต่ปี 1915-1934 ตามนโยบายเรือปืน (Gunboat Diplomacy) 

 

จะเห็นได้ว่านโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก รูปแบบของการยึดครองอิรักในอดีตก็ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์การยึดครองเฮติ ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ แสดงบทบาทผู้นำในการให้ความช่วยเหลือเฮติต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2010 อดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา ซึ่งถือเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ กับสหรัฐฯ มาโดยตลอด จึงออกมาโวยวายและกล่าวโจมตีว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะกลับไปยึดครองเฮติอีกครั้งหนึ่ง

 

ทำไมเฮติถึงกลายเป็น ‘ประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา’

 

ความแตกแยกทางเศรษฐกิจและสังคมได้ฝังรากลึกอยู่ในเฮตินับตั้งแต่สมัยอาณานิคม ที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ในไร่อ้อยคือทาสผิวดำที่มาจากแอฟริกา การที่ทาสผิวดำลุกขึ้นมาปฏิวัติขับไล่ฝรั่งเศสออกไปในปี 1804 ถือเป็นการลุกฮือที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกา

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปฏิวัติในเฮติจะถือเป็นการพลิกหน้าประวัติครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของโลก ในการที่ทาสสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ขับไล่นายทาส แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นมาปกครองประเทศเป็นครั้งแรกของโลก แต่การปฏิวัติในครั้งนั้นก็ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจของเฮติไปอย่างย่อยยับ 

 

นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ชนชั้นปกครองถูกแทนที่ด้วยผู้นำเผด็จการทั้งทหารและพลเรือนที่เรียกกันว่า ‘กลุ่ม Affranchis’ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างนายทาสชาวฝรั่งเศสกับทาสแอฟริกัน (ในอาณานิคมของอังกฤษและสเปนจะเรียกพวกลูกผสมระหว่างนายทาสผิวขาวกับทาสแอฟริกันว่า Mulattoes) 

 

ภาวะเศรษฐกิจที่ระส่ำระสายบวกกับหนี้ต่างประเทศที่ทับถม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฮติต้องชำระค่าเสียหายของการสูญเสียรายได้จากการค้าทาสให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากถึง 90 ล้านฟรังก์ เพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสจะยอมรับว่าเฮติเป็นประเทศเอกราชและสิ้นสุดภาวะสงครามระหว่างกัน จนก่อให้เกิดเหตุจลาจลนับครั้งไม่ถ้วน และนำไปสู่การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

 

เฮติภายใต้ระบอบเผด็จการ

 

ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน ระบบการชลประทาน รวมไปถึงโรงพยาบาล และโรงเรียน จะได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การวางรากฐานประชาธิปไตยในเฮติกลับล้มเหลว จนนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการของตระกูลดูวาลิเยร์เป็นเวลาร่วม 30 ปี  

 

ฟรองซัวส์ ดูวาลิเยร์ หรือปาปา ด็อก (Papa Doc) ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1957 เขาใช้ความเชื่อจาก ‘ลัทธิวูดู’ ผสมผสานกับการให้ความสำคัญแก่คนผิวดำในชนบทและการใช้กองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมาย ‘Tonton Macoutes’ ในการปกครองประเทศและปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดย Papa Doc เคยประกาศการเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพของตนเองในปี 1964 ก่อนที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ ฌ็อง-โกลด ดูวาลิเยร์ หรือเบบี้ ด็อก (Baby Doc) ซึ่งเป็นลูกชายของเขาในปี 1971 ก่อนที่เขาจะถึงแก่อสัญกรรมในปีเดียวกันนั้น โดยลักษณะการถ่ายโอนอำนาจจากพ่อไปสู่ลูกและส่งต่อไปยังหลาน เป็นไปในทำนองเดียวกับการถ่ายโอนอำนาจในเกาหลีเหนือคือจาก คิมอิลซุง ไปสู่ คิมจองอิล และส่งต่อไปยัง คิมจองอึน 

 

Baby Doc ดำเนินนโยบายบริหารประเทศ ‘แตกต่าง’ ไปจากพ่อของเขา เขาได้หันไปร่วมมือกับกลุ่มชนชั้นนำ Affranchis ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มคนที่เคยสนับสนุน Papa Doc ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในเขตชนบท รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสถาบันด้านศาสนาอย่าง Catholic Church ทำให้เกิดการต่อต้าน Baby Doc ไปทั่วประเทศ ท้ายที่สุดเมื่อสหรัฐฯ ถอนการสนับสนุนออกไป รัฐบาลของ Baby Doc ก็ถึงการล่มสลาย ส่งผลให้ Baby Doc จำเป็นต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ 1986 

 

หลังจากมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1987 อันนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงปี 1990-ช่วงต้นปี 1991 ซึ่ง ฌอง-แบร์ทรองด์ อาริสตีด อดีตนักบวชในคริสต์ศาสนาได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะคะแนนเสียงจากคนยากจน สร้างความตื่นตระหนกให้กับกลุ่มชนชั้นนำและกองทัพ จนนำไปสู่การรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล Aristide ในเดือนกันยายน 1991 โดยมีการประมาณการว่า ผู้ที่สนับสนุนอาริสตีดไม่น้อยกว่า 3,000 คนถูกสังหารโดยกองทัพและกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมาย ขณะที่ตัวอาริสตีดเองและผู้สนับสนุนเขาอีกนับพันคนได้ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา

 

ภายหลังการเจรจาต่อรองระหว่างอาริสตีดกับกองทัพ ผนวกกับแรงกดดันจากนานาชาติต่อรัฐบาลทหารเฮติภายใต้การนำของ โจเซฟ ราอูล เซดราส และคำขู่ของสหรัฐอเมริกาที่จะแทรกแซงทางการทหาร ทำให้อาริสตีดได้หวนกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งในเดือนตุลาคม 1994 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้นำประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเสรี ให้กลับคืนไปสู่อำนาจอีกครั้งภายหลังจากการถูกรัฐประหาร (แต่ความพยายามก่อการรัฐประหารในเวเนซุเอลา เพื่อโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีชาเวซซึ่งมาจากการเลือกตั้งในปี 2002 สหรัฐอเมริกากลับให้การสนับสนุนผู้ก่อการรัฐประหาร) 

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีเฮติครั้งต่อมาในปี 1995 เรเน พรีวัล ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นมากกว่าร้อยละ 80 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพรีวัลก้าวขึ้นรับตำแหน่งในปีถัดมาเขาก็ต้องเผชิญความยุ่งยากในรัฐสภา เมื่ออดีตประธานาธิบดีอาริสตีดและผู้สนับสนุนบางส่วนได้แยกตัวออกไปตั้งกลุ่มการเมืองใหม่คือ Fanmi Lavaras (FL) 

 

ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วไปในปี 1997 มีการซื้อขายเสียงกันอย่างดาษดื่น ประชาชนเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง นำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการเมือง ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเกิดความขัดแย้งกันจนไม่สามารถประนีประนอมกันได้ ทำให้กำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปลายปี 1998 ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และส่งผลให้ไม่มีตัวแทนของประชาชนอยู่ในรัฐสภา รัฐบาลของพรีวัลจึงบริหารประเทศโดยออกเป็นบทบัญญัติพิเศษ (Rule by Decree) 

 

หลังจากล่วงเลยมาเกือบ 3 ปี การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรก็ถูกจัดให้มีขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2000 ถึงแม้จะมีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 60 และมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก แต่ผลการเลือกตั้งถูกกล่าวหาจากฝ่ายค้านว่า รัฐบาลโกงการเลือกตั้งโดยใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังโจมตีคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพและวางตัวไม่เป็นกลาง มีการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ 

 

ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ นานาชาติภายใต้การนำขององค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States: OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (The Caribbean Common Market and Community: CARICOM) พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติความขัดแย้งดังกล่าวได้ ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านจึงบอยคอตต์การเลือกตั้งประธานาธิบดีและวุฒิสมาชิกที่จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นอาริสตีดกลับมาได้รับชัยชนะอีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 92 และพรรค Fanmi Lavaras ได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา 

 

ความวุ่นวายทางการเมืองเรื้อรังในเฮติ

 

อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเฮติ เกิดการประหัตประหารกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนอาริสตีดและฝ่ายค้าน ประกอบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ก่อให้เกิดการลุกฮือของประชาชนต่อต้านรัฐบาล โดยเริ่มขึ้นจากทางตอนเหนือของประเทศ และท้ายที่สุดก็ได้บุกเข้ายึดกรุงปอร์โตแปรงซ์ ส่งผลให้ประธานาธิบดีอาริสตีดต้องลี้ภัยทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2004

 

สหประชาชาติได้ส่งกองกำลังทหารภายใต้การนำของกองทัพบราซิลเข้ามาดูแลรักษาสันติภาพ มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของ โบนิฟาซ อเล็กซานเดร และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2006 ซึ่ง เรเน พรีวัล สามารถกำชัยชนะเหนือคู่แข่งกว่า 30 คน กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง โดยมีปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขาดดุลทางการคลัง เป็นสิ่งที่รอคอยให้รัฐบาลของพรีวัลเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

 

เดือนเมษายน 2008 นายกรัฐมนตรีฌัก-เอดูอาร์ด อเล็กซิส ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ นายกรัฐมนตรีคนต่อมาคือ มิเคเล ปิแอร์-ลูอิส ซึ่งเป็นสุภาพสตรี ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียงแค่ 14 เดือนเท่านั้น ก่อนที่จะถูกวุฒิสภาลงมติปลดด้วยข้อกล่าวหาเดียวกับอเล็กซิส 

 

ในระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2010 เวลาประมาณ 16.53 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเช้าวันที่ 13 มกราคม เวลา 04.53 น. ตามเวลาประเทศไทย มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ วัดความรุนแรงได้ถึง 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ โดยได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึงเกือบ 2.5 แสนคน มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อยราว 3 แสนคน มีประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 ล้านคน ทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองเฮติอีกครั้งหนึ่ง มีการระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติ รวมทั้งจากรัฐบาลไทยที่ตอนแรกประกาศว่าจะบริจาคเงิน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐให้กับเฮติ แต่ภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและประชาชน จึงได้แก้เกี้ยวเพิ่มความช่วยเหลือให้กับเฮติทั้งในรูปความช่วยเหลือทางด้านตัวเงิน การแพทย์ ทหารช่าง และข้าวสาร

 

ปัจจุบันรัฐบาลของเฮติอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอเรียล อองรี และตัวเขาเองก็ยังทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย โดยดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2021 เป็นต้นมา

 

จากพัฒนาการทางการเมืองของเฮติข้างต้นจะเห็นได้ว่า เฮติขาดสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัญหาความแตกต่างและแบ่งแยกของประชาชน ทำให้การพัฒนาของเฮตินั้นเป็นไปได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันประเมินค่าไม่ได้แล้ว แผ่นดินไหวในครั้งนั้นยังได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของเฮติเกือบทั้งหมด 

 

เฮติจากอาณานิคมที่มั่งคั่งเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ปัจจุบันกลับกลายเป็นประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเร่งด่วนที่สุด และอาจต้องใช้เวลานานมากถึงจะฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเหมือนเดิมได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อรัฐบาลเฮติทั้งในปัจจุบันและในอนาคตก็คือ การฟื้นฟูบูรณะประเทศจากความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและความวุ่นวายทางการเมืองที่เป็นอยู่ 

 

ขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการพลิกวิกฤตให้เป็นพลังในการหล่อหลอมจิตใจคนทั้งประเทศให้ลืมความแตกแยก หันมาร่วมมือกันพัฒนาประเทศ นำความเจริญมาสู่ประเทศ ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็น อาทิ การสร้างชาติของญี่ปุ่นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 

 

ไม่แน่ว่าเฮติ…จากประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา อาจกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด (อีกครั้ง) ถึงแม้จะไม่ใช่ที่สุดในทวีปอเมริกา แต่ก็อาจเป็นที่สุดในกลุ่มประเทศแถบแคริบเบียนด้วยกันเองก็เป็นได้

 

ภาพ: Georges Harry Rouzier / Anadolu Agency via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X