×

Hagia Sophia คืนสู่บทบาทมัสยิดอีกครั้ง ความเจ็บช้ำของคริสตจักร และความภูมิใจของชาวมุสลิม

24.07.2020
  • LOADING...

เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ในขณะที่เรากำลังงุนงงกับแคมเปญ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ของรัฐบาลไทย ที่ประเทศตุรกีมีข่าวสะเทือนใจคนทั้งโลก เมื่อประธานาธิบดีเออร์โดกันแห่งตุรกี ลงนามประกาศให้มหาวิหารเซนต์โซเฟีย หรือที่คุ้นหูกันในนาม ฮาเกีย โซเฟีย (Hagia Sophia) กลับสถานะคืนสู่การเป็นมัสยิด ตามคำพิพากษาของศาลสูงตุรกีที่ว่า การเปลี่ยนสถานะฮาเกีย โซเฟียให้เป็นพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสุลต่านเมห์เหม็ด แห่งจักรวรรดิออตโตมัน

 

จากประกาศนี้ทำให้มหาวิหารที่เป็นสัญลักษณ์การอยู่รวมกันของ 2 ศาสนา คริสต์และอิสลามต้องปิดตัวลงในฐานะพิพิธภัณฑ์ และจะเปิดประตูอีกครั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2020 ในฐานะมัสยิด ท่ามกลางความเศร้าโศกของชาวคริสต์และความปลื้มปีติของชาวมุสลิม ผู้นำและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างถกเถียงและหว่านล้อมให้ประธานาธิบดีเออร์โดกันแห่งตุรกีพิจารณาใหม่ องค์การยูเนสโกร่อนจดหมายไปหาตุรกี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และองค์กรศาสนาคริสต์ต่างๆ เพื่อแสดงความเสียใจ และแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ หรือแม้แต่ประธานาธิบดีปูตินก็ยังต่อสายตรงคุยประเด็นนี้กับคิเรียกอส มิตโซตากิส รัฐมนตรีของกรีซ เช่นกัน

 

 

มหาวิหารที่เป็นมากกว่าศาสนสถาน

ย้อนกลับไปยังศตวรรษที่ 4 ฮาเกีย โซเฟีย คือมหาโบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายไบแซนไทน์ มานานกว่า 1,000 ปี จนกระทั่งในปี 1453 สุลต่านแห่งออตโตมันบุกยึดเมืองคอนสแตนติโนเปิล และดัดแปลงทุกสิ่งอย่างภายในโบสถ์ให้กลายเป็นสุเหร่าของมุสลิม กระทั่งถูกเปลี่ยนมาพิพิธภัณฑ์เมื่อ 86 ปีที่แล้ว

 

ผู้เขียนเคยไปฮาเกีย โซเฟียเมื่อราว 6 ปีก่อน มหาวิหารขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณย่านสุลต่านอาห์เหม็ด เขตเมืองเก่าแหล่งรวมสถานที่สำคัญหลายแห่งของอิสตันบูล ความอลังการของฮาเกีย โซเฟียสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นได้ดี อาคารหลังที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นการดำริสร้างของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 โบสถ์หลังที่ 3 ครอบด้วยหลังเดิมที่พังทลายลงเพราะไฟไหม้จากเหตุจลาจล โดยซื้อและนำวัสดุก่อสร้างมาจากอาณาจักรต่างๆ เช่น เสาแบบเฮลเลนิสติกจากวิหารอาร์ทิมิส เมืองเอเฟซุส หินเนื้อดอกจากอียิปต์ หินอ่อนเขียวจากแคว้นเทสซาลี หินดำจากแถบบอสฟอรัส และหินเหลืองจากซีเรีย

 

โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าเข้าขั้นอัจฉริยะ อาคารใหญ่โตโอ่โถ่งกลับไม่มีเสาต้นใหญ่ค้ำยัน แต่ใช้หลักการถ่ายเทน้ำหนักจากหลังคาลงสู่ผนัง ท้าทายความคิดของผู้คนสมัยนั้นที่ว่าทำไม่ได้ จนกลายเป็นมาตรฐานของสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ โรมันคาทอลิก และอิสลามต่อมาอีกหลายศตวรรษ 

 

 

ภาพโมเสกทางคริสตศาสนาถูกกะเทาะปอกเปลือก อวดโฉมอีกครั้งเคียงคู่อักษรอารบิก นับเป็นสถานที่เดียวในโลกที่เห็นสองศาสนาอยู่ภายใต้อารามศักดิ์สิทธิ์เดียวกัน ฮาเกีย โซเฟีย จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เก่าธรรมดา แต่ยังเป็นตัวแทนวิทยาการความรู้ ต้นแบบงานทางสถาปัตยกรรม และสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมและปรองดองของศาสนา 

 

ความพ่ายแพ้ของคริสตจักร และความภูมิใจของชาวมุสลิม

ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเดินทางจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือนฮาเกีย โซเฟีย ถึง 3.7 ล้านคน ถือเป็นมิวเซียมที่มีคนเยี่ยมชมมากที่สุดในตุรกี สำหรับคนนอก ฮาเกีย โซเฟียคือจุดหมายปลายทางที่เหมาะสมกับคำว่าพิพิธภัณฑ์ด้วยเหตุผลทั้งปวง แต่สำหรับชาวมุสลิมบางคน การกลับมาทำหน้าที่มัสยิดหลวงอีกครั้งดังเช่น 500 ปีที่เคยเป็นมา คือความภาคภูมิใจของพวกเขา 

 

นับตั้งแต่ได้ตำแหน่งประธานาธิบดี เรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ก็แสดงท่าทีอันชัดเจนที่ผลักดันให้ศาสนาอิสลามกลายมาเป็นศาสนาหลักของประเทศ ซึ่งคำประกาศเปลี่ยนสถานะของฮาเกีย โซเฟีย คือหนึ่งความสำเร็จในนโยบายดังกล่าว ประชาชนที่สนับสนุนเขาต่างออกมาโห่ร้องแสดงความยินดีที่ด้านนอกมหาวิหาร เช่นเดียวกับสมาชิกในสภาแห่งชาติตุรกีต่างลุกขึ้นปรบมือแสดงความยินดี

 

คำประกาศดังกล่าวสร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้เหล่าคริสต์ศาสนิกชน และนักอนุรักษ์ทั่วโลก เพราะการเปลี่ยนบทบาทจากพิพิธภัณฑ์ไปเป็นมัสยิด อาจทำให้ภาพโมเสกในที่ต่างๆ และหลักฐานทางโบราณคดีถูกลบกลบหายไป แม้รัฐบาลตุรกีจะออกมายืนยันว่าการเปลี่ยนบทบาทในครั้งนี้จะไม่กระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้แน่นอน และยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก ทุกชาติ ทุกศาสนาเยี่ยมชมเช่นเคย เพียงแต่อาจมีข้อบังคับเรื่องการแต่งกายที่เข้มงวดขึ้น 

 

 

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (24 กรกฎาคม 2020) มหาวิหารเซนต์โซเฟีย จะกลับไปทำหน้าที่มัสยิดอีกครั้ง หลังอยู่ในฐานะพิพิธภัณฑ์มานานกว่า 86 ปี เราก็คงต้องตามต่อไปว่า ฮาเกีย โซเฟียในวันข้างหน้าจะมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร และตัวมิสยิดเองจะกลายเป็นตัวยืนยันความสำเร็จของการเปลี่ยนนโยบายรัฐฆราวาส มาเป็นรัฐอิสลามหรือไม่ แม้การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเจ็บปวด แต่บางครั้งอาจจะไม่แย่เสมอไป

 

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising