×

มวยคนละรุ่น เกาะไห่หนานเมื่อเทียบกับฮ่องกง ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จีนผลักดันแล้วจะสำเร็จดังหวัง

15.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • รัฐบาลจีนประกาศ ‘แผนแม่บท 6+1+4’ เพื่อผลักดันเกาะไห่หนานให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีมาตรฐานสูง (High-Standard Free Trade Port) มุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว ท่ามกลางการจับตาว่า จีนจะดันไห่หนานขึ้นแทนที่ฮ่องกงในอนาคต
  • แต่การผลักดันไห่หนานให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยในอดีตไห่หนานได้รับการโปรโมตให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้ำหน้าทันสมัยได้มากนัก เมื่อเทียบกับ SEZ 4 เขตแรกของจีน ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ เซี่ยเหมิน และซ่านโถว
  • จากข้อมูลในปี 2019 เกาะไห่หนานยังคงมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กติดอันดับ 28 จากทั้งหมด 31 มณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดขนาดเล็กด้วยจำนวนประชากรเพียงแค่ 9.5 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยไม่มากนัก อีกทั้งมีจุดอ่อนในแง่กายภาพที่อยู่ห่างแผ่นดินใหญ่
  • เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ฮ่องกงมีจุดแข็งที่สั่งสมมายาวนานและมีแต้มต่อกว่าเกาะไห่หนานในหลายด้าน เช่น มีโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านที่พรั่งพร้อม ทำให้กลายเป็นท่าเรือหลักติดอันดับต้นของโลกมานานหลายทศวรรษ นอกจากนี้ยังมีสนามบินที่ทันสมัยและเป็นฮับการบินในภูมิภาค

ปัญหาเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 และการประท้วงที่ยืดเยื้อบนเกาะฮ่องกง ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างหนัก ในไตรมาสแรกของปี 2020 ตัวเลขเศรษฐกิจฮ่องกงหดตัวติดลบสูงถึงร้อยละ 8.9 (นับเป็นการติดลบรายไตรมาสที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกตัวเลขเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างเป็นทางการ)  

 

ด้วยสถานการณ์ปัญหาที่รุมเร้าเหล่านี้ ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามถึงอนาคตของฮ่องกง และเริ่มมีการพูดเปรียบเทียบว่า “เกาะไห่หนานจะได้รับการพัฒนาเพื่อมาทดแทนฮ่องกง” โดยเฉพาะล่าสุด รัฐบาลจีนได้ประกาศ ‘แผนแม่บท 6+1+4’ เพื่อผลักดันเกาะไห่หนาน (คนไทยเรียกว่า ‘เกาะไหหลำ’) ให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีมาตรฐานสูง (High-Standard Free Trade Port) มุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะไห่หนาน หวังดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

 

บทความนี้วิเคราะห์เปรียบเทียบศักยภาพทางเศรษฐกิจของเกาะไห่หนานกับเกาะฮ่องกง เพื่อชี้ให้เห็นจุดอ่อนของเกาะไห่หนานในหลายเรื่อง ซึ่งถือเป็น ‘มวยคนละรุ่น’ หากเปรียบเทียบกับฮ่องกงที่ยังคงมีจุดแข็งที่สั่งสมมายาวนาน และมีแต้มต่อกว่าเกาะไห่หนานในหลายด้าน จึงไม่ง่ายที่เกาะไห่หนานจะมาทดแทนเกาะฮ่องกง 

 

 

จากข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจสำคัญล่าสุด (ที่แสดงในตาราง) เมื่อนำเกาะไห่หนานมาเปรียบเทียบกับเกาะฮ่องกงแล้ว ชัดเจนว่าคู่นี้เป็นมวยคนละรุ่น ทั้งด้านขนาดเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัว มูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว 

 

ที่สำคัญ การทุ่มผลักดันเกาะไห่หนานไม่ใช่เรื่องใหม่ บทความนี้จะชี้ให้เห็นพัฒนาการของเกาะไห่หนานและไล่เรียงมาตรการสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลจีนที่พยายามผลักดันมณฑลที่เป็นเกาะของจีนแห่งนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังคงมีจุดอ่อนสำคัญหลายด้าน และไม่ใช่ทุกเรื่องที่จีนทำแล้วจะสำเร็จดังหวัง

 

ทำความรู้จักเกาะไห่หนาน

เกาะไห่หนาน (Hainan / 海南) เป็นเกาะที่อยู่ทางใต้ของจีนในอ่าวตังเกี๋ยของทะเลจีนใต้ มีพื้นที่ประมาณ 35,354 ตารางกิโลเมตร จึงมีเนื้อที่ใหญ่กว่าฮ่องกงประมาณ 35 เท่า ทั้งนี้ เกาะไห่หนานอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ของจีนผ่านช่องแคบฉงโจว (Qiongzhou / 琼州海峡) ด้วยระยะทางประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร 

 

 

ในอดีต เกาะไห่หนานเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง แต่ต่อมาในปี 1988 ได้มีการยกระดับเกาะไห่หนานขึ้นเป็น ‘มณฑล’ โดยมีนครไหโข่ว (Haikou / 海口) เป็นเมืองเอก และยังได้ประกาศให้ทั้งเกาะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) แห่งที่ 5 ของจีน ซึ่งมีแนวทางการปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกับเขต SEZ ใน 4 แห่งแรกของจีน ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ เซี่ยเหมิน และซัวเถา (ซ่านโถวในภาษาจีนกลาง)  

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเกาะไห่หนานจะเป็น SEZ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้ำหน้าทันสมัยได้มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ SEZ ใน 4 เขตแรกของจีน 

 

จากข้อมูลในปี 2019 เกาะไห่หนานยังคงมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็ก ติดอันดับ 28 จากทั้งหมด 31 มณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้เกาะไห่หนานยังเป็นตลาดขนาดเล็ก ด้วยจำนวนประชากรเพียงแค่ 9.5 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยไม่มากนัก เพียงแค่ 56,507 หยวนต่อคนต่อปี อยู่ที่อันดับ 16 เมื่อเปรียบเทียบกับทุกมณฑลจีน 

 

การทุ่มผลักดันเกาะไห่หนานไม่ใช่เรื่องใหม่

หลังจากปี 1988 ที่มีการประกาศตั้งเกาะไห่หนานให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ทางการจีนยังมีนโยบายต่างๆ ออกมาผลักดันการพัฒนาเกาะไห่หนานอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้มีการจัดงานอีเวนต์ระดับโลกบนเกาะไห่หนาน เช่น การจัดประกวด Miss World ติดต่อกันหลายปี มีการจัดแข่งกอล์ฟระดับโลก รวมไปถึงการจัดการประชุมระหว่างประเทศ Boao Forum For Asia อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2001 เพื่อหวังจะดันให้เกาะไห่หนานเป็นที่รู้จักในระดับโลก 

 

ในปี 2009 รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เกาะไห่หนานเป็น ‘เป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (International Tourist Destination)’ ภายในปี 2020 โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวชายทะเลในเมืองซานย่า (Sanya / 三亚) ให้เป็นเสมือน ‘ฮาวายของจีน’ จึงส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บนเกาะไห่หนานขยายตัวอย่างก้าวกระโดดและมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลที่เป็นเกาะของจีนแห่งนี้

 

ในปี 2011 ทางการจีนได้ประกาศให้เกาะไห่หนานเป็นแหล่งช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี หวังสร้างจุดเด่นให้เป็น ‘เกาะปลอดภาษี (Duty Free)’ ของบรรดานักช้อปทั้งหลาย เพื่อดึงดูดให้มาจับจ่ายใช้สอยสินค้าปลอดภาษี และในปี 2014 ได้เปิดศูนย์การค้าปลอดภาษีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองซานย่า และอีกแห่งในนครไหโข่ว เมืองเอกของเกาะไห่หนาน ทำให้ในปี 2018 ศูนย์การค้าปลอดภาษีทั้งสองแห่งมีลูกค้ากว่า 2.88 ล้านคน มียอดขายมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน  

 

ในปี 2018 ได้มีการผลักดันโครงการ Visa Free โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2018 ประชาชนจาก 59 ประเทศ (รวมทั้ง 5 ประเทศสำคัญในอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) สามารถบินตรงมาท่องเที่ยวเกาะไห่หนาน (โดยผ่านบริษัททัวร์) ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าจีน และพำนักได้นานไม่เกิน 30 วัน เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาเกาะแห่งนี้มากขึ้น

 

 

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้ทุ่มเทพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้กับเกาะไห่หนาน เริ่มในปี 2004 ได้ให้บริการขนส่งข้ามช่องแคบฉงโจว โดยสามารถนำรถไฟลงเรือเฟอร์รี่ หรือที่เรียกว่า รถไฟสายกวางตุ้ง-ไห่หนาน เพื่อเชื่อมโยงเกาะไห่หนานกับแผ่นดินจีนที่มณฑลกวางตุ้ง และในปี 2015 ได้มีการพัฒนาระบบรางที่เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเป็นวงแหวนรอบเกาะ ระยะทางรวม 653 กิโลเมตร สามารถเดินทางรอบเกาะได้ภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง  

 

สีจิ้นผิง ผลักดันเกาะไห่หนานเป็น Pilot Free Trade Zone 

เมื่อเดือนเมษายน 2018 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้เดินทางไปเกาะไห่หนาน เพื่อร่วมพิธีเปิดงานประชุมสำคัญประจำปี Boao Forum of Asia 2018 และร่วมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งเกาะไห่หนานเป็น ‘มณฑล’ โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาเกาะไห่หนานให้เป็นเขตนำร่องการค้าเสรี (Pilot Free Trade Zone / FTZ) ภายในปี 2020 และพัฒนาเป็นเกาะการค้าเสรี (Free Trade Port) ภายในปี 2025 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งธุรกิจและสำนักงานภูมิภาคบนเกาะไห่หนานแห่งนี้ 

 

ล่าสุดในปี 2020 รัฐบาลจีนได้ประกาศ แผนแม่บท 6+1+4 เพื่อผลักดันเกาะไห่หนานให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีมาตรฐานสูง (High-Standard Free Trade Port)  เพื่อมุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ (New Hi-Tech) โดยใช้นโยบายสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น เก็บภาษีศุลกากรในอัตราศูนย์ (Zero Tariffs) และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไปจนถึงการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เพียงแค่ร้อยละ 15 และในด้านการท่องเที่ยวก็ขยายโควตาให้ซื้อสินค้าปลอดภาษีได้สูงถึง 1 แสนหยวน

 

จุดอ่อนของเกาะไห่หนาน

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเทให้เกาะไห่หนานเต็มที่ ผู้นำสูงสุดของจีนอย่างสีจิ้นผิง ประกาศมาตั้งแต่ปี 2018 ที่จะผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อหวังดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ แต่ก็ยังไม่สำเร็จดังหวัง จากรายงานในปี 2019 พบว่า มีจำนวนชาวต่างประเทศเดินทางมาเกาะไห่หนานน้อยมากเพียงแค่ 1.4 ล้านคน 

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จากการลงพื้นที่บนเกาะไห่หนานหลายครั้ง และติดตามพัฒนาการของเกาะแห่งนี้มานาน พบว่า เกาะไห่หนานมีจุดอ่อนสำคัญหลายด้าน ดังนี้   

 

ประการแรก จุดอ่อนทางกายภาพจากการที่เป็นเกาะอยู่ห่างแผ่นดินใหญ่ โดยต้องเดินเรือผ่านช่องแคบฉงโจวระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร ทำให้ไม่สะดวก เสียเวลา และมีต้นทุนในการขนส่งเชื่อมโยงกับแผ่นดินใหญ่ แม้รัฐบาลจีนจะผลักดันให้เป็น Free Trade Port แต่คงไม่มีสายเรือของต่างชาติให้ความสนใจไปใช้บริการมากนัก หากต้องเสียเวลาขนส่งเชื่อมต่อมายังตลาดหลักบนแผ่นดินใหญ่อีกทอดหนึ่ง และแม้ว่าตอนนี้จะมีบริการนำรถไฟลงเรือเฟอร์รี แต่ก็ยังต้องเสียเวลาในการเดินทางผ่านช่องแคบในทะเลเพื่อเชื่อมแผ่นดินใหญ่

 

ดังนั้น จากสถิติล่าสุด ในปี 2019 แม้จะทุ่มเทผลักดันเชิงนโยบายเต็มที่ แต่ท่าเรือของเกาะไห่หนานก็ยังไม่ติดอันดับ Top 50 ของการจัดอันดับท่าเรือของโลก และไม่ติดอันดับแม้กระทั่ง Top 15 ท่าเรือสำคัญในประเทศจีนเองด้วย (อ้างอิง http://www.worldshipping.org/about-the-industry/global-trade/top-50-world-container-ports)

 

ประการที่สอง จุดอ่อนเรื่อง ‘คน’ บนเกาะไห่หนาน ด้วยจำนวนประชากรเพียงแค่ 9.5 ล้านคนบนเกาะแห่งนี้ จึงเป็นตลาดเล็กมากและไม่ได้มีรายได้ต่อหัวสูงมากนัก ที่สำคัญชาวจีนท้องถิ่นบนเกาะไห่หนานก็ไม่ได้มีความเป็นนักธุรกิจที่กระตือรือร้น ขยันขันแข็ง หรือไม่ได้เป็นขาลุยชอบเสี่ยงทำธุรกิจมากนัก ตอนนี้นักลงทุนจีนบนเกาะไห่หนานส่วนใหญ่จะมาจากมณฑลอื่น เช่น กวางตุ้ง 

 

การลงทุนในเกาะไห่หนานที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมาจากฮ่องกง ด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 77.1 ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมด (FDI) ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจบริการและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดอุปทานล้นเกิน (Over Supply) โดยเฉพาะในเมืองซานย่าที่เต็มไปด้วยตึกโรงแรมที่พักมากมาย เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ก็มีเพียงกลุ่มคนจีนเที่ยวจีนกันเองที่เดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะแห่งนี้ราว 75 ล้านคนต่อปี  

 

 

ด้านการค้าระหว่างประเทศของเกาะไห่หนานก็ไม่โดดเด่น จากสถิติในปี 2018  สินค้าส่งออกหลักของเกาะไห่หนาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่น (จากการลงทุนของบริษัท Sinopec ของจีนเอง) เสื้อผ้าและสิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สิงคโปร์  ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ตามลำดับ สำหรับสินค้านำเข้าหลักของเกาะไห่หนาน ได้แก่ น้ำมันดิบ อุปกรณ์คมนาคมขนส่ง และอุปกรณ์เครื่องจักรและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และเกาหลีใต้ 

 

อีกประการสำคัญ ยังมีประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันของผู้บริหารระดับสูงของเกาะไห่หนาน ที่เป็นอีกปัจจัยทำให้การผลักดันมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาเกาะไห่หนานไม่คืบหน้าตามที่คาดหวัง จากรายงานข่าวเมื่อเดือนกันยายน 2019 ได้มีการจับกุม จางฉี อดีตสมาชิกคณะกรรมการประจำของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ประจำมณฑลไห่หนาน ซึ่งได้มีการซุกซ่อนทรัพย์สินเป็นธนบัตรจำนวนมาก (มูลค่านับพันล้านบาท) และทองคำแท่งหนัก 13 ตันครึ่ง เก็บซ่อนไว้ในห้องใต้ดินภายในคฤหาสน์หลังใหญ่ และต่อมาได้ถูกนำไปสอบสวนทางวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อดำเนินคดีอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีกรณีของ จี้เหวินหลิน อดีตรองผู้ว่าการเกาะไห่หนาน ที่ได้ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี จากคดีทุจริตคอร์รัปชันเช่นกัน (อ้างอิง https://www.nationweekend.com/content/detail/1360 )

 

จุดแข็งฮ่องกง

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ฮ่องกงมีจุดแข็งที่สั่งสมมายาวนานและมีแต้มต่อกว่าเกาะไห่หนานในหลายด้าน เช่น ฮ่องกงมีโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านที่พรั่งพร้อม ทำให้กลายเป็นท่าเรือหลักติดอันดับต้นของโลกมานานหลายทศวรรษ มีสนามบินที่ทันสมัยและเป็นฮับการบินในภูมิภาค รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่มีนักธุรกิจมาจากทั่วโลก มีตลาดหุ้นที่สำคัญระดับภูมิภาค มีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ผลิตทุนมนุษย์เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ 

 

ที่สำคัญฮ่องกงยังมีจุดเด่นด้านกฎหมาย/กฎระเบียบที่เปิดเสรีในระดับสากล ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางตลาดเงินและตลาดทุนระดับโลกมานาน ล่าสุดมีการจัดอันดับให้ฮ่องกงเป็นเศรษฐกิจภาคบริการที่เสรีที่สุดในโลก (The World’s Freest and Most Services-Oriented Economy) ด้วยสัดส่วนภาคบริการสูงมากกว่าร้อยละ 90 ของ GDP และมีการลงทุนต่างชาติไหลเข้า (FDI Inflows) มากติดอันดับ 3 ของโลก  

 

ดังนั้น จึงยากที่เกาะไห่หนานจะมาล้มแชมป์เดิมอย่างฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าหรือการขนส่งโลจิสติกส์ในระดับโลก แม้ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะมีสะดุดบ้างจากพิษโควิด-19 และการประท้วงใหญ่ในช่วงนี้ แต่นี่ก็ไม่ใช่วิกฤตใหญ่ครั้งแรกของฮ่องกง เพราะดินแดนแห่งนี้เคยผ่านวิกฤตไข้หวัดมรณะหรือโรคซาร์สมาแล้วในปี 2003 รวมทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งที่กระทบด้านการเงินอย่างหนักในปี 1997 แต่ในที่สุด เศรษฐกิจฮ่องกงก็ฟื้นขึ้นมาได้ และสามารถฝ่าฟันทุกวิกฤตมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

โดยสรุป จึงไม่ง่ายที่เกาะไห่หนานจะก้าวขึ้นมาทดแทนเกาะฮ่องกง และจะเป็นงานช้างที่ยากเย็นแสนเข็ญมาก หากจะทำให้สำเร็จดั่งใจหวัง ก็คงต้องตามลุ้นกันจนตัวโก่งไปอีกนานเลยค่ะ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X