H&M ยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้าของสวีเดน ได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังยุติความสัมพันธ์กับผู้ผลิตเส้นด้ายของจีน จากข้อกล่าวหาเรื่องบังคับใช้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนาจากมณฑลซินเจียงของจีน
ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกแฟชั่นอันดับ 2 ของโลกระบุว่าจะไม่ทำงานร่วมกับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าใดๆ ในภูมิภาคนี้ และจะไม่จัดหาฝ้ายจากซินเจียงซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไป
ชนวนเหตุของการตัดสัมพันธ์ในครั้งนี้มาจากรายงาน Think Tank ของ Australian Strategic Policy Institute (ASPI) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม โดยชี้ให้เห็นว่า H&M เป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานของโรงงานผลิตเส้นด้ายย้อมสีของ Huafu ในอันฮุย
อย่างไรก็ตาม H&M กล่าวในแถลงการณ์ว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์กับโรงงานในมณฑลอันฮุยหรือการดำเนินงานของ Huafu ในซินเจียง แต่ H&M ก็ยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทางอ้อมกับโรงงานแห่งหนึ่งของ Huafu Fashion ซึ่งตั้งอยู่ในฉางยู จังหวัดเจ้อเจียง
และแม้ว่าจะยังไม่มีข้อบ่งชี้สำหรับการบังคับใช้แรงงานในโรงงานฉางยูและยังไม่มีความชัดเจนเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่ H&M ก็ได้ตัดสินใจที่จะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจทางอ้อมกับ Huafu Fashion ในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้
ขณะเดียวกัน H&M เผยว่าได้ดำเนินการสอบถามไปยังโรงงานผลิตเสื้อผ้าทั้งหมดที่ทำงานด้วยในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้จ้างคนงานโดยการบังคับใช้แรงงาน
พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองจีนกำลังเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติเกี่ยวกับการกระทำของตนในภูมิภาคซินเจียงที่อุดมด้วยทรัพยากร โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 กันยายน) สหภาพยุโรปได้กดดันจีนให้ปล่อยผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าสู่ซินเจียง โดยชูเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ผูกไปกับข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนกับปักกิ่งในอนาคต
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าชาวอุยกูร์กว่าล้านคนอยู่ในค่ายกักกันที่จีนอ้างว่าเป็นศูนย์ฝึกอาชีพที่ให้การศึกษาเพื่อยกระดับประชากรให้หลุดพ้นจากความยากจน และเพื่อสกัดกั้นลัทธิหัวรุนแรงของศาสนาอิสลาม โดยจีนกล่าวว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการซินเจียงเป็นแรงจูงใจทางการเมือง
ขณะเดียวกันศุลกากรสหรัฐฯ ได้เผยว่าจะห้ามนำเข้าสินค้าจากจีน รวมทั้งผ้าฝ้าย เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์สำหรับผมจากซินเจียง เพราะกลัวว่าจะมีการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งจีนกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ นั้นเป็นการกลั่นแกล้ง และข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: